เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First Storymaywishp
Harry Potter And The Philosopher’ s Stone In Concert, 2019
  • ทั่วไป

    Harry Potter And The Philosopher’ s Stone In Concert, 2019 : โบกนิด สะบัดหน่อย ร่ายเวทมนตร์ผ่านดนตรีให้ตราตรึง

       ลมหนาวพัดมาอีกครั้งในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ใครหลาย ๆ คน จึงเลือกใช้ช่วงเวลาเทศกาลปลายปีนี้ไปกับการรับชมภาพยนตร์เรื่องโปรด ซึ่งหนึ่งในรายชื่อภาพยนตร์ในดวงใจต้องมี แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) กับการผจญภัยในโลกเวทมนต์สุดตระการตา อีกทั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 นี้ เป็นปีครบรอบ 20 ปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ฉายให้ทั้งผู้มีเวทมนตร์และไม่มีเวทมนตร์ได้รับชมกันทั่วโลก 

            (ที่มา : wizardingworld.com)

    การแสดง ผู้แสดง รายการแสดงและเว็บไซต์ที่เข้าชม

       ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปี 2019 ก่อนโลกของมักเกิ้ลจะผจญกับสถานการณ์โควิด ( มักเกิ้ล : ผู้คนที่ปราศจากเวทมนต์ ) แฟน ๆ Harry Potter ถึงกับเตรียมไม้กายสิทธิ์ร่ายคาถาเสกเงินเพื่อซื้อบัตรชมคอนเสิร์ตที่นำเอาซาวแทร็กและสกอร์ ของ Harry Potter And The Philosopher’ s Stone In Concert มาบรรเลงคอนเสิร์ตออเครสตรากันแบบสด ๆ พร้อมทั้งฉายภาพยนตร์ไปพร้อมกัน ( Film with Live Orchestra) แน่นอนว่าการแสดงดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าปราศจากความร่วมมือกันระหว่าง CineConcerts และ Warner Bros. ซึ่งในประเทศไทยยังมี Alcopop Group ทีมงานผู้นำเข้าการแสดงนี้ที่มีประสบการณ์จัดคอนเสิร์ตอย่างมากมาย ณ มหิดลสิทธาคาร


            (ที่มา : thaiticketmajor.com)

    ความงดงามของโลกเวทมนตร์สอดคล้องกับจินตนาการถูกถ่ายทอดผ่านเสียงเพลง

     John Williams นักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ชื่อดังที่ประพันธ์ดนตรีสำหรับแฮร์รี่พอตเตอร์ 3 ภาคแรก และหนึ่งในนั้น คือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ จอห์นซึ่งเป็นผู้ที่ชื่นชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ในรูปแบบหนังสือมาอยู่แล้ว เขามีความคิดในหัวเสมอว่าอยากจะพรรณาโลกเวทมนตร์ให้เป็นภาพของ “ความล่องลอยและการโบยบิน” 


    ( ที่มา : commonsensemedia.com )

       ความนิยมในผลงานดนตรีประกอบของจอห์น วิลเลียมส์ในภาพยนตร์นี้ น่าจะมาจากการใช้ไลท์โมทีฟ (Leitmotif) ประกอบกับเทคนิคการประพันธ์ที่มีต้นกำเนิดมาจากอุปรากรของริชาร์ด วากเนอร์ เป็นการใช้ทำนองหลักหรือโมทีฟมาเป็นตัวแทนของตัวละครและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ตราตรึงในความทรงจำของผู้รับฟังได้เป็นอย่างดี บทเพลงที่ปรากฎการใช้ไลท์โมทีฟอย่างเห็นได้ชัด คือ Hedwig’s Theme อีกทั้งเพลงดังกล่าวใช้ทำนองหลักของเพลงซึ่งอยู่ในบันไดเสียงอีไมเนอร์วนเวียนอยู่กับโน้ตตัวที่ 5 ของบันไดเสียง (B) ซึ่งจะช่วยให้โน้ตแขวน (Suspension) หรือเสียงเบาบาง ไร้นำ้หนัก อย่างที่ผู้ประพันธ์ต้องการพรรณา ประกอบกับทำนองหลักของเพลงตั้งอยู่บนแอดโทนิก แต่ก็มีโน้ตโครมาติกเกิดขึ้น ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศมืดมนภายใต้บรรยากาศใสซื่อที่เต็มไปด้วยเวทมนตร์ ราวกับผู้ชมได้เป็นหนึ่งในโลกแห่งจินตนาการอย่าง ‘ร้ายกาจ’ โดยแท้จริง



       ( ที่มา : https://m.youtube.com/watch?v=z8YuQ4wBVpI )

       เมื่อเสียงเซเลสตา ( Celesta ) เครื่องดนตรีที่คล้ายลักษณะเปียโนตั้งตรง ได้บรรเลง ความไพเราะที่แฝงไปด้วยความพิศวงเริ่มขึ้น ในบทเพลง Hedwig’ s Theme ซึ่งเป็น เพลงประกอบหลักของภาพยนตร์เหล่าผู้ที่ (อยากจะ) มีเวทมนตร์ก็เหมือนได้สัญญาณในการเตรียมเก็บกระเป๋าเข้าสู่ประตูโรงเรียนพ่อมดแม่มดฮอกวอร์ต 

       นอกจาก John Williams จะได้นำเซเลสตามาถ่ายทอดบทเพลง Hedwig’ s Theme ในช่วงต้นแล้ว ยังมีนักประพันธ์ดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีดังกล่าวเพื่อสร้างความมหัศจรรย์ในโลกดนตรีอีกด้วย เมื่อย้อนไปในศตวรรษที่ 18 Wolfgang Amadeus Mozart ก็ได้นำเครื่องดนตรีดังกล่าวมาใช้ในการแสดงโอเปร่าของเขา ในเรื่อง The Magic Flute ซึ่งเป็นเรื่องราวของเจ้าชายที่ใช้ขลุ่ยวิเศษในการป้องกันอันตราย และเพลงที่โด่งดังจากเรื่องราวสุดแสนอัศจรรย์นี้ ได้แก่  Queen of The Night หรือเพลง Magic’s bell ที่ถูกใช้โดยเซเลสตาจำนวนมาก ซึ่งเมื่อฟังแล้วจะรู้สึกถึงความลึกลับพิศวงน่าค้นหาเหมือนดั่งโลกเวทมนต์ที่รอเราเข้าไปผจญภัย เช่นเดียวกับผลงานนักแครกเกอร์ (The Nutcracker and the Mouse King) ของนักประพันธ์ชาวรัสเซีย Pyotr Ilyich Tchaikovsky

      


    รื่องน่ารู้

       ตลอดการแสดงวงออเคสตร้าในครั้งนี้ ณ มหิดลสิทธาคาร ห้ามถ่ายรูปและบันทึกวิดีโอโดยการใช้แฟลชโดยเด็ดขาด อันเนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจรบกวนผู้รับชมการแสดงได้ ยกตัวอย่างเช่น ไวโอลินจะมีการใช้มืออย่างรวดเร็ว ฉะนั้นภาพที่จะถ่ายได้จะอยู่ในช่วงนักไวโอลินลากสายซึ่งจะทำให้เพลงเบาและได้ยินเสียงแฟลชเป็นการรบกวนผู้ชมการแสดงคนอื่น ๆ อีกทั้งพื้นเวทีการแสดงดนตรีที่เป็นไม้อาจกระทบแฟลชทำให้ภาพเหลืองได้ ดังนั้นการถ่ายภาพวงออเคสตร้าจึงเป็นการท้าทายช่างภาพการแสดงวงออเคสตร้าอย่างมาก รวมไปถึงการแต่งตัวสุภาพเพื่อเคารพผู้แสดงและสถานที่


    มุมมองของผู้รับชม

       บทเพลงที่ชอบในภาพยนตร์เรื่องนี้ แน่นอนว่าคงจะไม่พ้น The Hedwig’s Theme ที่ฟังเมื่อไหร่ ก็เหมือนย้อนเวลาไปเป็นเด็กวัย 11 ปี รอจดหมายจากนกฮูกเพื่อไปเป็นหนึ่งในนักเรียนของโรงเรียนพ่อมดแม่มดฮอกวอร์ต หรือบทเพลงที่ยาวที่สุดอย่าง Quidditch Match ที่แสดงให้เห็นถึงพลังงานและความตึงเครียดในกีฬาที่อันตรายแต่ได้รับความนิยมอย่างมากในฮอกวอร์ต         

          ถึงแม้ว่าจะดูแฮร์รี่ พอตเตอร์ มาอย่างนับครั้งไม่ถ้วน จนเรียกได้ว่าจำเนื้อเรื่องและบทสนทนาทั้งเรื่องตามลำดับได้หมดแล้ว ถึงอย่างนั้นผู้ที่หลงใหลในโลกเวทมนตร์และเสียงดนตรีก็ได้เข้าถึงท่วงท่าการเล่นดนตรีของนักดนตรีที่มีความสามารถจากวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย และมีหัวหน้าวาทยกรมากความสามารถอย่างคุณอัลฟอนโซ สการาโน ประกอบกับผู้ชมที่หลงใหลในโลกเวทมนตร์ที่พร้อมสนุก ตื่นเต้น และซึมซับบรรยากาศที่โอบอุ้มไปด้วยความปิติตลอดสองชั่วโมงเศษ

       ผู้เขียนหวังว่าความหวัง ความฝัน และความรุ่งโรจน์ยังคงโลดแล่นได้ในโลกของจินตนาการ ขอให้เวทมนตร์จงสถิตแก่ทุกท่านเพื่อเติบโตไปอย่างที่ฝันใฝ่ แล้ววันหนึ่งเราจะพบกันในบทเพลงสักเพียงหนึ่ง

      


    * การเขียนวิจารณ์การแสดงนี้เป็นหนึ่งในรายวิชา 2737110 Music Appreciation, กัญญาณัฐ ครองราช
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in