รีวิวเว้ย (299) รีวิวหนังสือมาเกือบจะ 300 เล่มในช่วงเวลาเกือบ ๆ 3 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของ "ญี่ปุ่น" มีอยู่เยอะมาก ๆๆๆๆๆๆ และเท่าที่จำได้ทุกเล่มที่อ่านและรีวิวที่เกี่ยวกับเรื่องของญี่ปุ่น ในช่วงหลัง ๆ มานี้ เรามักจะขึ้นต้นการรีวิวด้วยประโยคประมาณว่า "ไม่น่าเชื่อว่ายังมีคนเขียนเรื่องญี่ปุ่นในแบบที่น่าสนใจและไม่ซ้ำใครออกมาได้อีกเว้ย" ซึ่งกับหนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน แต่อาจจะติดตรงที่ครั้งนี้เป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ หลังจากครั้งแรกตีพิมพ์เมื่อปี 2551 นับเวลาดูแล้วก็ 10 ปีพอดีที่หนังสือเล่มนี้ห่างหายจากการตีพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งสำหรับเราแล้วมันเป็นการได้อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก และหนังสือเล่มนี้ก็สร้างความประหลาดใจให้กับการอ่านหนังสือเรื่อง "ญี่ปุ่น" อีกครั้งหนึ่ง
หนังสือ : ย่องเบาเข้าญี่ปุ่น
โดย : โตมร ศุขปรีชา
จำนวน : 256 หน้า
ราคา : 285 บาท
"ย่องเบาเข้าญี่ปุ่น" เป็นหนังสือที่พูดถึงเรื่องของญี่ปุ่นได้ในแบบที่เราไม่คาดคิดว่าจะมีใครทำ และไม่คิดว่าจะมีใครกล้าที่จะทำหากคนคนนั้นไม่ได้ชื่อ "โตมร ศุขปรีชา" งานเขียนของพี่หนุ่ม เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าหนังสือแต่ละเล่มจะมีเนื้อหาและความสนุกในแบบที่เราไม่มีวันจะคาดถึง
กับ "ย่องเบาเข้าญี่ปุ่น" ก็เป็นเช่นนั้น เมื่อหนังสือแนะนำเรื่องราวของญี่ปุ่นผ่านโครงสร้างเรื่องในรูปแบบของเรื่องแต่ง ผสมเรื่องจริง ผูกเข้ากับสถานที่จริงและถ่ายทอดผ่าน Concept ของความเป็นญี่ปุ่นที่เป็นญี่ปุ่นจริง ๆ และยังบอกเล่าเรื่องราวของความเป็นญี่ปุ่นที่ถูกปิด ปรับ ดัด แปลง จากวัฒนธรรมภายนอก จนทำให้วัฒนธรรมเหล่านั้นกลายเป็นวัฒนธรรมภาในของญี่ปุ่น ที่เรียกได้ว่าแยกแทบไม่ออกว่าสิ่งไหน คือ วัฒนธรรมดั้งเดิม สิ่งไหนเป็นวัฒนธรรมรับมาใหม่
"ย่องเบาเข้าญี่ปุ่น" ผูกเอาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นเข้าด้วยกันได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปรัชญาแบบญี่ปุ่น ความเป็นคนนอนคนในในสังคมญี่ปุ่น การที่คนญี่ปุ่นแสดงออกถึงการเอาใจใส่ เป็นมิตร แต่ก็มีบางสิ่งที่ถูกกดทับเอาไว้ภายในผ่านวัฒนธรรม (รูปแบบสังคม) ต่าง ๆ ของญี่ปุ่น รวมถึงเรื่องราวของศิลปะ เกอิชา ซามูไร และสถานที่ท่องเที่ยว เรื่องราวต่าง ๆ ของญี่ปุ่นที่เราไม่คาดคิดว่ามันจะเอามารวมเป็นเรื่องเดียวกัน ผ่านการสร้างบริบทของการเล่าเรื่องแบบเรื่องจริงผสมเรื่องแต่งและจะไม่ทำให้เรื่องราวทรงคุณค่าเหล่านั้นวายวอดลงเพราะถูกจับมาบวกเข้ากับเรื่องแต่งซึ่งดูและตรรกะของเรื่องไม่น่าจะไปได้กับเรื่องจริง แต่กับหนังสืออย่าง "ย่องเบาเข้าญี่ปุ่น" กลับทำให้เราเห็นว่าเรื่องแบบนี้ทันสามารถทำได้ ตรรกะของเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม มันสามารถนำมาผูกร้อยเข้ากับเรื่องแต่งและช่วยเสริมให้อรรถรสของเรื่องราวเหล่านั้นไม่ด้อยตุณค่าลง
หลายครั้งที่เราอ่านหนังสือที่หยิบเอาเรื่องจริงและเรื่องแต่งมาร่วมเข้าด้วยกัน เราจะรู้สึกได้ทันทีว่ามันมีบางอย่างขาด ๆ เกิน ๆ ในตัวของบริบท แต่กับหนังสือ "ย่องเบาเข้าญี่ปุ่น" ยิ่งอ่านลึกเข้าไปในตัวอักษรมากเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมันคือเรื่องจริง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้แต่ง และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมนสังคมญี่ปุ่น
หากคุณย่องเบาเข้าไปในบ้านของใครสักคน และเจอเจ้าของบ้านเข้าแบบไม่ได้ตั้งใจ หากคิดจะป้ายยาให้เจ้าของบ้านเชื่อว่าคุณไม่ได้เข้าไปในบ้านของเขา ทั้ง ๆ ที่ยืนประจันหน้ากัน สิ่งที่คุณต้องทำให้ได้คือทำให้ได้แบบ "ย่องเบาเข้าญี่ปุ่น" หรือถ้าจะพูดให้ถูกอาจจะต้องพูดว่า คุณต้องป้ายยาให้ได้แบบที่พี่หนุ่มทำ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in