'พัท' เด็กหนุ่มที่ต้องระหกระเหินย้ายบ้านตามผู้เป็นแม่มาเพื่อสร้างชีวิตใหม่สู่บ้านเลขที่ 88 บ้านที่ทำให้พัทรู้สึกว่าไม่ได้อยู่กันเพียงลำพังระหว่างแม่กับเขาเท่านั้น เหตุการณ์แปลกประหลาดค่อย ๆ เกิดขึ้น หลังจากการพยายามค้นหาคำตอบ พัทได้พบกับ 'ภพ' วิญญาณหนุ่มสุดทะเล้นที่หมายมาขอความช่วยเหลือให้พัทตามหาตัวตนของเขาที่เลือนหายไปบนเงื่อนไขหลังความตายที่มีเวลาเหลือเพียง 49 วันเท่านั้นก่อนที่จะต้องติดอยู่บนโลกนี้เป็นสัมภเวสีทุกข์ทรมานตลอดไป ความรักของทั้งคู่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ร่วมไปกับการค้นหาเบาะแสเพื่อเติมเต็มช่องว่างแห่งตัวตนให้สมบูรณ์
ความตายนำพาให้มาพบกัน แต่ความสัมพันธ์ที่มีเวลาแค่ 49 วัน กับการตามหาความจริงบางอย่างจะลงเอยเช่นไร พบกับซีรีส์ “ผมกับผีในห้อง” เริ่มตอนแรกพุธที่ 19 มกราคมนี้ เวลา 23.00 น. ทางช่อง 3 สำหรับช่องทางการรับชมย้อนหลัง อดใจรออีกนิด
— ผมกับผีในห้อง Something in my room (@phomkubphee) January 7, 2022
? https://t.co/G3lkwUNJd6#PhomKubPheeTrailer pic.twitter.com/vFJHruQmd0
ผมกับผีในห้องถือได้ว่าเป็นซีรีส์ BL อีกเรื่องหนึ่งที่ได้มีการหยิบเรื่องราวบางส่วนจากคอมิคมาดัดแปลงเพื่อที่จะทำเป็นซีรีส์ นั่นก็คือ ผมและผีในห้อง ผลงานที่เป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์ของคุณ Rafael โดยตัวซีรีส์และตัวคอมิคนั้นต่างมีเส้นเรื่องที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ยังคงคาแรกเตอร์ของตัวละครและองค์ประกอบบางส่วนที่ยังเหมือนกันอยู่ โดยซีรีส์ผมกับผีในห้องนั้นได้มีการแทรกประเด็นไว้ให้เราได้มาค้นหาตลอดทั้ง 10 อีพี เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผีนั้นได้ถูกเล่าให้เราได้ทำความรู้จักกับพวกเขาได้อย่างไร แล้วไม่ใช่เพียงแค่ตัวละครหลักที่เราจะได้ไปทำความรู้จัก ตัวละครรอบข้างเองก็ล้วนมีเส้นเรื่องของพวกเช่นเดียวกัน พูดได้เลยว่าประเด็นที่สอดแทรกมาในซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องราวโรแมนติกหรือสยองขวัญเพียงอย่างเดียวแน่ มาร่วมกันค้นหาแล้วติดตามไปพร้อมกันว่า ตลอดระยะเวลา 10 อีพีนี้ เราจะได้พบเจอกับอะไรบ้าง ให้เวลาทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ได้ทำใจก่อนที่จะนับถอยหลังไปพร้อม ๆ กัน 5...4...3...2...1 ไปกันเถอะ !!!! ??
เนื้อหาตลอดทั้งบทความนี้เป็นเนื้อหาที่มาจากการวิเคราะห์ และตีความของตัวผู้เขียนเอง
? มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนจากในซีรีส์ ?
คงเป็นฉากที่เราคงได้กลับไปทบทวนตัวเองในเรื่องความเป็นส่วนตัวที่บางครั้งเราได้ถูกละเมิดไปเพียงเพราะคำว่า 'เป็นห่วง' เห็นได้จากที่คริสนั้นอ้างเหตุผลว่าตัวเองก็เป็นห่วงพัทหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่พัทนั้นกำลังจะกระโดดลงระเบียงแล้วก็เกิดเหตุการณ์แปลก ๆ เกิดขึ้นกับพัท จึงนำไปสู่สถานการณ์ที่เธอกำลังจะละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกเธอเอง หรือจะเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งของภพที่ดันใช้ความเหงาของตัวเองเผลอไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของพัทไป จริงอยู่ที่เขาสามารถเข้าฝันพัทได้ตลอด แต่อย่างน้อยเราก็ควรมีพื้นที่ส่วนตัวให้กันบ้างแม้กระทั่งโลกในความฝันเราเองก็ตาม และเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่คาดคิดนั่นก็คือ การแอบติดกล้อง CCTV ในบ้านเลขที่ 88 เพื่อดูความเป็นไปของคนในบ้านหลังนี้ของป้านวล
เป็นอีกฉากนึงที่มีอิทธิพลกับเรามากอีกฉากหนึ่งเลย การที่เรากลายเป็นวิญญาณไปแล้วไม่ได้แปลว่าเราจะมีสิทธิทำอะไรก็ได้ภายในบ้านหลังนี้ เช่นเดียวกันกับภพที่ถึงจะกลายเป็นวิญญาณไปแล้วแต่การที่ไม่มีข้อตกลงระหว่างกัน หรือแม้กระทั่งการเดินไปไหนมาไหนในที่ต่าง ๆ ภายในบ้านก็อาจจะทำให้พัทคนที่สามารถมองเห็นเขารู้สึกได้ว่ากำลังถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวจากการเป็นวิญญาณของภพนั่นเอง
สิ่งที่น่าประทับใจของฉากนี้คือการที่ภพเป็นฝ่ายเอ่ยปากขอโทษพัทที่เคยทำให้พัทรู้สึกไม่สบายใจ ทั้งจากการเข้าฝันโดยที่ไม่ได้บอกกันก่อนหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาที่เขาเคยละเมิดความเป็นส่วนตัวของพัทไป การใช้ข้ออ้างที่ว่าตายมานานแล้ว หรือไม่ค่อยได้พูดกับใครก็คงไม่ใช่เหตุผลที่ดีนักในการที่จะละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนอื่นเช่นกัน
ฉากที่พัทกับคริสนอนปรับความเข้าใจกันก็เป็นอีกฉากนึงที่ทำให้เรารู้สึกว่าครอบครัวคนเอเชียส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเคารพความเป็นส่วนตัวของลูกเลย เหมือนทั้งพัทแล้วก็คริสต่างก็โดนละเมิดความเป็นส่วนตัวเพียงเพราะคำว่า 'เป็นห่วง' กันทั้งนั้น แต่เปล่าเลย ถึงเราจะเป็นห่วงกันมากขนาดไหน เราก็ต้องรักษาระยะห่าง ไม่ล้ำเส้นของใคร ลึก ๆ แล้วใครก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัวกันทั้งนั้น เป็นการปรับความเข้าใจที่ดีอีกฉากนึงนะที่ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของคำว่า 'ความเป็นส่วนตัว'
※ Patriarchy : ระบบทางสังคมที่ชายเป็นใหญ่
จากฉากในตอนต้นอีพี 2 เราจะเห็นได้ว่าคริสได้มาที่วัดแห่งหนึ่งเพื่อมาคุยกับพระไกร ดูเหมือนว่าจะเป็นการที่คริสแวะมาเยี่ยมหรือมาปรึกษาเรื่องพัทกับไกร แต่เมื่อได้ลองสังเกตมากขึ้นว่ามันยังมีการแทรกความคิดของระบบที่ชายเป็นใหญ่ (patriarchy) อยู่ เพราะว่าวิธีหนีปัญหาของไกรนั้นคือการบวชนั่นเอง แน่นอนว่าวิธีหนีปัญหาที่หลาย ๆ คนเคยได้ยินมาก็คือ ละทางโลก เข้าสู่ทางธรรม นั่นก็คงเป็นวิธีแก้ปัญหาเช่นเดียวกับไกร การเลือกที่จะไปบวชเพื่อให้ตัวเองรู้สึกสบายใจขึ้น ทั้งปัญหาส่วนตัวของไกรเองที่ไม่ทันกลับไปดูใจแม่จนวินาทีสุดท้ายจนกลายเป็นสิ่งที่ติดค้างอยู่ภายในใจของเขา หรือจะเป็นการที่หนังของเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ หลาย ๆ อย่างที่ประดังประเดเข้ามาในจังหวะชีวิตช่วงนั้นเลยทำให้การเลือกที่จะละทางโลกคงเป็นสิ่งที่ดีีที่สุดสำหรับไกร แต่ในทางกลับกันคริสเองก็ต้องเป็นฝ่ายที่ต้องเผชิญปัญหานั้นต่อ ทั้งยังต้องกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ซ้ำยังถูกตำหนิว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พัทรู้สึกไม่สบายใจ ทั้ง ๆ ที่ไกรก็เป็นคนที่หนีปัญหาไป แล้วปล่อยให้คริสเผชิญกับปัญหาที่อยู่ข้างหลังเพียงลำพังแต่ผู้เดียวโดยไม่ได้สนใจเลยว่าคนที่อยู่ข้างหลังเขาจะต้องใช้ชีวิตยังไงต่อ
※ Toxic relationship : ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ
ความสัมพันธ์ระหว่างลัคน์และดรีม มันช่างดูเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (toxic relationship) มาก การที่ไม่ไว้ใจกันจนถึงขั้นที่ต้องมีการแอบแฮ็ก IP address คอมพิวเตอร์ของพัทเพื่อตามดูว่าเขาทั้ง 2 คนกำลังทำอะไรกันอยู่ แล้วอ้างว่าที่ทำไปเพราะเป็นห่วง หรืออาจจะเป็นความรู้สึกลึก ๆ ว่าพัทกับดรีมดูสนิทกันมากกว่าปกติอย่างที่เพื่อนกันควรจะเป็น จนอาจจะกลายเป็นชนวนที่ทำให้ลัคน์เองรู้สึกไม่เชื่อใจในตัวดรีม แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้องในการยอมรับการกระทำของลัคน์ แล้วการกระทำเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกทำให้มองว่าเป็นเรื่องปกติของการคบหาเป็นแฟนกัน ตัวดรีมเองก็ตอบกลับการกระทำนั้นไปว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็แสดงอาการไม่พอใจกับการกระทำลัคน์เช่นกัน
แล้วไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ฉันคู่รักเท่านั้นที่จะเป็นพิษได้ สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งในซีรีส์เรื่องนี้เลยคือความสัมพันธ์ของพ่อแม่ที่เป็นพิษเช่นกัน หลาย ๆ ครั้งที่มักจะมีการกล่าวอ้างถึงความเป็นห่วงเป็นใยที่มากเกินความพอดี จนกลายเป็นสิ่งที่คอยกัดกินสภาพจิตใจของคนเป็นลูกจนกลายเป็นบาดแผลที่ไม่มีวันหายไปตลอดชีวิต
'นง' กับการคลุมถุงชนให้ลูกสาวตัวเอง ได้แต่งงานกับคนที่เธอไม่ได้รัก ด้วยความที่เป็นคนมีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคม การบังคับให้ลูกของเขาต้องมีชีวิตเป็นไปตามที่เขาคาดหวังไว้เพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงของวงตระกูลตัวเองมันเลยกลายเป็นการสร้างบาดแผลภายในใจให้นวลมาถึงทุกวันนี้ ไม่มีใครสนใจความรู้สึกของนวลเลยว่าการบังคับให้คลุมถุงชนมันทำให้เธอรู้สึกแย่ขนาดไหน จนกระทั่งทำให้เธอต้องหลบหนีออกมาจากที่ตรงนั้นเพื่อมาหาความสบายใจที่เธอสามารถเลือกได้เอง
'คินทร์' บุคคลที่คิดว่าโลกหมุนรอบตัวเอง เขามักบงการคนรอบตัวเขาให้เป็นไปตามที่เขาต้องการ ทั้งบังคับให้ดาล้มเลิกความฝันในการเป็นนางแบบ เป็นการบังคับกลาย ๆ ว่าเธอต้องละทิ้งความฝันที่จะเป็นนางแบบเพื่อมาเลี้ยงลูกในจังหวะเวลาที่ช่วงชีวิตของเธอกำลังจะไปได้ดี แล้วพอภพโตขึ้นเขาก็ยังดูถูกความฝันของภพที่อยากเป็นดีไซน์เนอร์ มองแค่ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ประกอบกับที่เหตุการณ์ที่ภพเข้าใจผิดไปว่าพ่อตัวเองนั้นนอกใจแม่ตัวเองไปอีก รวมถึงเหตุการณ์หลายอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของภพ ทำให้บาดแผลภายในใจภพที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาเลยเริ่มขยายตัวมากขึ้นจนเมื่อถึงจุดหนึ่งการเลือกจบชีวิตของภพคงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเขา※ Power dynamics : สถานะทางอำนาจ
แน่นอนว่าสถานะทางอำนาจถ้าเปรียบเทียบระหว่างคนเป็นกับคนตายย่อมมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันตัวภพเองที่มองว่าตัวเองเป็นแค่วิญญาณไม่ได้มีอำนาจหรือความต้องการใด ๆ มันก็มีความย้อนแย้งกันอยู่ ภพต้องการค้นหาตัวตนว่าเขาเป็นใคร มีความต้องการอะไรก่อนตาย มันก็กลายเป็นว่าภพใช้จุดนี้ในการพยายามสื่อสารกับพัทที่เป็นคนเช่าบ้านคนใหม่ แล้วใช้จุดนี้เพื่อการโน้มน้าวให้พัทช่วยเหลือเขาภายใต้เงื่อนไข 49 วันหลังความตาย ไม่มีทางที่พัทจะสามารถปฏิเสธการช่วยเหลือนี้ไปได้เลยแล้วด้วยความที่เขาก็อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ แถมยังเป็นไม่กี่คนที่สามารถสื่อสารกับภพได้ ก็กลายเป็นว่าภพก็ยังคงมี power dynamics หลงเหลืออยู่ในการโน้มน้าวเพื่อร้องขออะไรบางอย่างจากพัทเช่นกัน
※ Ars longa, Vita brevis : ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น
อย่างที่หลาย ๆ คนคงทราบดีอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมศิลปะในประเทศไทยนั้นมักไม่ได้รับการสนับสนุนมากเท่าที่ควรจะเป็น แล้วยิ่งในสังคมที่มีค่านิยมไม่สนับสนุนวงการศิลปะนั้นยังคงมีอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลาย ๆ ครั้งศิลปะมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เป็นเรื่องที่ไร้สาระ ในระบบการศึกษาไทยนั้นกลืนกินความฝันของใครอีกหลายคนเพียงเพราะต้องเรียนเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานที่สังคมเราต้องการ และไม่ได้มีพื้นที่ให้ความฝันของทุกคนในประเทศนี้ได้เฉิดฉายมากนัก ต้องทำอะไรที่ตอบสนองความต้องการที่คนส่วนใหญ่ต้องการ ต้องตอบสนองสิ่งที่เรียกว่า 'ทุนนิยม' การเดินทางอยู่ในสายงานภาพยนต์ที่เป็นความฝันของพัทนั้นกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันและไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในสังคมนี้ ทั้ง ๆ ที่สิ่งนี้มันก็เป็นความชอบนึงของพัทแต่พัทกลับไม่สามารถทำมันออกมาได้เพียงเพราะสายตาของคนในสังคม จึงต้องเบนสายมาเรียนครูแทนเพื่อที่จะได้กลับไปแก้ไขหรือเป็นจุด ๆ หนึ่งที่ช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง แล้วในขณะเดียวกันเบนก็เป็นอีกคนนึงที่มีความฝันว่าอยากเป็นนักแสดงเช่นเดียวกัน แต่ในประเทศที่ไม่ได้สนับสนุนความฝันของทุกคน ประเทศที่คอยกลืนความฝันและไม่เห็นคุณค่าในเส้นทางสายนี้ มันเลยเป็นเหมือนคำตอบกลาย ๆ ว่าคนที่มีความฝันในแบบนี้ต้องดิ้นรนไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่ในที่ที่ตัวตนของเรานั้นจะได้ถูกได้รับการยอมรับแล้วได้เฉิดฉายออกมา แล้วคอยเติมเชื้อเพลิงให้กับความฝันของเขาที่ไม่ให้มันมอดดับลงไป
อย่างฉากที่พัทเล่าให้ภพฟังเกี่ยวกับเส้นทางการทำหนังของหนังของพ่อเขาเองว่าต่อให้ผลงานชิ้นนั้นมันจะดีขนาดไหน พอเป็นหนังทุนต่ำ ไม่มีกระแส ไม่แรงโปรโมท ไม่มีคนพูดถึงมันก็ต้องถูกถอดออกจากโรงอยู่ดี มันก็สะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่าในอุตสาหกรรมนี้ยังมีคนที่คอยผลิตผลงานดี ๆ ออกมาอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าแสงต้องส่องไปให้ถึงงานเหล่านั้นบ้าง การที่ยังมีคนที่คอยผลิตผลงานดี ๆ ออกมาเรื่อยแต่มักจะได้รับผลตอบแทนที่ว่าไม่มีคนพูดถึง ไม่ได้มีการค้นพบผลงานชิ้นนั้นสักที เชื่อได้เลยว่าอีกไม่นานผลงานชิ้นนั้นมันก็ต้องถึงเวลาที่มันจะต้องถูกลืมหายออกไปอยู่ดี
※ Gender : เพศ
ปกติเรื่องที่เราคุยกันบนโต๊ะกินข้าวคงหนีไม่พ้นเรื่องสัพเพเหระทั่วไป คงไม่ได้เป็นเรื่องที่มีความซีเรียสมากเท่าไหร่นัก แต่ในฉากที่พัทกำลังจะ come out ให้แม่เขารู้ว่าเขาเป็นอะไร ราวกับว่าทางทีมเขียนบทเองก็อยากให้เรามองเห็นภาพว่าการ coming out ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตหรือเป็นเรื่องที่มันแปลกประหลาดอะไร การที่เราต้องการจะเปิดเผยว่าตัวตนของเราเป็นอะไรมันก็เป็นเรื่องปกติที่เราสามารถพูดคุยกันได้เป็นปกติทั่วไป แล้วเรารู้สึกว่าฉากนี้มันมีความเป็นมนุษย์มาก ๆ ทันทีที่พัทบอกไปว่าเขาชอบผู้ชาย คริสก็ยังมีความรู้สึกช็อคอยู่ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าผู้ใหญ่ยุคบูมเมอร์ก็คงยังมีภาพจำในเรื่องที่ผู้ชายต้องคู่กับผู้หญิง แต่คริสแตกต่างออกไปตรงที่ว่าเธอสามารถเปิดกว้างกับสิ่งที่ลูกของเธอเป็นอยู่ แถมยังไม่ได้เร่งเร้าหาคำตอบจากพัทว่าลูกของเธอเป็นเพศอะไร ในขณะที่ตัวพัทเองก็กำลังค้นหาตัวตนว่าเขาเป็นเพศอะไรกันแน่ เพราะครั้งหนึ่งพัทเองก็มีความรู้สึกดี ๆ กับผู้หญิงเช่นกัน มันก็ทำให้เราได้เห็นถึงความไหลลื่นทางเพศ (gender fluid) ของพัทเหมือนกันว่าคนเราสามารถรู้สึกดีกับใครก็ได้ โดยเขาอาจจะเป็นเพศเดียวกัน หรือเพศอื่น ๆ เพราะสำหรับบางคนมันสามารถลื่นไหลได้ตลอดเวลา ไม่จำกัดว่าจะเป็นใครก็ตาม
การผลักดันอีกเรื่องนึงที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย เริ่มที่ฉากซ้อมละครเวทีระหว่างเบนกับภพ จะเห็นได้ว่ามีไดอะล็อกที่แฝงไปถึงประเด็น 'สมรสเท่าเทียม' ได้อย่างน่าสนใจ แม้จะเป็นฉากเล็ก ๆ แต่เมื่อทำความเข้าใจดูดี ๆ แล้วจะเห็นว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นต้องการเพียงแค่ความเท่าเทียมกันในสังคมเท่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องในเชิงโรแมนติก แต่ยังรวมถึงสิทธิและสวัสดิการที่พวกเขาควรจะได้รับด้วย เพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของหลักสิทธิมนุษยชนที่ว่า 'มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ' (Amnesty,2022) แล้วการที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงในประเทศนี้ก็เป็นการขัดปฏิญญาสากลในเรื่องความเท่าเทียมกันเช่นกัน
อย่างที่พัทและภพได้ย้ำในอีพีสุดท้ายว่า ความต้องการของพวกเขามีแค่อยากตื่นนอนมาแล้วเห็นหน้ากันเหมือนคู่รักทั่วไป (ในที่นี้คงหมายถึงกลุ่มบุคคลที่เพศกำเนิดตรงกับเพศสภาพ - cisgender) ความซับซ้อนของความสัมพันธ์ของ 2 คนนี้ (ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผี) มันไม่ได้มีความซับซ้อนแค่เป็นความรักของผู้ที่รักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่ความรักระหว่างคนกับผีมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เหมือนเป็นการตีแสกหน้าถึงความเป็นจริงในประเทศนี้เหมือนกันว่าความสัมพันธ์ของพวกเขานั้นมีการถูกพูดถึงอยู่เสมอ แต่ไม่มีใครสามารถจะระบุว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ได้เลย ทั้งจากการยอมรับในสังคมเอง หรือการรับรองพวกเขาผ่านตัวกฎหมายด้วย ทั้ง ๆ ที่พวกเขามีความต้องการเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้ต้องการอะไรที่พิเศษหรือมากไปกว่าใครเลย
※ กรอบของสังคม
บทบาทของผู้หญิงที่สังคมมีความคาดหวังไว้ว่าการทำตัวแบบนี้คือการเป็นกุลสตรี การที่สังคมมีความคาดหวังเช่นนั้นเลยทำให้มีภาพจำและข้อจำกัดมากมายภายใต้คำว่าเพราะเธอเป็นผู้หญิง เธอต้องทำตัวแบบนี้สิ ตัวละครในซีรีส์ก็สะท้อนสิ่งนี้มาเช่นกัน อย่างตัวละคร 'นวล' ชีวิตของเธอต้องทำตัวตามกรอบที่พ่อแม่ของเธอได้วางไว้ว่าต้องเป็นคนที่เรียบร้อย อ่อนหวาน เป็นแม่บ้านแม่เรือน มีสเน่ห์ปลายจวัก และสิ่งสำคัญเมื่อแต่งงานออกไปแล้วก็ต้องมีลูกไว้สืบสกุลต่อ หากถ้าเป็นโลกในอุดมคติเธอคงมีลูกไว้สืบสกุลต่อไปแล้ว แต่ในโลกของความเป็นจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น เธอมีปัญหาสุขภาพและยังมีความคิดที่ไม่คล้อยตามกับสิ่งที่สังคมบีบให้เธอต้องทำตาม จนทำให้พอถึงจุดหนึ่งการเลือกเดินออกมาใช้ชีวิตตามที่เธอต้องการนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเธอแล้ว นวลถือได้ว่าเป็นตัวละครที่สามารถเดินออกมาจากกรอบที่สังคมคาดหวังได้
แต่มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำแบบนั้นได้ เห็นได้จากตัวละคร 'ดา' เธอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สังคมมีความคาดหวังว่าเธอจะต้องเป็นคนแบบที่สังคมต้องการ ดาเป็นผู้หญิงธรรมดาทั่วไปที่มีความฝันเป็นของตัวเองเหมือนกับคนอื่น แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยที่แต่งงาน มีลูกความฝันของเธอก็ต้องถูกพับเก็บไปด้วยคำว่า 'ความเป็นแม่' ทั้งมีโรคประจำตัวที่มาจากภาวะหลังคลอดของตัวเอง ความรู้สึกที่ไม่พอใจว่าภพนั้นเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เธอไม่สามารถทำตามความฝันได้อีกต่อไป นั่นก็คือการเป็นนางแบบนั่นเอง ความฝันนี้ต้องจบลงไปเพื่อแลกกับการดูแลคน ๆ นึงให้เติบโตมาเป็นคนที่ดีตามที่สังคมคาดหวังไว้โดยที่คนในสังคมไม่เคยกลับมาเหลียวมองดูเลยว่าการที่ต้องรับบทเป็นแม่ที่ดีนั้นได้พรากอะไรไปจากชีวิตของเธอบ้าง ทั้งสุขภาพร่างกายที่มันต้องเปลี่ยนแปลงไป ความกดดันจากสังคมที่มองว่าต้องเลี้ยงลูกออกมาให้ดี จนก่อให้เกิดความรู้สึกที่เกลียดลูกตัวเองอยู่ข้างใน แต่มันก็เป็นความรู้สึกที่ทั้งรักทั้งเกลียดที่ไม่สามารถขจัดออกไปได้ เพราะฉะนั้นบทบาทการวางตัวของผู้หญิงในสังคมไทยจึงถูกจำกัดไว้แค่การเป็นช้างเท้าหลัง อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนตามที่กรอบสังคมนั้นได้กำหนดไว้
หากเราเปรียบเทียบว่าเวที Nova V เป็นเสมือนสังคม ๆ หนึ่งที่เต็มไปด้วยผู้คนที่กำลังค้นหาตัวตนของเขาเพื่อทำตามความฝันที่เขาต้องการ แต่โลกนี้ไม่ได้สวยงามเป็นไปดั่งที่ใจเราต้องการ เมื่อเกิดการแข่งขันแน่นอนว่าย่อมต้องมีผู้ชนะเกิดขึ้น การที่เราเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในระบบการแข่งขันในสังคมนี้ หลาย ๆ คนมักจะต้องต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ถึงแม้ว่าเราจะมีความสามารถขนาดไหน พยายามมากกว่าคนอื่นขนาดไหน แต่เมื่อมีคำว่าเส้นสายหรือระบบอุปถัมภ์เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว มันก็กลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่เราคงจะไม่สามารถหลีกหนีไปทางไหนได้เลย
※ วาระสุดท้าย
ถ้าให้พูดถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตก็หนีไม่พ้น 'ดา' ผู้หญิงที่ถูกพรากความฝัน พรากอะไรหลาย ๆ อย่างไปเพียงเพราะว่าเธอต้องผันตัวมาเป็นแม่ เธอได้พยายามใช้ชีวิตในสิ่งที่เธอไม่ได้ต้องการมาโดยตลอดจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต สิ่งเดียวที่ดาขอเลือกให้กับตัวเธอได้เป็นอย่างสุดท้ายก่อนที่จะจากไป นั่นก็คือ หนทางที่เธอจะได้จากไปอย่างสงบนั่นเอง วิดีโอที่เธอได้ฝากถึงภพนี้ก็เปรียบเสมือนเป็นพินัยกรรมชีวิต หรือ Living wills ที่เธอได้ขอเลือกให้กับชีวิตของตัวเธอบ้าง การเลือกเส้นทางที่จะหายไปจากความทรมานที่ตัวเองได้แบกมาตลอดทั้งชีวิตคงเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผู้หญิงคนนึงได้ร้องขอได้แล้ว
※ การปล่อยวาง
นวลเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีปมภายในใจที่เป็นการยึดติดกับอดีต ทั้งในเรื่องของความคาดหวังจากครอบครัวของเธอ หรือจะเป็นสิ่งที่นวลนั้นคิดไปเองในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับคินทร์ จนกลายเป็นว่าเธอเองก็เป็นคนที่คอยดึงให้พ่อของเธอที่ตายไปแล้วไม่สามารถได้เดินทางต่อเพียงเพราะเธอต้องการให้พ่อของเธอได้เห็นอะไรบางอย่างจากสิ่งที่พ่อของเธอเคยทำกับไว้ในอดีต เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่นวลพยายามฝืนความเป็นจริงทั้งการใช้เรื่องไสยศาสตร์ในการที่จะได้มาสิ่ง ๆ หนึ่งตามที่เธอต้องการ เห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่คอยพันธนาการผูกติดไม่ให้เธอได้เดินต่อไปข้างหน้า เธอตกอยู่ในวังเวียนที่เธอสร้างไว้เองอย่างไม่จบไม่สิ้น แต่เมื่อเธอได้พบความจริงที่ว่าหลาย ๆ สิ่งที่เธอตั้งใจทำมามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกต้องเลย การหันกลับมามองที่ตัวเอง กลับมานั่งคิดทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา มันก็ถึงช่วงเวลาที่คงต้องปล่อยสิ่งที่ติดค้างภายในใจมาตลอด ปล่อยมันทิ้งไปเพื่อที่จะได้ดินทางกันต่อไม่ว่าจะเป็นเส้นทางไหนก็ตามซึ่งทางที่เธอได้เลือกนั่นก็คือ การปลดปล่อยให้พ่อของเธอได้เดินทางต่อไปตามทางที่พ่อเธอต้องการ ส่วนเธอเองก็ได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างที่เธอต้องการที่อยุธยานั่นเอง
รู้หรือไม่ว่าจากซีนที่ทั้งภพและพัทได้ไปดูงานที่ NOVA นั้น ภายในการจัดแสดงโปสเตอร์หนังสั้นได้มีจุดเชื่อมโยงที่ซ่อนไว้อยู่ นั่นก็คือผลงานของคุณผู้กำกับและผู้ช่วยผู้กำกับของซีรีส์เรื่องนี้ด้วยนั่นเอง โดยมีทั้งหมด 3 เรื่อง นั่นก็คือ...
- ประยูร (2016) กำกับโดย สมชาย ตฤษณาวุฒิ ??
Genre: Drama/Mystery
Synopsis: สมาชิกชายสามคนของครอบครัวที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต่างพากันกระจัดกระจายย้ายจากบ้านหลังเก่าของพวกเขาไป ความเงียบปกคลุมเนิ่นนานก่อนเหตุการณ์บางอย่างจะเกิดขึ้นในคืนหนึ่งซึ่งนำให้พวกเขาต้องกลับมาข้องเกี่ยวกันอีกครั้ง
- I want you to be (2015) กำกับโดย บัณฑิต สินธนาภารดี ??
Genre: Drama
Synopsis: เรื่องราวระหว่างนัทกับโอม เพื่อนสนิทตั้งแต่มัธยมปลาย นัทเป็นหญิงสาวที่หลงรักโอมที่เป็นเกย์ เธอรู้ทั้งรู้ว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้แต่เธอก็หยุดรักโอมไม่ได้ นัทถลำลึกเข้าไปในจิตใจของตัวเองมากขึ้นจนเธอเกือบเสียสติ นี่จึงเป็นเรื่องราวของความรัก ความสัมพันธ์ที่ไม่มีวิธีแก้แต่ทำได้เพียงรอวันแตกหัก
- Don't worry, be happy (2015) กำกับโดย ภวิชช์ อำนาจเกษม
Genre: Romantic/Drama
Synopsis: พ.ศ.2557 'กัน' วัยรุ่นกรุงเทพฯ ที่กำลังจะปิดเทอมใหญ่ ถูกแม่บังคับให้ไปบวชในวัดป่ากลางเขาที่ห่างไกลจากเมือง เพื่อหวังจะให้เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีก่อนจะย้ายเข้าบ้านใหม่ ในระหว่างที่บวชเขาฝันแปลกประหลาดหลายครั้งติดต่อกัน อย่างกับว่ามันจะเป็นลางบอกเหตุบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ไกลจากนี้
สิ่งที่น่าสนใจอีกหนึ่งในผมกับผีในห้องคือ มีการเลือกทำสกอร์ขึ้นมาเอง เพื่อที่จะใช้ให้เข้ากับซีรีส์เรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยส่วนตัวแล้วเรารู้สึกว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากเพราะในผลงานก่อนหน้าอย่าง 'นับสิบจะจูบ' ก็ได้มีการทำสกอร์ขึ้นมาใหม่เองเช่นกัน ซึ่งการทำสกอร์ขึ้นมาเองนั้นจะช่วยส่งให้งานชิ้นนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย คล้ายกับว่าเมื่อไหร่ที่เราได้ยินเสียงนี้ แน่นอนว่ามันจะดึงความทรงจำหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสกอร์นั้นขึ้นมาอย่างแน่นอน
หรือจะเป็น theme song ที่เปิดตัวซีรีส์เรื่องนี้ก็คงความลึกลับ พาให้เรารู้สึกพร้อมที่จะเดินทางไปค้นหาคำตอบไปกับตัวละคร แถมยังมีลูกเล่นในการคีพความเป็นคอมิค มีการใช้ภาพประกอบเป็นลายเส้นการ์ตูนมากกว่าที่จะใช้เป็นรูปนักแสดงจริง ๆ ถือได้ว่าเป็นการคงเอกลักษณ์ตามต้นฉบับที่ได้มาจากผมและผีในห้องเลยนั่นเอง
ไตเติ้ลดีมาก มีความทำเป็นคอมมิคใดๆ เค้ามีลูกเล่นนะ เหมือนได้คีพคาความที่หยิบจากคอมมิคมาทำซีรีส์จริงๆอะ ชอบมากๆๆๆๆ #ผมกับผีในห้องEP1 pic.twitter.com/9GIU2u9gfr
— ???????? ?? (@lunarinsummer) January 19, 2022
อย่างที่หลาย ๆ คนถ้าได้ดูมาก็คงจะคุ้นชินกับสกอร์เพลงนี้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะฉากที่มีตัวละคร 'ป้านวล' จะมีสกอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของป้านวลเองเลยคือจะเป็นสกอร์ที่เป็นดนตรีไทย มีกลิ่นอายของความลึกลับ ชวนสงสัยในตัวละครนี้อยู่ตลอดเวลา (หรือนี่ก็อาจจะเป็น easter egg ที่ทางดีฮัพกำลังจะส่งเข้าซีรีส์เรื่องถัดไปนั่นก็ 'หอมกลิ่นความรัก' นั่นเอง!!)
เอาไปเลยความหลอนระดับ 10 กระโหลก แค่เดินเข้าบ้านมั้ยเอ่ย ต้องใช้ดนตรีขนาดนี้เลยหรอ เจอแบบนี้คือวิ่งแล้วนะ #ผมกับผีในห้องEp1 pic.twitter.com/GPIr6frh8Y
— ???????? ?? (@lunarinsummer) January 20, 2022
ความน่าสนใจที่เป็นจุดที่ดึงดูดให้ชวนติดตามเลยนั่นก็คือ การที่ผู้ผลิตแล้วก็ตัวนักแสดงเองออกมาพูดอย่างชัดเจนเลยว่าซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ปักโพ (position) ให้ตัวละคร อย่างที่หลาย ๆ คนคงเคยรับชมซีรีส์ BL หลาย ๆ เรื่องยังคงมีการติดกรอบ binary ว่าต้องมีฝ่ายหนึ่งที่เป็น masculine มีการครอบทับกรอบความเป็นผู้ชาย ต้องแข็งแรง เป็นฝ่ายที่ต้องปกป้อง แล้วต้องมีอีกฝั่งที่ออกไปในทาง feminine ที่ต้องมีลักษณะว่าต้องอ่อนหวาน อ่อนโยน เป็นฝ่ายที่ต้องการการดูแล ซึ่งทั้งตัวพัทแล้วก็ภพเองผู้ผลิตไม่ได้สร้างภาพจำให้เราเห็นแบบนั้น แล้วเราก็เบลอกรอบ binary นี้ไปโดยปริยาย แน่นอนว่าการสร้างภาพจำของการยึดติดความเป็น heteronormativity มันส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะถ้าพูดถึงโพสิชั่นกันจริง ๆ แล้ว มันก็เป็นเรื่องส่วนตัว แล้วก็เป็นรสนิยมส่วนบุคคล เป็นเรื่องปัจเจกมาก แล้วสามารถฟิกซ์หรือสลับเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกว่าการที่ผู้ผลิตพยายามจะไม่สร้างภาพจำว่าการที่ภพและพัทมีภาพลักษณ์ภายนอกเป็นแบบนี้ แล้วโพสิชั่นของพัทกับภพจะเป็นแบบไหน แต่คอยเล่าเรื่องให้เราได้ค่อย ๆ ทำความเข้าใจไปเองว่าสุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถตัดสินโพสิชั่นของทั้ง 2 ตัวละครนี้ได้จากมุมมองของคนที่อยู่นอกความสัมพันธ์ของพวกเขานั่นเอง
สำหรับเราเองมันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าทางผู้ผลิตจะทำออกมาให้เราเห็นได้อย่างไร เพราะหลาย ๆ ครั้งเรามักจะเห็นสื่อที่เข้ามาเพียงฉกฉวยอัตลักษณ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพียงเพราะวงการนี้มันหอมหวาน หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่สื่อเหล่านั้นไม่เคยตระหนักหรือสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมในด้านความหลากหลายทางเพศเลย อัตลักษณ์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นเครื่องมือเพื่อเป็นสื่อความบันเทิงที่ให้ใครเข้ามาดูที่พอจบไปแล้วก็จบกัน เป็นแค่เครื่องมือสนองความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันยังมีกลุ่มคนที่เขาต้องเจ็บปวดกับการถูกฉกฉวยอัตลักษณ์ทางเพศของเขาจริง ๆ จากการที่คนในสังคมมีภาพจำที่ผิด ๆ มาจากสื่อไม่ได้พยายามทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลากทางเพศเลย มันคงจะดีไม่น้อยถ้ามีคนเริ่มพยายามพาเราทำความเข้าใจพวกเขาผ่านสื่อบันเทิงที่มันสามารถย่อยได้ง่าย และไม่ได้มีการไปลบตัวตนหรืออัตลักษณ์ผ่านการสร้างภาพจำผิด ๆ ให้พวกเขาเพิ่ม
จากความคิดเห็นของเราเอง หลาย ๆ ฉากหากเราได้สังเกตดูดี ๆ เราอาจจะเห็นได้ว่ามีการแบ่งภาพออกเป็น 2 ส่วน ฝั่งหนึ่งมีความมืดซึ่งตรงข้ามกับอีกฝั่งที่มีความสว่าง มีใช้เส้นแบ่งหรือมีวัตถุที่คั่นกลางระหว่างตัวละคร 2 ตัวนี้เป็นตัวแบ่งสถานะของภพและพัทอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเทียบได้ว่าเป็นการแบ่งเส้นระหว่างโลกของมนุษย์และโลกของวิญญาณที่ไม่อาจข้ามเส้นมาอยู่ในฝั่งเดียวกันได้
หรือแม้แต่การเลือกใช้มุมกล้องที่ชวนทำให้เรารู้สึกอึดอัดไปกับสถานการณ์ตรงหน้า
หรือจะมีการใช้มุมกล้องที่เปลี่ยนไปเพื่อสื่อถึงเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน การปรับขนาดอัตราส่วนภาพ หรือแม้แต่การเลือกใช้สีที่แตกต่างกันเพื่อแสดงให้เห็นถึงความต่างระหว่างเหตุการณ์ที่กำลังเล่าถึง เรารู้สึกว่ามุมมองการเล่าแบบนี้มันน่าสนใจมากเพราะไม่ต้องย้อมสีภาพให้มันดูเก่า ปรับสีให้มันซีดลง แต่ก็ทำให้เราได้รู้เองว่านี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตแน่ ๆ เขากำลังพาเราเข้าไปทำความรู้จักกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่ภพจะตาย
◍ CG
และแน่นอนว่าเราคงจะไม่พูดถึงการใช้ CG ในผมกับผีในห้องไม่ได้ หลาย ๆ ฉากที่เราได้ดูไปไม่ว่าจะเป็นในอีพีต้นที่ภพต้องเดินทะลุจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง ฉากที่ภพอยากสัมผัสตัวพัทแต่ก็ทำไม่ได้หรือจะเป็นฉากที่พัทสงสัยว่าตัวภพนั้นมีความโปร่งแสงเพราะว่าเป็นวิญญาณจริง ๆ ฉากเหล่านี้ล้วนมีความยากลำบากในการถ่ายทำเพราะต้องมีการบล็อคกิ้งนักแสดงให้ได้อยู่ตำแหน่งเดิม หรือต้องมีการใช้เทคนิคหลาย ๆ อย่างระหว่างที่ถ่ายทำ ทั้งต้องอาศัยมุมกล้อง แสง รวมถึงการจินตนาการร่วมกับการใช้ทักษะทางการแสดงของนักแสดงที่ต้องเล่นฉากนั้นซ้ำไปซ้ำมาด้วย
พัทจะพิสูจน์ให้เบนเห็นภพได้หรือไม่ และที่เบนเห็นนั้นจะใช่ภพจริง ๆ รึเปล่า ติดตามใน #ผมกับผีในห้องEp6
— ผมกับผีในห้อง Something in my room (@phomkubphee) February 26, 2022
ดูสดทุกวันพุธ เวลา 23.00 น. ทางช่อง 3 กด 33 และ CH3 Plus
ชมย้อนหลังทาง CH3 Plus และ Uncut Ver. ทาง CH3 Plus Premium เวลา 00.30 น.#ผมกับผีในห้อง#PhomKubPhee pic.twitter.com/swdJnfZhxU
◍ Media effect
ซีรีส์เรื่องนี้ก็มีการสอดแทรกการใช้อาหารและขนมไทย แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกประทับใจนั่นก็คือทางดีฮัพที่ไม่ได้นำเสนอยู่ในภาพจำคนทั่วไป ถ้าพูดถึงอาหารไทยส่วนใหญ่แล้วคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเราคงนึกถึงพวกต้มยำกุ้ง ผัดไทย ส้มตำ แต่ในผมกับผีในห้องนั้นมีการใส่อาหารหลากหลายชนิดที่สามารถหากินได้ง่าย อย่าง โจ๊กหมู, แกงเขียวหวาน, ไข่พะโล้, ไข่เจียว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการใส่เมนูอาหารที่เราคงไม่ได้หากินได้ทั่วไป อย่าง แตงโมปลาแห้ง, ช่อม่วง หรือเมี่ยงคำ ก็เป็นการช่วยดึงความสนใจจากคนดูว่ามันยังคงมีเมนูนี้อยู่ และเพื่อไม่ให้มันหายไปตามกาลเวลา อาจจะเป็น media effect เล็ก ๆ ที่ชวนให้คนดูอย่างเรารู้สึกอยากไปหากินตามบ้าง
แต่เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่คงไม่พูดถึงไม่ได้นั่นก็คือเครื่องดื่มอย่าง ชานมไข่มุก ของลุงเจ้าที่มาด้วย เพราะชานมไข่มุกนั้นเป็นหนึ่งในกิมมิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มาจากต้นฉบับเอง แล้วคงเป็นการเอาใจคนที่ตามมาจากคอมิคได้ไม่น้อยเลย
? นัท ศุภณัฐ เลาหะพานิช รับบทเป็น ภพ
Twitter: @supanut_l
Instagram: supanut
Youtube: Supanut Channel
? แปลน ธนวัฒน์ คูสุวรรณ รับบทเป็น พัท
Twitter: @plankoosu
Instagram: plankoo
Youtube: Plankoo
? ฝ้าย สุมิตตา ดวงแก้ว รับบทเป็น ดรีม
Twitter: @fyeqoodgurl
Instagram: fyeqoodgurl
Youtube: Fyeqoodgurl
? บิ๊ก ธนกร กุลจรัสสมบัติ รับบทเป็น ลัคน์
Twitter: @Biggthanakorn
Instagram: bigteenoy
? กรีน พงศธร ผดุงเกียรติวงศ์ รับบทเป็น เบน
Twitter: @Greenkungz
Instagram: greenkungz
Youtube: greenkungz
? ตุ๊ก ชนกวนัน รักชีพ รับบทเป็น คริส
Instagram: tookchanokwanan
Youtube: TOOK TO GO
? แทน มิเกลลี่ รับบทเป็น เจ้าที่
Instagram: tam_m
? เพียว ดวงใจ หิรัญศรี รับบทเป็น นวล
Instagram: phiao_duangjai
เรียบเรียง: ว้อดเอ้บ @lunarinsummer
พิสูจน์อักษร: แอคม๋า @ilbyc_
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in