Disclaimer : บทความนี้เป็นความคิดเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเท่านั้น ซึ่งไม่อาจเอาไปอ้างอิงวิชาการที่อื่นได้ และพ้มจะพยายามใช้ภาษาที่สุภาพนุ่มนวลเป็นมิตรให้ได้มากที่สุด และrพยายามหลีกเลี่ยงการดิสเครดิตฮะ - ฝากเป็นกำลังใจให้ผมด้วยครับ
“คุณมีโมเมนต์เอนจอยกับเทปเพลงครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ”
ต่อให้คุณทันยุคสมัยนั้นหรือเป็นคนรุ่นใหม่ ๆ มนตร์เสน่ห์ของสุ้มเสียงอนาล็อกจากเทปคาสเซ็ทก็ยังคงเป็นอมตะเสมอ ซึ่งทุกวันนี้เรายังเห็นตลาดเทปเพลงมือสองทั้งออนไลน์และออนไซต์ (โดยเฉพาะห้างแห่งหนึ่ง สมมุติว่าเป็นฟอร์จูนทาวน์ พระราม 9) และมักจะไปได้ดีกับตลาดแผ่นเสียงและซีดี ที่แม้จะเลยยุคทองไปนานแล้ว แต่งานผลิตใหม่แบบ Pre-order รันเลขผู้สั่งย่อมล่อใจให้คนฟังเพลงได้เสมอ
“ใช่ครับ Physical Format (เทป ซีดี แผ่นเสียง) ไม่มีวันตาย”
ผมจำไม่ได้ว่ากระแสเทปเพลงในเมืองไทยมันกลับมาเมื่อไหร่ แต่ถ้าย้อนไปสมัยประถมปลาย ผมชอบเข้าเว็บขายแผ่นเสียงเพื่อดูเครดิตคนทำเพลงและอาร์ตเวิร์คเชย ๆ ในเวลานั้น และเซฟลงคอมพิวเตอร์…ตอนนั้นผมอยู่ ป.6 (และยังทำจนถึงวันนี้)
จนกระทั่งช่วงล็อกดาวน์โควิดซีซั่นแรกเมื่อปี 2563 ตอนจะสอบปลายภาคปี 3 เทอม 2 ผมก็ได้เข้าวงการเด็กเทปครั้งแรก ได้มีโมโมนต์กางปกอ่านเนื้อเพลง เครดิต ฟังซาวด์อะเบาท์ กับเสียงที่เหมือนได้ย้อนวัยเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ซื้อเทปเพลงติดรถยนต์ระหว่างเดินทาง
ผมจำได้ดีว่าผมบ้าเทปมาก ๆ นำค่าขนมรายเดือนตะบี้ตะบันซื้อจนโดนพ่อแม่ด่า ก็ค่อย ๆ เพลา ๆ ลงเพื่อเรียนออนไลน์ให้เต็มที่ แม้กระทั่งช่วง ป.โท ก็ยังซื้อเทปจนคุณพ่อให้ใบเหลืองพร้อมให้กติกาว่า “งบเอนเตอร์เทนเดือนนึง พันนึงก็พอนะลูก” ซึ่งก็ทำให้สมดุลการใช้การออมเงินกลับมาอีกครั้ง (เหตุผลจากอะไร ค่อย ๆ อ่านไป จะรู้เอง)
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ มันคือสิ่งที่เด็กเทปปี 2025 วัย 26 ปีการันตีว่า “เข้าแล้วออกยากแน่นอน”
“ยาธาตุนักเลงกลิ่นยาหม่อง…พร้อม!”
-
“เริ่มต้นเล่นเทป”
ใด ๆ ในโลกแล้วล้วนเริ่มต้นด้วยคำว่า…รัก
ไม่ว่าจะเป็นรักการอ่านที่นำมาซึ่งชีวิตมนุษย์คอนเทนต์ทุกรูปแบบหลายแพลตฟอร์มเลย(ในยุคเงินดิจิม่อนแบบนี้)...เด็กเทปก็เช่นกัน
ผมเองเริ่มต้นจากการค้นรูปเทปเพลงที่วางขายตามเฟซบุ๊ก ซึ่งบางโพสต์จะกางปกหน้าหลังชัดบ้างเบลอบ้าง ซึ่งนี่แหละ คอนเทนต์ชั้นดี ผมเองเป็นคนชอบหาเครดิตคนแต่งเพลงเก่ามาก ๆ และความรักคำเดียวสามารถต่อยอดไปได้ทุกเส้นทางเลย
พอมาสะสมเทปเพลงจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินคนไหนที่เราชอบและสนใจจริง ๆ ยังไงก็หลับฝันดีแน่แท้ ได้สัมผัสของจริงย่อมสนุกกว่าค้นในออนไลน์แน่นอน
จนเวลาผ่านไป นี่ก็ 5 ปีแล้วที่ผมเองเข้าวงการเด็กเทป ความเป็น Music Collector คงไม่ไกลเกินเอื้อมไปแล้วหนึ่งก้าว “รักแล้วรักเลย…ไม่เกินจริง แถมรักฝังใจด้วยนะ”
หรือถ้าเป็นประโยคในวงการนี้ “มีหมึ่นหมดหมื่น มีแสนหมดแสน” อร่อยเหาะ!
-
ประโยชน์ของการเป็นเด็กเทป (นอกจากใช้ฟังเพลง)
นี่แหละฮะที่มาของชื่อบทความนี้ “จดหมายรักจากเด็กเทป” แล้วยังไงต่อล่ะ
“มาร์คว่าเป็นแฟนคลับศิลปินคนนั้นจริง ๆ”
ยุคนี้การเข้าถึงงานที่ลิขสิทธิ์ถูกต้องมันอยู่แค่ปลายนิ้วเพราะคำ ๆ เดียว “สตรีมมิ่ง” สมัครรายเดือนไล่โฆษณาก็ยิงยาวไปเลย แต่ถ้ามีเทป ซีดี แผ่นเสียง ของศิลปินที่เราชอบ ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ มันคือการบอกว่า “เราเป็นแฟนคลับของศิลปินคนนั้นจริง ๆ (ผ่านก้าวแรกที่ฟังสตรีมมิ่งก่อน)” แน่นอนว่าถ้าเป็นศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ทีม Production House อาร์ตไดหลายแหล่ (ไม่ว่าจะเป็น HEREODD 4x100 Studio หรือ Ghost Fac) ต่างออกแบบ Physical Album ให้น่าเก็บสะสมอย่างสุดกำลัง “และเป็นได้มากกว่าของที่มีคุณค่าทางจิตใจแฟนคลับเลยนะ”
นี่กล่าวถึงเทปเพลงผลิตใหม่ว่าน่าเก็บแล้ว ถ้าเป็นอัลบั้มลายครามยุคเก่าปั๊มแรกปั๊มสองเปลี่ยนปกจะสนุกขนาดไหนนะ (จะว่าไปเราสามารถฟังสตรีมมิ่งสลับกับเทปซีดีแผ่นเสียง ค น ล ะ ค รึ่ ง ท า ง ก็ได้ ไม่ผิดกติกาอะไรเลย)
“เสพงานอาร์ตเวิร์คได้เหมือนงานศิลปะทั่วไป(ในหอศิลป์)”
(จิ๊กซอว์ที่เด็กเทปรู้กัน)
ผมเองเป็นคนต่างจังหวัดที่ไม่มีหอศิลป์เท่าไหร่ (หรือถ้ามีก็…ครับ) แต่พอไปหอศิลป์ปทุมวันแถว MBK เท่านั้นแหละ…เอาเรื่อง
กล่าวคือ อาร์ตเวิร์คปกเทป (นับรวมซีดีและแผ่นเสียง) เป็นงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งที่อาจจะมองข้ามแบบไม่ได้ตั้งใจ เราจะเห็นลุคของศิลปิน เครดิตคนทำงาน เนื้อเพลง (นับรวมความไทยแลนด์โอนลี่ที่มีสปอนเชอร์สินค้าในปกเทป ซึ่งสมัยนั้นมีคนมองว่ายัดเยียด…นานาจิตตังกับความคิดสมัยนั้น) แม้กระทั่งการเลือกฟอนต์ในปกเทปที่จะต้องเข้ากันกับอัลบั้ม พิมพ์แล้วก็…นะ มันยั้งใจไม่อยู่แล้วนี่นา
อนึ่งในยุค 80s ฟอนต์ในปกเทปจะมาจากการสั่งตัวเรียงพิมพ์คอมพิวท์ตัดปะกระดาษโบร์ไมด์จับฉากทาด้วยกาวยาง และแบบอักษรตอนนั้นก็มีครบตั้งแต่ยูเนสโก (JS Synjai / DB Manit) ชวนพิมพ์ (JS Saowapark / DB Chuanpim) เพทาย (JS Sadayu / TF Phethai) อู่ทอง (Eucrosia UPC) ทอมไลท์ (Cordia New) โกเมน (Iris UPC) ล้านนา (Freesia UPC) ศิริชนะ (JS Jindara) บลา ๆ ซึ่งดูแล้วคลาสสิกมาก (นับรวมภาพวาดแอร์บรัชวาว ๆ ฟุ้ง ๆ เหมือนลูกชุบ / แม้กระทั่งอิทธิพล Sexy Robot ของลุงโซรายามะก็ลามมาถึงปกอัลบั้มเพลงไทยในตอนนั้นด้วย)
แต่พอมาถึงยุค 90s ระบบ Desktop Publishing (การจัดพิมพ์แบบตั้งโต๊ะ) ผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (โดยเฉพาะ Apple Macintosh) งาน Digital Imaging และตัวพิมพ์ดิจิทัลก็มีบทบาทมากขึ้น (โดยเฉพาะฟอนต์ค่าย DB นำทีมโดย DB Fongnam DB Thaitext DB Pradit แม้กระทั่งตัวแคบในตำนาน DB Patpong และ DB Private ที่ฟอนต์ข้างต้นยังมีคนใช้กันจนถึงวันนี้) งานเลยออกมามีเสน่ห์และสีสันแบบบอกไม่ถูก อันเป็นพระคุณของโปรแกรม Photoshop/Illustrator และการจัดหน้าเรียงพิมพ์ผ่าน Pagemaker (บรรพบุรุษของ InDesign ในวันนี้) แน่แท้
(แอบกระซิบ ยุคปลาย 90s เป็นต้นมา ฟอนต์ PSL เฉิดฉาย แถมมีสตอรี่เยอะมากโดยเฉพาะเรื่องที่ทำให้ “ฟอนต์” กลายเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์เหมือนหนังละครที่เราดูกับวีดีโอเกมที่เราเล่นในที่สุด ใช่ครับ ก่อนหน้านี้ฟอนต์ไทยเคยแจกกันไปกันมาเหมือนของชำร่วย)
ปกอัลบั้มบางปกเป็นตำนานเมืองไทย บางปกมี Easter Egg ถึงตัวศิลปินและเหตุการณ์บ้านเมือง และบ่งบอกยุคสมัยของเพลงไทยได้ดีทีเดียวแหละ ปกเทปเป็นได้มากกว่าความสวยงามจริง ๆ
ฉะนั้นแล้ว เทปที่ผมสะสมในห้องนอนมันกลายเป็นงานศิลปะในหอศิลป์ส่วนตัวไปแล้ว แถมเข้าถึงง่ายอยู่ใกล้มือและอยู่เหนือกาลเวลาเลยแหละ ไม่ต้องไปไหนไกลเลยแค่ห้องของเราเอง
“เทปทุกม้วนย่อมมีสตอรี่ของการได้มาของมันเอง”
เคยได้ยินคำว่า “เทปเพลงมีเรื่องราว” ไหมครับ โดยเฉพาะวันที่เราได้มาเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเจอในตลาดนัด ร้านเทป หรือแม้แต่งาน Record Store Day ในบูธขายเทป เทปบางม้วนใช้เวลาตามหาทั้งชีวิต ถึงขั้นว่าบางม้วน “มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ประกาศขายก็ไม่ผิดกติกา”
อย่างเทปม้วนนี้ของวงสตริงวัยหวาน ฟอร์เอฟเวอร์ กับอัลบั้มรวมเพลงชุด วันนั้น วันนี้ เมื่อปี 2530 ที่ปกเทปเป็น City Pop ญี่ปุ่น ผมใช้เวลาหานานถึง 4 ปี แม้ว่าจะไม่มีเครดิตคนทำปกเทป และข้างหลังไม่มีเนื้อเพลง แต่ถือว่า The Search Is Over แล้วสำหรับผม เพราะผมเจอในงาน Record Store Day ปีก่อนที่เจริญกรุง 35 ผมคุ้ยกระบะเทปและได้มาในราคา 120 บาท วันนั้นเลยอิ่มใจเป็นพิเศษ
อีกม้วนนึงของวงสตริงฝั่งโคลิเชียม (เกษตรนวมินทร์ในปัจจุบัน) อย่างซิกซ์เซ้นช์ เจ้าของ One Hit Wonder อย่างครวญ ในอัลบั้มชุด “เพียงรักและเข้าใจ” เมื่อปี 2529 ความหายากของม้วนนี้คือ “สปอนเซอร์ปกเทปที่เป็นมันฝรั่งกรอบยุคแรกของเมืองไทยอย่าง…มั้นมัน” แน่นอนว่าตัวเพลงทั้งบั้มแม้จะมาในยุคปลายสตริงไทย แต่มันบ่งบอกถึงยุคสุขนิยมที่แท้จริง (แถมอัลบั้มชุดนี้คืออัลบั้มเพลงสตริงไทยสุดรักตลอดกาลของผมเลยแหละ) ได้มาจากการประมูลกว่า 3 ใบแดง และตามหามา 2 ปี
นับรวมถึงอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของพี่ธงชัย ประสงค์สันติ “อ๋อเหรอ” ปี 2531 อันเป็นงานที่ทำก่อนมาอยู่วงสามโทนในตำนาน ซึ่งม้วนนี้ในตลาดเทปหายากสุด ๆ ก็ได้มาจากการเสนอราคา แถมปกชุดนี้ไอเดียบรรเจิดมาก เพลงก็ Hidden Gem ฟังไปอมยิ้มไปไม่พอ มียียวนกวนประสาทและชวนคิดด้วย (ถ้ามีเวลาผมจะมารีวิวอัลบั้มที่ถูกลืมชุดนี้แน่นอน)
ข้อนี้จะเชื่อมโยงไปถึงข้อต่อไป นั่นคือ
“ช่วยต่อลมหายใจคนในอาชีพสายเสียงเพลง”
นับตั้งแต่โควิดซีซั่นแรก (และเดือดยิ่งกว่าชาบูหม่าล่าพร้อม ๆ สถานการณ์การเมืองไทยปี 63-66) ไหนจะคลัสเตอร์คนเมืองกรุง น้าค่อมเสีย วัคซีนอลเวง แจ้งไทม์ไลน์อุตลุด แน่นอนว่าคนในอาชีพเสียงเพลงไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีหรือคนทำงานร้านนั่งดื่มก็ได้รับผลกระทบกันหมด แต่ตอนนั้นผมไม่รู้จะทำยังไงดี (ประสา Music Collector คนหนึ่ง)
จำได้ว่าเป็นช่วงเดือนธันวาคม 2564 (ช่วงที่ผมรับปริญญา ป.ตรี มอขอไข่) ผมไปร้านนั่งดื่มแห่งหนึ่งที่ขายซีดีเพลง T-POP ตามเก็บงานเพลงไทยรุ่นใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ พอเข้าไปในร้านก็เจอเจ้าของร้านและพนักงานกำลังโละเทปเพลงไทยเป็นโกดังเอามาขายในราคาม้วนละหนึ่งใบฟ้า เลยอุดหนุนไปเกือบโหล คุ้ยเทปจนเจอขุมทรัพย์ที่คาดไม่ถึงเลย จึงรู้เลยว่า แค่มาอุดหนุนเทปและซีดีร้านนี้ก็เป็นการต่อลมหายใจให้ร้านเทปแผ่นเสียงในตัวเมืองให้ไปต่อได้ และร้านนั้นก็คือ Let It Beer ขอขอบคุณร้านนี้ที่รู้ใจคนฟังเพลงมาก ๆ ครับ
นับรวมร้านคาเฟ่แถวโนนม่วงแห่งหนึ่ง สมมุติว่าชื่อ Zaab Records Cafe ที่ผมได้เบาะแสว่า พี่เจ้าของจะโละเทปในโกดังคาเฟ่นี้ทำห้องฉายหนังนอกกระแส เลยจัดไปเต็ม ๆ หนแรกเมื่อเดือนเมษา 66 ตั้ง 2 โหลเต็ม ๆ (จนพ่อแอบด่าและให้กติกาว่า “งบเอนเตอร์เทนพันเดียวนะลูก”) และจากนั้นก็คุ้ยชั้นเทปในโกดังสนุกสนาน และบางม้วนไม่คาดคิดว่าจะเจอที่นั่นด้วย (บอกกันตรงนี้ ถ้าอยากเติมกำลังใจให้เจ้าของคาเฟ่ต่าง ๆ ทั่วไทย “อุดหนุนเครื่องดื่มและเมนูในร้านเถอะครับ” สั้น ๆ ง่าย ๆ “ถ่ายรูป นั่งนาน เมนูคนละจาน เครื่องดื่มคนละแก้ว”) ว่าไปชาเบอร์รี่ร้านนี้อร่อยนะ
แม้ในช่วงที่ไปร้านเทปแถวกรุงเทพก็เจอคนขายใจดีที่คุยเรื่องเพลงได้ถูกคอ และให้กำลังใจเราในทุกเรื่องของชีวิต (นอกเหนือดีใจที่มีเจ้าของใหม่) “ได้ม้วนนี้แล้วฝากดูแลแทนพี่ด้วยนะ” “ได้เทปไปสองสามม้วนแล้ว กลับหอไปทำธีสิสให้เต็มที่นะ” ซึ่งเท่าที่เราเจอนี่คนในวงการเทปเพลงมือสองน่ารักและเป็นกันเองจริง ๆ
ยังไม่หมดเท่านี้ ในหน้าฟีดเฟซบุ๊กหรือไอจีที่เกี่ยวกับขายเทปเพลงตามกลุ่มต่าง ๆ คนขายจะคัดสรรของดีที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอด้วย (พวกมิจฉาชีพนี่ไปไกล ๆ เท้าเลยนะ) เลยรู้สึกดีต่อใจเป็นพิเศษ (และเกินขึ้นช่วงต้นปีนี้ที่ผ่านมา) ในวันที่พี่มาร์คปิดกั้นการมองเห็นคนทำมาค้าขายขนาดนี้ แค่ม้วนสองม้วนก็เป็นแรงใจให้คนขายเทปออนไลน์แล้ว
มิน่าที่ผมอ่านเจอ จุดประสงค์จริง ๆ ของ Record Store Day ของทั่วโลกนั่นคือ “สนับสนุนวัฒนธรรมการฟังเพลงแบบอนาล็อก โดยเฉพาะร้านเทปซีดีแผ่นเสียงเล็ก ๆ ไม่ว่าจะในตัวเมืองหรือต่างจังหวัด” คนขายก็สุขใจ เจ้าของเทปก็ยิ้มแป้นจริง
เรารู้กันดีว่ายุคนี้คนเราต้องกินต้องใช้ “กำลังใจและกำลังทรัพย์ (เท่าที่ไหว) สำคัญที่สุดแล้วของวงการเด็กเทปและ Music Collector”
และแล้วเราก็มาถึงข้อสุดท้ายจากจดหมายรักเด็กเทป นั่นคือ…
“สามารถต่อยอดเป็นคอนเทนต์ความรู้ออนไลน์ได้”
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักผม ผม “มิสเตอร์ ต๊ก” อดีตคอลัมนิสต์สายดนตรีออนไลน์ และ Content Creator สายดนตรีอิสระครับ
การได้เทปมาจำนวนหนึ่ง สามารถต่อยอดไปยังการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่หลากหลายได้ตามความถนัดของแต่ละคน กล่าวคือ อาจจะมาในรูปแบบรีวิวเทปสะสม อาจจะมาในแบบรีวิวเพลงเก่า อาจจะมาในรีวิวการซื้่อขายเทปในตลาดออนไลน์ออนไซต์
โดยเฉพาะคนที่ชอบการเขียนของผม ผมตามหาหลักฐานชั้นต้นของเพลงไทยยุค 80s 90s 2000s ตามร้านหนังสือออนไลน์ ใช่ครับลงทุนหาหนังสือเพลงเก่าประกอบการเขียนบทความรีวิวเพลงด้วย ไหนจะ The Guitar บันเทิงคดี สีสัน และ The Quiet Storm (นิตยสารหัวหลังนี่ในตลาดหนังสือมือสองนั้น… “หายากเยี่ยงดรากอนบอล ซื้อขายเยี่ยงพระเครื่อง หมดไวกว่า The Flash” ที่สำคัญ มีหน้าโฆษณาเครื่องดนตรียุคนั้นในฉบับภาคภาษาไทย สมัยยุคเวิ้งนาครเขษมเชียวนะ) ซึ่งจะมีบทสัมภาษณ์ของคนในวงการเพลงไทยเวลานั้นและมาจากยุคนั้นจริง ๆ (หรือถ้าในออนไลน์ก็จะมาแบบเจ้าตัวพูดเองตามช่องต่าง ๆ) ข้อมูลที่น่าเชื่อถือย่อมเป็นต่อเสมอ
ผมเองอาจจะพูดไม่ค่อยเก่งเหมือนเฮียวิทย์ 8 Minutes Hitstory แต่ความใจรักในการทำงานเขียนสายดนตรีจะเน้นแรงบันดาลใจและรำลึกความหลังเชิงประวัติศาสตร์เช่นกัน “และทั้งเทปซีดีแผ่นเสียง รวมหนังสือเพลงเก่าเป็นลัง ลงทุนไปเท่าราคาทองเส้นบาทนึง” แต่ด้วยทุกวันนี่ที่อัลกอริธึ่มออนไลน์กดรีชคอนเทนต์ที่ตั้งใจทำมาก ๆ ไม่แปลกที่จะท้อใจฮะ
“แต่ถ้าเราไม่ยอมแพ้ และยิงคอนเทนต์หมัดฮุคทรงพลัง ย่อมน่าภาคภูมิใจอย่างแน่นอน”
และเราขอเป็นกำลังใจให้คนทำคอนเทนต์สายดนตรทุกคนครับ “คนแน่วแน่เท่านั้นผู้ชนะ (เหมือนพี่เสกบอกไว้)”
-
ในที่สุดก็ถึงย่อหน้าสุดท้ายของจดหมายรักจากเด็กเทปฉบับนี้แล้ว เทปเพลงมันเป็นได้มากกว่าการใช้ฟัง แต่มันคือหมุดหมายความทรงจำของชีวิตเราทุกด้านทุกมุม และนำมาซึ่งการเจอคอมมูเด็กเทปที่น่ารัก และเป็นได้มากกว่าคนคอเดียวกันเลยแหละ
แต่ถ้าแก่ตัวไปอายุ 30-40 ถ้ายังไม่ตายซะก่อน “ในยามที่มีแรงอย่าลืมแผนเกษียณ” น่าสนุกนะถ้าปล่อยส่งต่อให้คนอื่น แต่ก่อนอื่นขอสำเนาไฟล์ดิจิทัลก่อนนะ ใช่แล้ว ความรักของผมที่มีต่อเทปเพลงมันมากมายซะจนเล่าไม่หมด “รักแล้วย่อมรักเลย”
ว่าไปถ้าเปิดเทปดัง ๆ ลั่นบ้าน ผมจะโดนกระถางดอกไม้ลอยหน้าบ้านไหม
นายต๊ก
2-3 เมษายน 2568
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in