เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สวนหลังบ้าน...มุมมองจากหน้าต่างชั้นสองLLudy
ละครไทย...กำลังจะตายหรืออัมพาตครึ่งซีกชั่วขณะ
  • วงการละครไทยกำลังถอยหลัง เข้าขั้นวิกฤติ บ้างก็บอกว่ามันกำลังจะตายในอีกไม่ช้า ความจริงเป็นแบบเช่นนั้นหรือไม่?

     

    ในโซเชียลมีเดียต่างพากันถกว่าละครไทยแย่แล้ว ไม่เพียงแค่ชาวเน็ต แต่ตัวของผู้จัดและผู้สร้างเองก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริง ถึงขนาดที่ช่องเวิร์คพ้อยต์ยังออกมาประกาศจะไม่ผลิตละครแล้ว หรือแม้แต่ผู้จัดละครบางคนก็เลิกทำ 


    ละครไทยอาจจะไม่ได้ถึงขั้นตายสาบสูญสิ้นชื่อ แต่น่าจะเป็นช่วงอัมพาตครึ่งซีกมากกว่า ในขณะที่หลากหลายผู้จัดเองก็ยังอดทนกัดฟันผลิตละครออกมา จะมาในรูปแบบที่เรียกว่าละครหรือซีรีส์ก็ว่ากันไป แน่นอนว่ายังคงมีออกมาให้ได้รับชม แต่ก็ต้องยอมรับว่าลดลงจากอดีตจริงๆนั่นแหละ

     

    ยุคสมัยแห่งการเปิดโทรทัศน์กำลังจะสูญสิ้น เรื่องนี้คือความจริงแน่แท้ บางบ้านแทบจะเก็บทีวีเข้าห้องเก็บของหรือขายทิ้ง หลายคนแทบไม่ได้เปิดทีวีเพื่อดูช่องต่างๆในช่วงปีหลังๆ แต่ใช้สำหรับดูคอนเทนต์ใน Youtube หรือ สตรีมมิ่งต่างๆแทน

     

    ควรเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า วิกฤติทีวีจะดีกว่า จำได้ว่าย้อนเวลากลับไปเกือบ 10 ปีที่แล้ว สมัยที่ยุคตื่นทีวีดิจิตอล นายทุนยักษ์ใหญ่แห่กันประมูลสัมปทานช่องทีวีกันคึกคัก เกิดช่องใหม่ๆ จากธุรกิจอื่นที่ขอกระโดดลงมาร่วมวงเป็นผู้ถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์อีกหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น Workpoint Amarin PPTV  ONE GMM MONO Thairath บลาๆ  ขนาดช่อง 3 ก็ยังซื้อไปถึง 3 ช่อง ก่อนจะลดเหลือแค่ช่องหลักช่องเดียวในเวลา เรียกได้ว่าเป็นช่วงกำไรคนดูทีวีจริงๆ

     

    แต่ใครจะไปคิดว่าผ่านมาอีกแค่ไม่กี่ปี ทีวีที่นายทุนแห่กันประมูลซื้อสัญญาณออกอากาศกำลังจะโดนสิ่งที่เรียกว่า Online Streaming เข้ามาตีจนแตกพ่าย ถ้าจากที่จำได้จุดเริ่มต้นที่เห็นได้ชัดเจนในยุคนั้นน่าจะเป็นการถ่ายทอดสดรายการนักร้องหน้ากากผ่าน Facebook Live นี่คือแผลขนาดใหญ่โตที่ถูกจามเปิดออกก่อนการติดเชื้อจะรุกราม ไม่มีใครคาดคิดว่าในวันข้างหน้าพฤติกรรมการดูทีวีของคนไทยจะเปลี่ยนไป

     

    ถ้าคิดว่านี่คือความเลวร้ายจนน่าสะพรึงแล้ว สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าเกิดขึ้นหลังจากการมี Netflix ต่างหาก ซึ่งสั่นสะเทือนไปถึงวงการภาพยนต์ของไทยและทั่วโลก และถ้าคิดว่านี่เลวร้ายมากที่สุดแล้ว การกำเนิดรายการบน Youtube และ Tiktok น่าจะเป็นเพชฌฆาตอันดับหนึ่งที่เกิดมาฆ่าทีวีให้สิ้นซาก

     

    เอาล่ะ สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มนุษย์จึงเสาะหาความสะดวกสบายทุกขณะของลมหายใจ จะโทษเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะสำหรับวงการบันเทิง "Content is King" ไม่สิ ต่อให้คุณเป็นคนนอกวงการ ก็คงรู้กันหมดแล้วว่า Content สำคัญยังไง

     

    ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานในสายนิเทศฯ โฆษณา หรือภาพยนตร์ อีกต่อไปที่จะผลิต Content ในรูปแบบต่างๆ ออกมาได้ ใครๆ ก็ทำได้  ขอแค่มีสิ่งที่เรียกว่าสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต เผลอๆ บางคนทำได้ดีเยี่ยมกว่าคนที่จบสายตรงด้วยซ้ำ ขอโทษที่ต้องเรียนตามตรงนี่คือความจริงที่แสนโหดร้ายของคนที่อุตส่าห์เรียนสายเหล่านี้มาตั้ง 4 ปี  เพราะเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น นี่สินะ ความจริงที่แสนเจ็บปวดที่แท้จริง

     

    กลับเข้ามาที่เรื่องของละคร นี่เป็นวิกฤติจริงหรือแค่อุปาทานหมู่ ส่วนตัวมองว่าวงการละครไทยกำลังป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีก จะบอกว่าทำอะไรไม่ได้เลยก็ไม่เชิงแต่ทำได้แบบครึ่งๆ กลางๆ ผ่านข้อจำกัดทั้งเรื่องทุน ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แรงสนับสนุนจากรัฐบาลและอีกหลายปัจจัย

     

    เวลาที่คนตั้งข้อสังเกตว่าวงการบันเทิงไทยมันไม่เจ๋ง ไม่ดี เหมือนวงการบันเทิงเกาหลี จีน ญี่ปุ่นหรือฝั่งอเมริกา อาจจะไม่ได้ว่าเป็นเช่นนั้น เพราะวงการบันเทิงของไทยก็มีจุดเด่นในแบบที่ชาติอื่นไม่มี ที่เกิดชุดความคิดแบบนี้อาจเพราะคนไทยหลายคนมักด้อยค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทยจนไม่รู้จักการชื่นชมยินดี

     

    อย่างเรื่องละครไทย หรือจะซีรีส์ไทยก็ว่ากันไป สิ่งที่เป็นปัญหาหลักๆ ก็คือ "บท" เราเคยดูละครเรื่องเมียหลวงมาแล้วกี่เวอร์ชัน อะไรที่เคยทำก็ทำออกมาซ้ำๆ เป็นสูตรสำเร็จเดิมๆ โอเคว่าเรื่องนี้คนเริ่มตื่นตัว คนดูรุ่นใหม่เริ่มไม่ซื้อไอเดียนี้แล้ว ถัดมาที่ละครหรือซีรีส์ที่เขียนบทขึ้นมาใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำออกมาเอาใจกลุ่มคนดูเฉพาะกลุ่ม นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้ซีรีส์วาย หรือ BL ป็อปสุดๆ  จนกำเนิดดารานักแสดงชื่อดังขึ้นมาและในปีนี้ 2024 ก็เป็นปีทองของซีรีส์แซฟฟิค หรือ GL อีกด้วย

     

    ทีนี้เห็นภาพหรือยัง วงการละครไม่ได้วิกฤติแต่กำลังอยู่ในช่วงปรับตัวไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ อย่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา BL เติบโตแบบก้าวกระโดดมากที่สุด ถ้าให้พูดแล้วบ้านเราเป็น No.1 ในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ในขณะที่ละครที่หลายคนบอกว่าเป็นคู่ชายหญิงทั่วไปกลับลดความนิยมลง เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ถ้าลองสังเกตให้ดีคำตอบอาจจะไม่ใช่เช่นนั้น เพราะละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นเนื้อหาที่เล่าถึงความเป็นชายและหญิงปกติด้วยซ้ำ

     

    แต่ที่มันเกิดปัญหาคนดูลดลงอาจมาจากการเลือกเสพสิ่งที่อยากดูได้อย่างอิสระมากขึ้น อย่างที่รู้ว่าสมัยก่อนหน้านี้ต้องเปิดทีวีดูเท่านั้น มีไม่กี่ช่อง เขาทำอะไรให้ดูก็ต้องดู แต่เดี๋ยวนี้ทีวีไม่ต้องเปิดด้วยซ้ำ ทีวีแทบไม่จำเป็น พอเป็นเช่นนี้แล้ว การวัดเรตติ้งจากทีวีที่ทำเหมือนสมัยก่อนก็จึงทำให้เห็นตัวเลขลดลง กลับกัน ยอดวิว ยอด Engagement ในออนไลน์กลับมีผลในแง่การวัดความนิยมขึ้นมาแทน

     

    ที่เห็นว่าคนดูซีรีส์วาย (BL) เยอะ หรือแม้แต่เกิดการผลิตขึ้นมาเยอะมาก ก็มาจากการเก็บยอดต่างๆ ในออนไลน์ เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่ใหญ่เกือบจะ Mass ด้วยซ้ำ แต่เรียกว่า Mass ได้ไม่เต็มปากนัก แต่ยังไงซะมันก็ใหญ่มากพอที่ผู้สร้างจะรู้พึงพอใจให้อนุมัติผลิตซ้ำๆ ออกมาขายแก่คนดูที่ชื่นชอบ

     

    สมัยก่อนสื่อมักจะชื่นชอบคำว่า Mass เพราะมันหมายถึง ใครๆ ก็รู้จัก แต่ในตอนนี้คำว่า Mass ไม่มีอยู่จริงในเชิงการเสพสื่อบันเทิง เป็น Niche ต่างหากที่ทำกำไร อย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้จริง การคาดหวังให้ Mass ก็เหมือนการละลายน้ำพริกลงในมหาสมุทร เผลอๆ จะสูญเสีบทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์แบบที่ช่องทีวีใหญ่ๆ กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้

     

    ถ้าพูดถึงละคร ซีรีส์ ช่องที่ดูแล้วน่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุดในปีหลังๆ อาจไม่ใช่ช่อง 3 และช่อง 7 แต่เป็นช่องวันและจีเอ็มเอ็ม สำหรับช่องวัน ต้องยอมรับว่าเป็นช่องเดียวที่โดดเด่นในการเรื่องกล้าฉีกขนบการทำละครแบบไทยๆ เห็นได้ชัดว่าช่องวันโดดเด่นเรื่องการสร้างสรรค์เนื้อหาบท รวมไปถึงการโปรโมตที่แข็งแรง ในส่วนของจีเอ็มเอ็ม ที่แทบจะเรียกตัวเองว่าเป็นผู้นำซีรีส์วาย (BL) ในช่วงปีหลังๆ แทบจะผลิตเนื้อหา BL  ออกมามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

     

    ตัดภาพมาที่กระแสความร้อนแรงแห่งปีที่สามารถดึง Engage ตีตื้น BL มาติดๆ อย่าง ซีรีส์แซฟฟิค หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกซีรีส์ยูริ หรือ GL (Girl Love) ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีทองยุคแซฟฟิคของประเทศไทย และน่าจะเดือดยิ่งขึ้นในปี 2025

     

    ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การทำละคร ซีรีส์ ในยุคนี้จะใช้ชุดความคิดแบบเดิมในการผลิตไม่ได้อีกแล้ว การโยนความผิดมาที่คนดูว่าไม่ยอมเปิดใจดูจนทำให้เรตติ้งต่ำ ไม่มีกระแส จึงไม่ควรอยู่ในชุดความคิดของผู้สร้างและผู้จัดด้วยซ้ำ ในเมื่อคนดูมีสิทธิ์ในการเลือกรับชมสิ่งที่ตัวเองสนใจ เพราะฉะนั้นควรกลับไปพิจารณาสิ่งที่ควรทำและปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย สิ่งที่ควรทำให้เป็นจุดแข็งเช่นบทละครที่ควรต้องลงทุน สวัสดิการในกองถ่ายของทีมงาน การรับผิดชอบต่อสังคมและการเข้าใจกลุ่มคนดูที่ต้องการสื่อสาร นี่ต่างหากที่จะช่วยบำบัดอาการอัมพาตครึ่งซีกให้ค่อยๆ ดีขึ้น

     

     

     


     

     

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in