เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สามจบแล้วก้มกราบPDpuggerino
Divorce, Italian Style(1961) : หัวเราะร่าน้ำตารินไปกับ Italian Comedy
  • หนังตลกสไตล์อิตาเลียนต่างจากหนังไทย ยังไง?

    ตัวละคร

    เนื้อเรื่อง

    หรือ โปรดักชั่น 

    เอ๋ๆๆๆ

          เปิดมาใหญ่มาก คำตอบคือ ต่างค่ะและที่เลิศกว่านั้นเหล่าหนังตลกสไตล์ Dark comedy รุ่นหลังก็ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังแนวนี้เลยก็ว่าได้

           Italian Comedy ( Commedia all'italiana) เป็นแนวหนังตลกแบบอิตาเลียนที่ให้ความบันเทิงกับผู้คน โดยมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากการเป็นภาพยนตร์ที่เป็นคอมเมดีทั่วไปคือจะมีการเสียดสีสังคมและการสะท้อนสภาพสังคมที่มีความเสื่อมโทรมถึงแม้จะมีเศรษฐกิจที่เติบโตก็ตาม ในหนังตลกจะสอดแทรกหรือไม่ก็ด่าตรงๆ ไปเลยในเรื่องของชนชั้นที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวย พวกผู้ดีเก่ากับพวกเศรษฐีใหม่ในยุครุ่งเรืองของอิตาลีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ก็คือยุค 1950-1960 ที่ชีวิตของชาวอิตาลีนั้นถือได้ว่าเป็นชีวิตที่ฟู่ฟ่าอยู่ไม่น้อย แต่ในขณะที่สังคมก้าวหน้าไปตามระบบทุนนิยม หากแต่ในด้านสังคม พวกค่านิยม ธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติกันตามๆ มาของศาสนาคริสต์ยังคงฝังรากลึกในสังคมอย่างแนบแน่นอย่างเช่น การหย่าร้างที่ไม่สามารถทำได้หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาสนากำหนดแต่เป็นรูปแบบที่ไม่หนักและสมจริงจนเกินไป ยังคงนำเสนอในพื้นฐานของภาพยนตร์ตลกที่มีความเพลิดเพลิน สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม

            ลักษณะเด่นของภาพยนตร์ตลกสไตล์อิตาเลียนที่ยังไงดูแล้วต้องเห็นแน่นอนคือเมื่อคนดูฉุกคิดหรือเห็นความจริงที่สะท้อนออกมาจากภาพยนตร์ การกระทำของตัวละครแล้วคนดูอย่างเราก็จะเกิดความเศร้าตามมาเพราะจริงๆ แล้วความยากลำบากที่ตัวละครพบเจอก็ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่ผู้คนทั่วไปต้องทุกข์ทรมานอยุ่ในชีวิตประจำวันเลย เรายังอาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์ตลกสไตล์อิตาเลียนไม่เพียงแต่ให้ความบันเทิงแบบแนวคอมเมดีทั่วไปแต่ยังสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์สังคมในยุคที่ทุนนิยมเฟื่องฟูอย่างยุค Il miracolo economicoหรือ Italian Economic Miracle ไปพร้อมกันด้ว และที่เริดคือเค้าทำกันจนกวาดรางวัลเยอะมาก อย่างเรื่อง Divorce, Italian Style (Divorzio all'italiana) นี่ก็ได้ทั้ง Oscars BAFTA แล้วก็  Golden Globes เลยค่ะ

    เกริ่นไปเยอะมากกกก เรามาดูเรื่องย่อของ Divorce, Italian Style (Divorzio all'italiana) กันค่ะ 



              เล่าย่อๆ คือ Divorce, Italian Style (Divorzio all'italiana) เรื่องนี้นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของภาพยนตร์ตลกสไตล์อิตาเลียนเลยก็ว่าได้เพราะเรื่องราวที่สังคมอิตาเลียนในขณะนั้นเผชิญอยู่อย่างการที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าไปไกล หากแต่สังคมยังมีปัญหาความเท่าเทียมทางเพศและอคติทางเพศที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติระหว่างชายและหญิงในยุค 1960s
                                                                ภาพจาก : www.ikis.no/event-695404

              เรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมยุโรปอย่างอิตาลีในขณะนั้นยังคงเป็นปัญหาฝังรากลึกที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การหย่าแบบอิตาเลียนที่เป็นการก่ออาชญากรรมอย่างการวางแผนฆาตกรรมภรรยาเพื่อหย่าร้าง หรือที่ในหนังเรียกว่าเป็นการกระทำเพื่อกอบกู้เกียรติยศของสามีจึงบังเกิดขึ้นทั้งๆ ที่การหย่าควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าชายหรือหญิงควรมีอย่างเท่ากัน ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงสะท้อนบทบาทที่ผู้หญิงอิตาเลียนในขณะนั้นกำลังเผชิญความยากลำบากจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ กฎหมายที่เอื้อต่อประโยชน์จากความเป็นชายอย่าง Penal code 587  อันเป็นกฎหมายการหย่าที่เมื่อตีความในชั้นศาลแล้ว ผู้ชายกลับได้รับโทษน้อยกว่าผู้หญิง อีกทั้งยังปรากฏความไม่เท่าเทียมมากมายในเรื่องอย่าง ผู้หญิงต้องใช้ชีวิตให้เป็นไปตามค่านิยมแม่ ภรรยาและลูกสาวที่แสนดี การเป็นหญิงบริสุทธิ์ตามหลักศาสนา การเป็นหญิงในอุดมคติต้องเรียบร้อย และความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ในอิตาลี

                                 ภาพจาก : https://www.flickr.com/photos/truusbobjantoo/19975046150

              บทบาทของผู้ชายในเรื่องนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักอย่าง Ferdinando Cefalù หรือ Fefé  ที่นำแสดงโดยn Marcello Mastroianni ที่เราจะคุ้นหน้าคุ้นตาเค้าในหลายเรื่องมากๆ ในยุค 50s โดยตัวเอกของเรื่องที่สะท้อนภาพสังคมชายเป็นใหญ่และมุมมองของผู้ชายเป็นหลัก ถึงแม้จะทำเรื่องผิดหลักศีลธรรมหรือแม้กระทั่งสามัญสำนึกเบื้องต้นอย่างการวางแผนฆ่าภรรยาตัวเองคือ Rosalia (Daniela Rocca) ไม่ว่าจะเป็นการคิดผลักตกบ่อสบู่ การคิดให้โดนทรายดูด แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดเราถึงเอาใจช่วย Fefé ให้ทำสำเร็จ ในขณะเดียวกันเราก็จะสัมผัสได้ว่า Rosalia ซึ่งไม่มีความผิดใดๆ กลับดูน่ารำคาญ เรียกร้องความสนใจ แต่ในขณะเดียวกัน Angela กลับสวย สง่า เป็นเหมือน Fantasy ของผู้ชาย บทบาทดังกล่าวจึงสะท้อนสังคม Patriarchy ได้เป็นอย่างดีที่ผู้หญิงที่ตอบสนองความต้องการของผู้ชายย่อมเป็นที่ต้องการมากกว่า และกฎหมายก็ยังเอื้อต่อลัทธิชายเป็นใหญ่อีกด้วยที่ในตอนสุดท้าย การว่งแผนของ Fefé ก็ประสบความสำเร็จ ติดคุกเพียงไม่กี่ปีด้วยยศศักดิ์ทีเป็นถึงบารอนและที่สำคัญเพศสภาพชายที่ย่อมเป็นที่ยอมรับและโดนประณามน้อยกว่าหญิงฆ่าสามีซะอีก

                    ภาพจาก : https://progettocristaldi.cinetecadibologna.it/percorso/divorzio-all-italiana/

                บทบาทของหญิงในสังคมอิตาลี โดยเฉพาะที่ซิซิลีในเรื่องจึงอาจกล่าวได้ว่ามีสถานะต่ำกว่าผู้ชาย โดยอ้างอิงจากการที่ผู้หญิงอย่าง Rosalia จะตัดสินใจทำอะไรก็ต้องรอการชักนำจากผู้ชาย หรือรอความช่วยเหลือ อย่างฉากพาหนี คือตามเนื้อเรื่องคลาสสิกมากเค้าจะมีการหนีตามกันไปค่ะ ผู้หญิงก็ไม่ได้คิดเองแต่ต้องรอการชักชวนของชายคนรักเก่าก่อนจะหนีไปอยู่ด้วยกัน ไม่ตัดสินใจเอง หรือการที่หลานสาวอย่าง Angela ถูกกระทำการ streotype ภายในหนัง ต้องใส่ชุดสวยงาม เรียบร้อย อ่อนหวาน เป็น Sex objects  ก็จะเห็นได้ว่าบทบาทของผู้หญิงในอิตาเลียนขณะนั้นไม่ว่าจะเป็น Rosalia หรือ Angela หรือแม้กระทั่งแม่ของ Angela และ Patané เองก็เป็นผู้ถูกกระทำจากสังคมที่ชายเป็นใหญ่และค่านิยมที่กดทับผู้หญิงเอาไว้อย่างภรรยาที่ดี ผู้หญิงที่ดีทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงในบ้านอย่างฉากบังคับตรวจความบริสุทธิ์ การใช้อำนาจของพ่อส่งลูกไปอยู่คอนแวนต์อย่างไม่กล้าขัดขืน ความไม่เท่าเทียมของกฎหมายการหย่าที่ควรจะเป็นการตัดสินใจของฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย แต่กลับต้องนำไปสู่โศกนาฏกรรมในเรื่องถึงจะหย่าได้ภายใต้ความเป็นหนังตลก ความรุนแรงของหนังจึงถูกซ่อนไว้อย่างแนบเนียนว่าสังคมอิตาลีสูญเสียไปเท่าไหร่กับการหย่าที่ต้องมีการฆาตรกรรม ความโศกเศร้าของชีวิตสมรสที่ไม่สามารถหยุดได้ สังคมยังคงมีการละเมิดสิทธิกันอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หญิง

                        ภาพจาก : https://tutticrimini.wordpress.com/2013/08/16/femminicidio-qualche-dato-in-barba-alla-moda-del-momento/divorce-italian-style/
     
                  สุดท้ายนี้ภาพยนตร์คอมเมดีสไตล์อิตาเลียนเรื่อง Divorce,Italian Style (Divorzio all'italiana)ก็เป็นภาพสะท้อนชั้นดีว่าภาพยนต์ไม่ได้แค่เป็นสื่อบันเทิงแขนงที่ 7 หรือ piece of art หรือ piece of commercial อีกต่อไปในยุคนี้ แต่พัฒนามาเป็นกระบอกเสียง เป็นพื้นที่แสดงแนวคิดของฝั่งวงการบันเทิงเพื่อวิพากษ์ วิจารณ์สังคม และในปี 1970 ประเทศอิตาลีก็ได้มีกฎหมายหย่าของสามีภรรยาในที่สุด ภาพยนตร์คอมเมดี้เรื่องนี้จึงเป็นมากกว่าภาพยนตร์ตลก หากแต่ได้สะท้อนให้ผู้คนฉุกคิดถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมที่กระทำต่อผู้ที่มีเพศสภาพเป็นหญิง และฉุกคิดว่าผู้หญิงนั้นก็มีสิทธิ์ มีเสียง ไม่จำเป็นต้องทำตามบทบาทที่สังคมกำหนดเสมอไป

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in