เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เล่าไปตามที่เจอDeux
แด่นางฟ้า...ไนติงเกล
  •      ชื่อ "ไนติงเกล" บางคนอาจจะคุ้นๆ เหมือนจะเคยได้ยินมาจากที่ไหนซักที่ ผมจึงจะขอเล่าถึงที่มาคร่าวๆของชื่อ "นางฟ้าไนติงเกล" ให้ทราบกันสั้นๆก่อน

        ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เป็นชาวอังกฤษ เธอเติบโตขึ้นด้วยความตั้งใจในการอุทิศตนเพื่อดูแลผู้ที่เจ็บป่วย เธอจึงเลือกที่จะทำหน้าที่เป็น "พยาบาล" ซึ่งในยุคนั้นเป็นอาชีพที่ถูกดูแคลนเป็นอย่างมาก แต่เธอไม่สนใจเสียงติติงทั้งจากครอบครัว หรือคนรอบข้าง เธอตั้งใจทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถที่เธอมี

        จนกระทั่งช่วงสงครามไครเมีย เธอกับเหล่าพยาบาลอาสาเข้าให้ความช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ดูแลผู้บาดเจ็บไม่เหมาะสม จึงมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นทุกวัน ไนติงเกลและเหล่าเพื่อนผู้เสียสละร่วมกันจัดการสภาวะแวดล้อมและสถานที่ให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วย จนกระทั่งอัตราการเสียชีวิตลดลงมากจนเป็นที่น่าพอใจ

        ด้วยความเสียสละในการดูแลผู้ป่วยทั้งกลางวันและกลางคืน เธอและเพื่อนๆต้องจุดตะเกียงมาเพื่อดูแลคนเจ็บแม้จะดึกดื่นเพียงใด ผู้ป่วยที่อ่อนเพลียเมื่อเห็นนางพยาบาลในชุดสีขาวถือตะเกียงมาในความมืด ราวกับนางฟ้าที่ลงมาจากสวรรค์เพื่อมานำเอาความเจ็บปวดทั้งปวงออกไปจากตัวผู้ป่วยเหล่านั้น จึงเป็นที่มาของคำเรียกขาน "นางฟ้าไนติงเกล" หรือ "Lady of the Lamp" ผู้บุกเบิกงานพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่

        ที่เล่าให้ฟังถึงประวัติของ ไนติงเกล เพื่อให้ทุกคนที่ได้มีโอกาสอ่านงานเขียนนี้ ได้นึกถึงความเสียสละให้แก่ผู้ป่วยอย่างไม่คิดเหน็ดเหนื่อยของพยาบาล นางฟ้าในชุดสีขาว ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงเหน็ดเหนื่อยไม่ต่างจากในอดีตเท่าไหร่นัก

       ผมไม่ได้มีแม่ มีน้อง หรือมีแฟนเป็นพยาบาลแต่อย่างใด แต่ในชีวิตการทำงานต้องทำงานใกล้ชิดกับพยาบาลโดยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา จึงรู้ดีว่าการทำอาชีพพยาบาลไม่ใช่เรื่อง "สบาย"

        ยิ่งยุคสมัยที่เทคโนโลยีไวกว่าคำพูดจากปากคน ภาพเสียงมาถึงก่อนความเป็นจริง อาชีพที่น่าเห็นใจมากๆในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขไทยกลับกลายเป็น "พยาบาล" นางฟ้าในชุดขาว ซึ่งบางคนกลับมอบชื่อใหม่ให้เป็น "นางมารในชุดขาว" แทน

        ไม่ต้องแปลกใจที่พยาบาลในยุคนี้จะไม่ค่อยมีรอยยิ้มบนใบหน้าเวลาให้บริการทุกท่าน นั่นเนื่องจาก

       - ต้องตื่นเช้าเพื่อจัดการชีวิตในบ้าน ทั้งลูก และสามี พ่อ แม่ ให้เรียบร้อย

       - มาทำงานให้ทันก่อนจะสาย มาพบกับประชากรคนไข้มากมาย ที่มาขอให้รักษาแม้ว่าจะเจ็บไข้แค่เป็นหวัด จนถึงขาขาดเสียเลือดหรือโคม่า ก็ต้องรีบจัดการให้เรียบร้อย

        - ฟังคำบ่นจากผู้ป่วยและญาติ รับนโยบายจากหัวหน้า ช่วยเพื่อนร่วมงาน รับคำสั่งแพทย์ ทำงานเอกสารอีกเป็นตั้งๆ และรับคำตำหนิจากทุกทิศทางที่กล่าวมาหากผิดพลาด

        - กินข้าวตอนเที่ยงกว่าๆ แต่ต้องคนดูคนไข้เป็นระยะ อาจมีเวลากินข้าวซักสิบนาที รวมเวลาเข้าห้องน้ำที่ทั้งช่วงเช้ายังไม่มีเวลาเข้า

        - ตอนเที่ยงเกือบบ่ายเริ่มงานอีกรอบ ทำงานแบบเดิมซ้ำ คราวนี้อาจจะหนักกว่าเดิม เพราะหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานอาจจะต้องไปประชุม ภาระงานก็จะเพิ่มขึ้นโดยเวลาเท่าเดิม

        - คนไข้อาจจะยังค้างอยู่ แม้ว่าจะเลยเวลาเลิกไปแล้ว ต้องรอจนคนไข้หมด และจัดการงานเอกสารจนเสร็จถึงจะได้กลับไปรับลูก ซึ่งน้องๆหลานๆมักจะได้กลับเป็นคนสุดท้ายของห้องเสมอ

        ชีวิตในแต่ละวันหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ ยิ่งถ้าต้องดูแลผู้ป่วยบนหอผู้ป่วย ก็จะยิ่งเหนื่อยกว่าเดิม เพราะชีวิตอาจจะไม่ตรงกับชาวบ้าน คนอื่นนอน พยาบาลตื่น คนอื่นตื่น พยาบาลนอน คนอื่นหยุดพยาบาลทำงาน คนอื่นทำงานพยาบาลหยุด ซึ่งคงวุ่นวายกับชีวิตทางบ้านเพิ่มขึ้นอีกมากโข และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ค่าตอบแทนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงต่อชีวิตที่สูงลิ่ว

         ในยุคที่คนเรียกร้องสิทธิ์ในการได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี "กล้องมือถือ" จึงเป็นเครื่องมืออย่างดีในการคอยจับผิดและเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งความจริงกับภาพที่เห็นกันทั่วบ้านทั่วเมืองอาจจะตรงข้ามกันเลยก็ได้

        - ที่เห็นนั่งเล่นไลน์ อาจจะส่งภาพแผลเตียงข้างๆไปให้หมอดู

        - ที่เห็นนั่งกินข้าวอาจจะเป็นมื้อแรกของวันตอนเที่ยงห้าสิบ เพราะไม่มีคนเปลี่ยน

        - ที่เห็นแอบงีบหลับตอนเวรดึก อาจจะเพราะเพลียจากเวรบ่าย ที่ต้องมาขึ้นแทนเพื่อนที่ป่วยกระทันหัน

        - ที่เห็นเสียงดังบ่นญาติผู้ป่วย เพราะคำร้องขอที่ไปรบกวนสิทธิ์คนอื่น แต่ก็จะเอาให้ได้ (เช่น ขอลัดคิว) 

          และอื่นๆอีกมากมาย ที่ท่านอาจจะกำลังตัดสินพยาบาลบางคนอย่างผิดๆ เพียงเพราะภาพนิ่งเพียงภาพเดียวในช่วงเสี้ยววินาที คลิปสั้นสามนาทีจากเหตุการณ์ร่วมชั่วโมง โพสอันเดียวจากผู้เสียอารมณ์แต่ไม่ได้เสียประโยชน์ และน้ำเสียงไม่ไพเราะเพียงคำเดียวจากคำพูดของพยาบาลที่ต้องรับฟังความทุกข์ของคนไข้นับร้อยคนในทุกๆวัน เกือบ 365 วันต่อปี

        ขอแค่เข้าใจว่าพยาบาลก็เป็นคนธรรมดาเหมือนเราๆท่านๆ เหนื่อยเป็น หิวเป็น โกรธเป็น ล้าเป็น และท้อเป็น 

         ขอแค่ทุกคนเข้าใจ หรือถ้าจะปราณีมีน้ำใจให้กัน แค่เอ่ยถามพยาบาลที่ท่านพบเจอว่า "วันนี้เหนื่อยมั้ย" "คนไข้เยอะมั้ย" "ทานข้าวบ้างหรือยัง" "อดทนหน่อยเนอะ วันนี้คนป่วยเยอะจริงๆ" หรือคำให้กำลังใจใดๆก็ได้ครับ แค่นี้ก็คงทำให้นางฟ้าไนติงเกลได้เป็นนางฟ้าที่มีรอยยิ้มเล็กๆที่มุมปากได้เป็นแน่

         แล้วท่านจะได้ทำบุญทางอ้อม เพราะนางฟ้าคงมีกำลังขึ้นมาในการดูแลคนป่วยคนอื่นๆต่อไปด้วยครับ....

    แด่นางฟ้าไนติงเกลทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย.......^_^
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in