รีวิวเว้ย (1228) เรารีวิวหนังสือเล่มนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง และมีโอกาสในการหยิบขึ้นมาอ่านอีกหลายครั้งในหลายโอกาสแต่มันไม่ใช่การอ่านทุกบทเหมือนตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกซึ่งเป็นการอ่านในเฉพาะบทหรือเฉพาะจุดที่เราต้องหยิบเอาข้อมูลไปใช้งาน กระทั่งการอ่านอีกครั้งในหนนี้เป็นการหยิบเอามาอ่านอีกครั้งตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อทบทวนเรื่องของ "ระบบเลือกตั้ง" ในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งทั่วไป 2566 กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายคนเตรียมจับตาการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ทั้งคนจัดเลือกตั้ง คนคิดสูตรคำนวน ต่างก็งงกันเป็นไก่ตาแตกว่ามันนับคะแนนยังไง แถมหลังจากการเลือกตั้งก็ใช้เวลาอีกเนิ่นนานกว่าจะมีการประกาศผลคะแนน และในการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ ระบบการแบ่งเขต การคิดคำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รูปแบบของบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และอีกหลาย ๆ เรื่องที่ทำให้เรื่องของการเลือกตั้งและ "ระบบเลือกตั้ง" กลับมาเป็นที่สนใจ และถูกตั้งคำถามจากหลายภาคส่วน อีกทั้งการทำความเข้าใจในเรื่องของระบบเลือกตั้ง ก่อนที่สนามเลือกตั้งจะเปิดก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าคำถามว่า "ใครจะได้เป็นนายก" เพราะในหลายหนระบบเลือกตั้งเองก็เป็นตัวกำหนดทิศทางของผู้มีโอกาสในการตั้งรัฐบาลอยู่แล้วในที
หนังสือ : ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ
โดย : สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
จำนวน : 272 หน้า
"ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของ "ระบบเลือกตั้ง" อย่างเป็นระบบมากที่สุดในภาษาไทย (2566) ที่เนื้อหาของหนังสือเป็นการพาผู้อ่านไปเรียนรู้และทำคบามเข้าใจในเรื่องของระบบเลือกตั้งอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน โดยการวางพื้นฐานของการทำความเข้าใจเรื่องของระบบเลือกตั้ง ตั้งแต่เรื่องของการเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง ทั้งในมิติของความหมาย พัฒนาการและในทางหลังคิดทฤษฎี ซึ่งนอกเหนือไปจากเรื่องของพัฒนาการแล้ว ผู้เขียนยังได้นำพาผู้อ่านให้มองในเรื่องของความท้าทายของระบบเลือกตั้งและการเลือกตั้งในหลายประเภทของระบบเลือกตั้ง
สำหรับเนื้อหาของ "ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ" แบ่งออกเป็น 6 บท ที่จะไล่เลียงเรื่องราวของการศึกษาระบบเลือกตั้งตั้งแต่ขั้นแรกของการทำความเข้าใจ กระทั่งถึงความท้าทายของระบบเลือกตั้งที่ระบบต้องเผชิญ โดยเนื้อหาทั้ง 6 บทแบ่งออกเป็นดังนี้
บทที่ 1 การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง ความหมาย หลักการและพัฒนาการ
บทที่ 2 ประเภทของระบบเลือกตั้ง
บทที่ 3 กลไกที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง
บทที่ 4 ระบบเลือกตั้งและพฤติกรรมการตัดสินใจของประชาชน ทฤษฎีกับข้อค้นพบ
บทที่ 5 การปฏิรูประบบเลือกตั้ง: โอกาสและข้อจำกัด
บทสรุป บริบททางการเมือง และผลของระบบเลือกตั้ง
เมื่อกลับมาอ่าน "ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ" อีกครั้ง ในช่วงเวลาของการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้น หนังสือช่วยให้เราเห็นภาพและความสำคัญของระบบเลือกตั้งมากขึ้น รวมถึงเกิดเครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ กับการจัดการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาว่าที่ผ่านมานั้นมันคืออะไร (?) ทั้งระบบเลือกตั้ง วิธีคำนวนคะแนนและหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นมันสร้างผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างใหญ่หลวง แล้วเราจะนอนใจได้จริง ๆ หรือว่าในการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึง "ปาฏิหารริย์การเลือกตั้ง (ภาคพิศดาร)" จะไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง
อ่านรีวิวครั้งแรกได้ที่ https://minimore.com/b/Us3Wj/669
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in