เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Stories from my mindBenchiro
สุขสัมพัทธ์ (Relative Happiness)
  •  ผมเชื่อมาโดยตลอดว่า ความสุขของคนเรานั้นล้วนสัมพัทธ์กันเสมอ...

    คงเป็นเรื่องยากทีเดียว ถ้าจะตั้งคำถามถึงความหมายแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวของคำว่า “ความสุข” เพราะเราแต่ละคนคงต่างนิยาม “ความสุข” ของตัวเองแตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าการได้ใช้ชีวิตสบายๆตามที่เราต้องการคือความสุข บ้างก็ว่าการบังคับตัวเองให้ออกเดินทางมานอก comfort zone คือความสุข อีกบ้างก็ว่าการได้อยู่กับคนที่เรารักและรักเราคือความสุข แต่บ้างก็ว่าการอยู่คนเดียวนั่นแหละคือความสุข นิยามความสุขที่หลากหลายเหล่านั้นบางทีอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตบนโลกอันแน่นขนัดด้วยผู้คนใบนี้ยังคงไม่น่าเบื่อเกินไป ยังพอที่จะเร้าให้เราออกไปค้นหาและทำความรู้จักชีวิตอีกมากมาย

    ท่ามกลางความสุขหลากหลายของผู้คน บ่อยครั้งเราพบว่าเจ้าของความสุขอย่างตัวเรา ก็เผลอไปกำหนดรูปร่างหน้าตาของสิ่งที่เรียกว่า “ความสุข” อย่างจำเพาะไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่าควรจะเป็นอย่างไร ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และควรมีเงื่อนไขแวดล้อมอย่างไร ถึงจะขึ้นชื่อว่า “ความสุข” ผิดไปจากนี้มันจะเป็น “ความไม่สุข” สำหรับเราไปในทันที แต่เคยสังเกตกันไหมครับว่าในบางสถานการณ์ที่เราถูกพัดพามาให้อยู่ในบรรยากาศที่ยากจะสัมผัสกับความสุขสูตรสำเร็จที่เราเคยออกแบบไว้แต่แรก กลับน่าแปลกใจที่เรายังคงสามารถเฟ้นหาความสุขจากบรรยากาศที่ไม่น่าสุขแถมระรานไปด้วยความทุกข์ออกมาได้ หลายครั้งก็เป็นเพียงเรื่องเล็กๆที่หน้าตาดูไม่คล้ายคลึงกับ “ความสุข” ที่เราเคยยึดถือไว้เลย อาจเป็นแค่การได้นอนตื่นสายกว่าปกติ การได้มีเพื่อนร่วมเดินทางกลับบ้านด้วย หรือแม้แต่เพียงการได้กินขนมหวานอร่อยๆหลังจากที่เหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน แค่นั้นก็สามารถหล่อเลี้ยงให้เราได้สุขใจแล้ว

    ความสุขของคนเรานั้นคงขึ้นกับการสัมพัทธ์กันระหว่างความคาดหวังภายในกับสภาพของเงื่อนไขภายนอก ถ้าทั้งสองสิ่งนี้มันเคลื่อนมาสัมพัทธ์กันพอดีเมื่อไหร่ ความสุขของเราก็คงถึง Threshold เมื่อนั้น ในบางเวลาที่ความคาดหวังภายในใจเราสูงลิ่วพร้อมกับเงื่อนไขภายนอกที่ดูไม่บีบคั้นนัก Threshold ความสุขของเราก็คงถูกยกระดับให้สูงขึ้นมาก ยากที่สิ่งเร้าใดๆจะกระตุ้นถึง แต่ในบางเวลาที่เราลดทอนความคาดหวังในใจลงประกอบกับเงื่อนไขสุดบีบคั้นภายนอกที่กำลังเผชิญ Threshold ความสุขของเราก็คงร่วงตกตามกันลงมา ไม่ว่าสิ่งเร้าใดๆ จะเล็กน้อยหรือเบาบางแค่ไหน ก็สามารถเอื้อมไปแตะถึง Threshold ความสุขของเราได้ทั้งนั้น

    ความสามารถในการลื่นไหลของ Threshold ความสุขที่เกี่ยวพันกับความสัมพัทธ์กันของความคาดหวังภายในใจและสภาพของเงื่อนไขภายนอก บางทีอาจเป็นกลไกการปกป้องหรือเยียวยาตัวเองโดยธรรมขาติของจิตใจ ให้เราง่ายที่จะรู้สึกถึงการถูกหล่อเลี้ยงจากบางสิ่งท่ามกลางช่วงเวลาที่ยากลำบากและต้องการกำลังใจ ภูมิคุ้นกันความสุขดังกล่าวแน่นอนแต่ละคนก็คงจะมีระดับที่แตกต่างกันไป แต่ผมเชื่อว่าเมื่อเรามาอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยปัจจัยกดดันร่วมกัน ระดับภูมิคุ้มกันของเราย่อมจะมีผลต่อคนรอบข้าง การเปลี่ยนระดับขึ้น-ลงของ Threshold ความสุขของเรา จะมีอิทธิพลต่อตำแหน่ง Threshold ความสุขของอีกคนหนึ่ง มันจึงกลายเป็นเครือข่ายของเยื่อใยภูมิคุ้มกันความสุขที่แม้มองไม่เห็นหากแต่ก็สัมผัสได้ ทำให้เรามีความสุขร่วมหรือความทุกข์ร่วมกับผู้คนที่เผชิญอยู่ในบรรยากาศและสถานการณ์เดียวกัน เราอาจพูดได้ว่าในช่วงเวลาบีบคั้นความสุขของเราย่อมไปสัมพัทธ์กับความสุขของคนโดยรอบ และความสุขมวลรวมของคนรอบข้างย่อมย้อนกลับมาเชื่อมโยงสัมพัทธ์กับความสุขของเราอีกรอบหนึ่ง เป็นโครงข่ายเยื้อใยที่เชื่อมต่อกันไปไม่รู้จบ ดูเหมือนจะเปราะบางแต่กลับเข้มแข็งได้ด้วยความเข้าใจและกำลังใจ

    ผมเชื่อมาโดยตลอดว่า ความสุขของคนเรานั้นล้วนสัมพัทธ์กันเสมอ...สัมพัทธ์กันทั้งระหว่างเราและคนรอบข้าง ทั้งระหว่างเงื่อนไขภายนอกและความคาดหวังภายใน ในแต่ละวันเราจึงดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางเยื้อใยโปร่งใสของความสุขสัมพัทธ์ที่โอบรัดและพันรอบเราอย่างไม่รู้ตัว จะสัมผัสได้ก็ต่อเมื่อความทุกข์เริ่มเข้ามาเบียดบังเกี่ยวรั้งให้เรารู้สึกถึงเส้นใยอะไรบางอย่างที่เชื่อมต่อจากจิตใจของคนๆหนึ่งไปสู่อีกหลายผู้คน

    ในโลกใบนี้จึงคงไม่มีใครที่ไม่มีความสุขอย่าง 0% โดยสมบูรณ์หรอก ขึ้นอยู่กับว่าความสุขของคนๆนั้นจะ “สัมพัทธ์” กันมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง...

    เพราะผมเชื่อมาโดยตลอดว่า ความสุขของคนเรานั้นล้วนสัมพัทธ์กันเสมอ :D 
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in