เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
สิทธารถะ Siddhartha By Hermann Hesse แปล สดใส
  • รีวิวเว้ย (1190) คำสอนของศาสนาโดยเฉพาะศาสนาแบบไทย มีความน่าสนใจหลายประการที่ปรากฏอยู่ในหลักคำสอนต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผสานชุดความเชื่อของศาสนาใหม่ให้รวมเข้ากับศาสนาหรือชุดความเชื่อเดิมที่เคยมีอยู่กระทั่งก่อเกิดเป็นศาสนา "ลูกผสม" แบบศาสนาไทยที่ผสมเอา ศาสนาผี ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธเข้าไว้ด้วยกันกระทั่งกลายมาเป็น "ศาสนาไทย" หรือศาสนาพุทธแบบไทยที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ แต่การรวมผสานเข้าด้วยกันไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหรือเรื่องเกินจะรับได้ สำหรับโลกสมัยใหม่ที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมและสอดรับกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปจึงเป็นเรื่องสามัญธรรมดา อีกทั้งเรื่องของชุดความเชื่อของปัจเจกบุคคล หากมันไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่นก็ไม่เห็นจะสำคัญที่ใครเขาจะเลือกเชื่อหรือเลือกนับถืออะไร
    หนังสือ : สิทธารถะ Siddhartha
    โดย : Hermann Hesse แปล สดใส
    จำนวน : 160 หน้า

    "สิทธารถะ (Siddhartha)" วรรณกรรมของนักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมที่ว่าด้วยเรื่องของ "การแสวงหาคำตอบของชีวิต" ผ่านรูปแบบการเล่าเรื่องโดยตัวละคร ที่ถูกทำให้คล้ายและใกล้เคียงกับ "เจ้าชายสิทธัตถะ" ในพุทธศาสนา ด้วยการเดินเรื่องของ "สิทธารถะ" เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของการแสวงหาอะไรบางอย่างของชีวิตของ 2 ตัวละครหลักอย่าง (1) สิทธารถะ และ (2) โควินทะ ที่ต่างฝ่ายก็ออกเดินทางแสวงหาอะไรบางอย่างในชีวิตของตัวเอง

    โดยภาพที่ถูกบอกเล่าใน "สิทธารถะ" อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการหยิบยืมโครงเรื่องจากพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า โดยที่ผู้เขียนได้สร้างให้ตัวละคร "สิทธารถะ บรรลุธรรมพบความสงบ เพราะเข้าเรียนรู้จากธรรมชาติที่แท้ของตน เรียนรู้จากกัลยาณมิตร และเรียนรู้จากแม่น้ำ" (น. (17)) จากจุดเริ่มต้นที่ตัวละครออกแสวงหาอะไรบางอย่าง กระทั่งได้สนทนากับพระพุทธเจ้า จนนำไปสู่การตามหาความหมายในช่วงยาวของการใช้ชีวิต เราไม่แน่ใจว่าเราจะเรียกการตามหาของตัวละครใน "สิทธารถะ" ว่าเป็นการ "บรรลุธรรม" ได้หรือไม่เพราะในท้ายที่สุดแล้วการเลือกใช้คำว่าบรรลุธรรมมันก็อาจจะข้ามไม่พ้นกรอบคิดในเรื่องของศาสนา แต่ในความเป็นจริงแล้วเราก็ไม่อาจทราบได้ว่าตัวผู้เขียนมีเป้าหมายสุดท้ายของการสร้างงานชิ้นนี้อยู่ที่อะไร

    สำหรับเนื้อหาของ "สิทธารถะ" ได้มีการอธิบายเอาไว้ในส่วนแรกของหนังสือว่า "โครงสร้างภายนอกของนิยายที่แบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคแรก 4 บท และภาคหลัง 8 บท ยังแฝงเจตนาให้โยงไปถึง 'อริยสัจ 4' ความจริงอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าตัสรู้ และ 'มรรค 8' อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ด้วย" (น. 37)) ดังนั้นเนื้อหาของ "สิทธารถะ" จึงแบ่งเป็นดังต่อไปนี้

    [ภาคหนึ่ง]

    (1) บุตรพราหมณ์

    (2) อยู่กับสมณะ

    (3) พระสมณโคดม

    (4) ตื่นจากความหลับ

    [ภาคสอง]

    (1) กมลา

    (2) ท่ามกลางหมู่ชน

    (3) วัฏสงสาร

    (4) ริมฝั่งแม่น้ำ

    (5) คนแจวเรือจ้าง

    (6) บุตรน้อย

    (7) โอม

    (8) โควินทะ

    เมื่ออ่าน "สิทธารถะ" จบลง เราพบว่าในท้ายที่สุดแล้วเรื่องบางเรื่องเราไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาคำตอบของมันก็ได้ ว่าในท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ต้องการจะสอน นำเสนอ หรือต้องการอะไร หากแต่ในบางครั้งเมื่อการหยุดหรือจบลง มันก็มีความหมายที่ชัดแจ้งในตัวของมันเอง


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in