เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
อุกอั่ง คั่งแค้น แน่นอก รวมบทกาพย์กลอนยุค คสช. By เกษียร เตชะพีระ
  • รีวิวเว้ย (1182) ในหลายครั้งเวลาที่เรารู้สคกหงุดหงิด รำคาญใจ คับแค้น กับอะไรสักเรื่องหรือกับใครสักคน เราก็อยากจะด่าคนเหล่านั้นผ่านบทกลอน ไม่ทราบด้วยว่าวิญญาณของมหากวีเข้าสิงหรือว่าความคับแค้นมันขึ้นตาและวิ่งขึ้นสมองทำให้ต่อมคำด่าวิ่งพลานขึ้นมาจนอยากลุกขึ้นมาด่าคนด้วยบทกวี เราเคยลองสังเกตตัวเองว่าเวลาโกรธกลอนมักออกมาจากหัวได้มากกว่า และดีกว่าช่วงเวลาที่อารมณ์สงบ-สุข เราเองก็ไม่แน่ใจว่าด้วยกลวิธีของการแต่งบทประพันธ์ประเภทกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ต้องอาศัยอารมณ์เข้ามามีส่วนหลักสำคัญในการประพันธ์งานหรือไม่ แต่พอลองคิด ๆ ดูมันอาจจะจริงก็ได้ที่มหากวีของทั้งไทยและโลก ต่างก็ต้องอาศัยอารมณ์ในการสร้างงาน ไม่ว่าจะเป็นโกรธ สุข ทุก เศร้า และในหลาย ๆ ครั้งเมรัยก็เป็นเครื่องกระตุ้นอารมณ์ได้ดี
    หนังสือ : อุกอั่ง คั่งแค้น แน่นอก รวมบทกาพย์กลอนยุค คสช.
    โดย : เกษียร เตชะพีระ
    จำนวน : 336 หน้า

    "อุกอั่ง คั่งแค้น แน่นอก รวมบทกาพย์กลอนยุค คสช." หนังสือรวมบทกาพย์กลอนของ เกษียร เตชะพีระ ที่บันทึกอารมณ์และเรื่องราวในช่วงเวลาของการปกครองบ้านเมืองโดย คสช. โดยในเนื้อหาของหนังสือเขียนเอาไว้ว่า "อุกอั่ง คั่งแค้น แน่นอก รวมบทกาพย์กลอนยุค คสช." คือการบอกเล่าเรื่องราวในช่วงเวลานั้นโดยที่

    " ... 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 27 ตุลาคม 2561 เกษียรแต่งบทกวีทั้งกาพย์และโคลงรวม 3,410 บท ... ซึ่งได้คีดสรรมา 214 บท เพื่อตีพิมพ์ลงในหนังสือเล่มนี้ กาพย์กลอนทั้งหมดกล่าวถึงเหตุการณ์การเมืองรายวัน ... กลอนของเกษียรส่วนใหญ่มีท่วงทำนองดุดัน เดือดดาล โกรธ เหน็บแนม เสียดสี บริภาษผู้มีอำนาจ หรือตำแหน่งทางสังคมที่มีเกียรติ กลอนของเขาไม่มีศัพท์แสงหรูหราอลังการ ใช้คำเรียบ ๆ แต่สัมผัสได้รื่นสวย มีสัมผัสในเสมอแทบทุกวรรคเขาใช้คำง่าย ๆ เป็นคำทั่วไป แต่อมความไว้ชัดเจนในแต่ละบท" (น. 24 - 26)

    ก่อนที่จะไปถึงเนื้อหาภายใน "อุกอั่ง คั่งแค้น แน่นอก รวมบทกาพย์กลอนยุค คสช." เราขอแวะขยายความของคำว่า "อุกอั่ง" ในภาษาถิ่นอีสาน โดยความหมายของคำดังกล่าวมีอยู่ว่า "อุกอั่ง [ถิ่น] แปลว่า กลุ้มใจ คับแค้นใจ" เมื่อพิจารณาให้ดีจากทั้งความหมายของคำว่าอุกอั่ง และชื่อหนังสือ "อุกอั่ง คั่งแค้น แน่นอก รวมบทกาพย์กลอนยุค คสช." เราจะพบว่าในท้ายที่สุดหนังสือเล่มนี้ก็คือบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการปกครองของ คสช. ช่วงเวลาที่สร้างความ "อุกอั่ง" ให้กับใครหลาย ๆ คน

    สำหรับเนื้อหาของ "อุกอั่ง คั่งแค้น แน่นอก รวมบทกาพย์กลอนยุค คสช." ได้มีการแบ่งกาพย์-กลอน ทั้ง 214 บท ออกเป็น 24 กลุ่ม ดังนี้

    (1) หน้าที่ของนักฝันในวันหมอง

    (2) คือรอฟ้าสีทองสะท้อนฉาย

    (3) สูดหายใจลึก ๆ แล้วระบาย

    (4) ขยับเท้าก้าวย้ายออกเดินทาง

    (5) ปีใหม่ปีหน้าอย่างหวั่น

    (6) ปีไหนปีนั้นสหาย

    (7) ยิ้มเย็นเย้ยฟ้าท้าทาย

    (8) เพื่อนไทยทั้งหลายมั่นคง

    (9) ที่นี่ก็มีแต่มือเปล่า

    (10) จะทำไรได้เล่าต้องกำปั้น

    (11) ทุกนิ้วโป้งถึงก้อยคอยช่วยกัน

    (12) กำหมัดกัดฟันเขาเหยียบยืน

    (13) ยุคสมัยหนึ่งสิ้นสุดลง

    (14) สรรพสิ่งย่อมสิ้นสุดลง

    (15) ผู้อยู่หลังฤๅปลง ปลอดเศร้า

    (16) แต่ทุกสิ่งก็คงเริ่มใหม่

    (17) ปลอบโลกให้สุขเข้า แข่งสู้โชคชะตา

    (18) ประวัติศาสตร์มีแพ้มีชนะ

    (19) มืดกว่านี้ใช่ว่าจะหาไม่ได้

    (20) แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์

    (21) Thaiconoclast

    (22) อนาคตใหม่

    (23) ยุคหลังไอ้โต

    (24) มุทิตาจิต ครู-ลูกศิษย์

    เมื่ออ่าน "อุกอั่ง คั่งแค้น แน่นอก รวมบทกาพย์กลอนยุค คสช." จบลง เราพบว่ากาพย์-กลอน หลายชิ้นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ คือ บทที่ทำหน้าที่แทนความคับแค้นของหลาย ๆ คนในสังคมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสังคม "คนดีย์" อย่างสังคมไทยแลนด์ ในท้ายนี้เลยขอยกกลอนบทหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึก "ตลกร้าย" กับประเทศนี้ให้ได้ลองอ่านกันดู

    อ้างศัตรูของตัวนั้นชั่วร้าย
    ความเลวตนเองหายหาเห็นไม่
    คือตรรกะคนดีศรีวิไล
    ผู้แตะต้องมิได้อินไทยแลนด์
    (15 ตรรกะของคนดี, น.61)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in