ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบทกลอนกล่อมเด็ก (บทร้อยกรองสำหรับเด็ก) ของชาวตะวันตก
(ข้อมูลจาก "หนังสือสำหรับเด็ก" โดย กล่อมจิตต์ พลายเวช)
บทกลอนกล่อมเด็กของต่างประเทศนั้นมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษแตกต่างกัน ชาวอังกฤษเรียกบทกลอนประเภทนี้ว่า "Nursery Rhymes" แต่ชาวอเมริกันเรียกว่า "Mother Goose Rhymes" ซึ่งจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ลักษณะของบทกลอนก็เป็นอย่างเดียวกัน และมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน เป็นวรรณกรรมประเภทแรกที่เหมาะที่จะนำมาแนะนำให้เด็กรู้จัก เพราะเด็ก ๆ เคยได้ยินได้ฟังบทกลอนเหล่านี้มาตั้งแต่ยังแบเบาะ
“Mother Goose” คือใคร และเหตุใดจึงนำมาใช้เรียกบทกลอนกล่อมเด็ก ยังได้คำตอบที่ค่อนข้างสับสน บ้างก็ว่าเป็นชื่อที่นำมาจากอังกฤษในคริสตศตวรรษที่ 18 บ้าง บ้างก็ว่าเป็นชื่อของชาวอเมริกัน คือ Elizabeth Goose แห่งเมืองบอสตัน ผู้มีบุตรของเธอเอง 6 คน และบุตรเลี้ยงอีก 10 คน เธอเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง ต่อมาบุตรเขยของเธอคือ Thomas Fleet นำไปรวบรวมและจัดพิมพ์เป็นเล่ม เรียกชื่อว่า Songs for the Nursery or Mother Goose’s Melodies for Children เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1719 แต่เข้าใจว่าเป็นเพียงตำนานที่เล่าสู่กันฟัง เพราะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดของหนังสือเล่มนี้
John Newbery ได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่ใช้ชื่อ “Mother Goose” เป็นชื่อหนังสือรวมบทกลอนเก่าแก่ที่เขารวบรวมจัดพิมพ์ขึ้น คือ Mother Goose’s Melody or Sonnets for the Cradle ซึ่งเข้าใจว่า John Newbery กำหนดที่จะพิมพ์ในระหว่างปี ค.ศ. 1760-1765 แต่ก็ไม่ได้พิมพ์จนกระทั่งเสียชีวิตไป ต่อมา T.Carnen บุตรเลี้ยงของเขาจึงได้นำมาจัดพิมพ์ในปี ค.ศ. 1781 เป็นหนังสือรวมบทกลอนสั้น ๆ สำหรับเด็กประมาณ 51 บท มีภาพประกอบและคำอธิบายเพิ่มเติม ส่วน Mother Goose ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของอเมริกา จัดพิมพ์โดย Isaiah Thomas ในปี ค.ศ. 1785 เข้าใจว่าลอกเลียนมาจากฉบับพิมพ์ของ John Newbery
บทกลอน Mother Goose เป็นบทกลอนเก่าแก่ที่ใช้ขับกล่อม จดจำต่อ ๆ กันมา บางบทอาจมีมานานก่อนคริสตกาล เป็นบทกลอนสั้น ๆ สนุกสนานขบขัน จึงถ่ายทอดต่อ ๆ กันได้ง่ายและรวดเร็วโดยไม่มีการจดลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อาจมีการคลาดเคลื่อนแตกต่างจากของเดิมไปบ้าง บทกลอนเหล่านี้ไม่ได้ไร้สาระไปเสียทั้งหมด บางบทแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ในสังคม การเมือง และประวัติศาสตร์ของอังกฤษในสมัยก่อน บางบทก็ล้อเลียนประชดประชันการกระทำของบุคคลจริง ๆ ในสมัยนั้น จากการศึกษาค้นคว้าของ Ioan และ Peter Opie ที่ปรากฏในหนังสือ The Oxford Dictionary of Nursery Rhymes (1951) สรุปได้ว่า บทกลอน Mother Goose ที่เป็นบทกลอนสำหรับเด็กโดยตรงก่อนคริสตศตวรรษที่ 19 ได้แก่บทกลอนหัดอ่าน บทเห่กล่อม และบทเด็กเล่นบางบทเท่านั้น นอกนั้นเป็นบทกลอนที่เขียนขึ้นสำหรับผู้ใหญ่เกือบทั้งสิ้น บางบทก็นำมาจากเพลงร้อง เช่น “One Misty Moisty Morning” กลอนบางบทเก่าแก่มีมานานมาก เช่น "eeny, meeny, mony, my" ที่พวกพระในสมัยโบราณของอังกฤษใช้สำหรับเลือกตัวคนที่จะนำไปบูยายัญ
จากรายงานการค้นคว้าในปี ค.ศ. 1972 ของ Margaret Chisholm คณบดี School of Library and Information Services มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ พบว่า "Mary, Mary Quite Contrary" หมายถึงพระราชินีแม่รี่แห่งสก๊อตแลนด์ "Jack and Jill" ได้มาจากเทพปกรณัมของชาวนอร์ส เป็นบทกลอนที่หมายถึงน้ำขึ้นน้ำลง และ "Baa Baa Black Sheep" เป็นบทกลอนแสดงการทอผ้าขนสัตว์ของอังกฤษในคริสตศวรรษที่ 13 (กล่อมจิตต์ พลายเวช, 2526, น.56-58)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in