หากคุณ(หรือแม้กระทั่งตัวเรา)เจอคำถามว่าในลักษณะที่ว่า "ช่วยยกตัวอย่างมาสัก 1 ชนชาติที่ขยันทำ งานมากๆ มาหน่อยสิ" เราคาดว่าประมาณ 80% มักจะตอบว่า "คนญี่ปุ่น" ทำไมนะเหรอ? เพราะเรามักคุ้นเคยกับภาพของมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นที่ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำกัน ทั้งไปประสบพบเจอด้วยตนเองยามไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น หรือเห็นจากการรับชมซีรีส์และภาพยนตร์ของประเทศนี้ แต่น้อยคนนักที่จะมีความอิ่มเอมใจจากงานที่ทำและประสบความสำเร็จจากการทำงานหามรุ่งหามค่ำแบบนี้
หนังสือ "หลักคิดที่คนญี่ปุ่นพกไปทำงานทุกวัน" เราต้องขอใส่คำและวงเล็บ "(บางคน)" คั่นระหว่างคำ "ญี่ปุ่น" และ "พก เพราะเป็นหลักที่ผู้เขียน คือ คุณโคมิยะ คาสุโยชิได้รับการถ่ายทอดมาจากอดีตเจ้านายของและนำมาปฎิบัติใช้กับชีวิตของเขา คุณโคมิยะเขียนหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ปี 2552 ขณะนั้นอายุได้ 51 ปี (ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยเมื่อปี 2562 ครบรอบ 10 ปีพอดี) อย่างไรก็ตาม ทัศนคติและวิธีการทำงานของคุณโคมิยะก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโลกยุคปัจจุบันที่วุ่นวายและปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
หัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยหลักการ ABC ประกอบไปด้วย
A มาจากคำว่า "อะตะริมะเอะ" คือ เรื่องธรรมดา -->| |<--
B มาจากคำว่า "บะกะนินะรุ" คือ ทุ่มเทสุดตัว -->| ทุ่มเทสุดตัวทำเรื่องธรรมดาให้ดีที่สุด |<--
C มาจากคำว่า "ชันโตะสุรุ" คือ ทำให้ดีที่สุด -->| |<--
ทำไม? จึงต้องทุ่มเทสุดตัวทำเรื่องธรรมดาให้ดีที่สุด คุณโคมิยะให้เหตุผลง่ายๆว่า ถ้าเรื่องธรรมดาคุณยังทำให้ดีไม่ได้ เรื่องยากๆ ก็ทำได้ไม่ดีเช่นกัน เช่น การทำความสะอาดแบบใส่ใจในรายละเอียด VS การทำความสะอาดแบบทำให้เสร็จๆไป ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมออกมาแตกต่างกันอย่างมาก เป็นต้น
เมื่อข้ามขั้นมาถึงการทุ่มเทสุดตัวกับการทำงาน หลักการเสริมที่เราสนใจและได้จากหนังสือเล่มนี้ ได้แก่
1) จงตระหนักถึงความตายอยู่เสมอ ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและไม่ปล่อยเวลาให้ไร้ค่าผ่านไปในแต่ละวัน เป็นหลักการที่คลาสสิกและปรากฎอยู่บนหนังสือ How-to แนวพัฒนาตนเองยุคปัจจุบันอย่างมากโดยเฉพาะจากซีกโลกตะวันตก
2) จงศึกษางานให้เข้าใจถึงแก่นสำคัญ คุณโคมิยะเชื่อว่า เราทุกคนสามารถเข้าใจพื้นฐานเรื่องใดๆก็ตามได้ภายใน 3 ชั่วโมงและหากมีเวลาสัก 30 ชั่วโมง เราทุกคนจะสามารถวิเคราะห์และเปิดมุมมองใหม่ต่อเรื่องนั้นๆที่ศึกษาได้ รวมถึงต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ในศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับงานที่รับผิดชอบด้วย
3) ตั้งเป้าหมาย ลงมือทำ วัดผลและจัดบันทึกความสำเร็จ/ความล้มเหลว เมื่ิอเราศึกษางานที่รับผิดชอบจนเข้าใจถึงแก่นสำคัญ การกำหนดเป้าหมาย การลงมือทำ พร้อมกับการชี้วัดและจดบันทึกความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นระยะๆ จะช่วยให้เรามองเห็นว่าช่วงเวลาไหนควรแก้ไขวิธีการที่ทำอยู่ ช่วงเวลาไหนควรทำตามวิธีการนั้นอย่างทุ่มเทสุดตัว จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายและความสำเร็จที่กำหนดเอาไว้
4) เรามีเวลาอยู่อย่างจำกัด จงหมั่นตั้งคำถาม "ถ้าเกิดใหม่อีกครั้งยังอยากทำงานนี้หรือไม่?" หรือ "เรากำลังทำงานเพื่อความอิ่มเอมใจ ไม่ใช่เพื่ออิ่มท้องหรือเพื่อให้ผ่านไปวันๆ ใช่หรือไม่? เพราะมนุษย์ไม่ได้ถนัดไปทุกเรื่อง และเพื่อไม่ให้เราชินชาไปกับความรู้สึกหดหู่ ถูกบีบบังคับ เช่น สมมุติในช่วงเวลาหนึ่งคุณพบว่างานอดิเรกทำให้คุณมีความอิ่มเอมใจแต่งานประจำทำให้คุณอิ่มท้องหรือเพื่อให้ผ่านไปวันๆ เราก็ควรเปลี่ยนงานอดิเรกนั้นให้เป็นงานประจำแทนและลาออกจากงานประจำนั้นซะ คุณโคมิยะเห็นว่า "มนุษย์ควรใช้เวลาและทุ่มสุดตัวกับสิ่งที่ชอบและทำได้ดีไม่แพ้ใครจะดีกว่า"
5) จิตสำนึกต่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่การเสียสละตนเองเพื่อให้คนอื่นมีความสุข แต่ต้องมีทัศนคติที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขเพื่อที่ตัวเองจะได้มีความสุขไปด้วย อย่าลืมว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้น การก้าวหน้าในชีวิตการงานหรือกิจการของตนเองจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนและความเกื้อกูลจากคนอื่นเป็นจำนวนมากจึงจะประสบความสำเร็จ
6) อยู่ใกล้ๆคนที่ประสบความสำเร็จกว่าเรา เพื่อสังเกตทัศนคติ วิธีการจัดการงาน หรือการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม รวมถึงเราต้องตั้งใจและรับฟังคำชี้แนะจากบุคคลท่านนั้นแล้วนำมาไปปรับปรุงตนเองด้วย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสดีต่างๆ ที่จะวิ่งเข้ามาหาเรา ในทางกลับกันหากเราคบหากับ "คนไม่มีโชค" หมายถึงคนที่ใช้ชีวิตแบบผ่านไปวันๆ ไม่พัฒนาตนเอง เราก็จะย่ำอยู่กับที่และไม่พบโอกาสดีๆเข้ามาในชีวิตได้
จากหัวใจหลัก ABC และหลักการเสริมบางส่วนที่คุณโคมิยะเขียนบอกเล่าในหนังสือเล่มนี้ ทำให้เขาใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากมนุษย์เงินเดือนคนญี่ปุ่นในรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะก่อนที่จะเปิดบริษัทของตน คุณโคมิยะเปลี่ยนงาน 3 ครั้งในระยะเวลา 15 ปี โดยทุ่มเทสุดตัวกับเรื่องธรรมดา งานที่ตนเองได้รับมอบหมายแต่ไม่มีความถนัด (สุดท้ายก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอาชีพที่ปรึกษาได้) การหมั่นสังเกตเรื่องที่ตนเองชอบ รวมถึงการอยู่ใกล้ๆ และรับฟังคำแนะนำจากคนที่ประสบความสำเร็จกว่าเขา เราเชื่อว่าทุกวันนี้คุณโคมิยะมีความอิ่มเอมใจและแบ่งปันสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในสังคม ด้วยการให้คำปรึกษากับลูกค้าและเขียนหนังสือดีๆเล่มนี้มาให้เราอ่านนั่นเอง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in