รีวิวเว้ย (292) "เกลียดวันจันทร์จังโว้ยยยยยย" น่าจะเป็นหนึ่งในวลียอดฮิตที่เราสามารถพบเจอได้ตามหน้า Facebook ของเพื่อน พี่ น้อง ที่ทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเอง ครอบครัวและเพื่อเติมเต็มความอยากบางอย่างด้วยสิ่งที่เรียกว่า "เงินเดือน" แต่ทำไมคนเราจึง "เกลียดวันจันทร์ (?)" หรือเอาเข้าจริงแล้วเราไม่ได้เกลียดวันจันทร์จริง ๆ หรอกเราแค่ "เกลียดวันทำงาน" ก็เท่านั้น และคำถามสำคัญที่ควรถามต่อมาคือ "แล้วทำอย่างไรเราจึงจะไม่เกลียดการทำงาน หรือเกลียดงานที่ทำ (?)" หลายคนอาจจะมีคำตอบของคำถามอยู่ในใจ หรือหลายคนอาจจะไม่ได้สนใจมันด้วยซ้ำไป ก็แค่ทน ๆ ทำไปให้มันจบเดือน เพื่อมีเงินโอนเข้าบัญชีในช่วงปลายเดือน และถ้าช่วงไหนโชคดีสิ้นปีอาจจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นในบัญชีก็เป็นได้
หนังสือ : อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่
โดย : Ken Mogi แปล วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
จำนวน : 266 หน้า
ราคา : 299 บาท
หลังจากที่เห็นใครหลายคนบ่นเกลียดวันจันทร์ เกลียดวันทำงาน และสาระพัดจะเกลียดเกี่ยวกับเรื่องของงานที่มำ ทั้งเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ป้านักการ คนขับวิน ลุงขายหมูปิ้ง ระบบขนส่ง ฯลฯ ล้วนสามารถสร้างความเกลียดชังได้ทั้งนั้น เมื่อมันอยู่ในวงโครจรของสิ่งที่เรียกว่าการทำงาน เรามีโอกาสได้ฟังสัมภาษณ์ "คุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ" อดีตผู้บริการ dtac (ในวันที่ผลักดันเรื่องของ Happy) และตอนนี้ย้ายมาทำงานให้กับ SCB และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนการทำงานของ app SCB Easy หนึ่งในคำสัมภาษณ์ที่ได้ยินผ่านปากของพี่โจ้ คือ เรื่องของปรัชญาการทำงานและการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นที่เรียกว่า "อิคิไก" หลังจากได้ยินคำดังกล่าว เราก็เกิดคำถามขึ้นในหัวว่า "อิคิไกคืออะไรวะ (?)"
กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสได้อ่านหนังสือชื่อว่า "อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่" ที่ถูกเขียนขึ้นโดย Ken Mogi ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาชาวญี่ปุ่น ที่เขียนถึงเรื่องของ "อิคิไก" เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ อ่านง่าย และช่วยตอบคำถามที่ว่า "ทำไมคนญี่ปุ่นจึงชอบ (บ้า) งาน" และดูเอาจริงเอาจังกับแทบทุกเรื่อง นับตั้งแต่การขายเต้าหู้ กระทั่งถึงการเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ "อิคิไก" กลายเป็นคำที่ตอบคำถามได้แทบทุกคำถาม ที่ถามว่าทำไม "คนญี่ปุ่นจึงเป็นเช่นนี้" คำตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง คือ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มี "อิคิไก" เป็นของตัวเองแทบทุกคน ทุกสังคมและแทบจะในทุกระดับชั้น
นับตั้งแต่คนทำขนม คนเขียนการ์ตูน อาจารย์มหาวิทยาลัย ช่างไม้ ช่างปั้นเครื่องปั้น ชาวประมง ชาวนา ซูโม่ พนักงานบริษัท ฯลฯ ผู้คนเหล่านี้ถูกบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวของกับ "อิคิไก" ของพวกเขา ผ่านหลักการและแนวทางสั้นในหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มนี้
โดยหลักการของ "อิคิไก" มุ่งเน้นเรื่องขอฃปัจจัยง่าย ๆ 5 ประการ ที่ปัจจัยทุกประการนั้นขึ้นอยู่กับ "ตัวเรา" เท่านั้น ซึ่งนั้นทำให้อิคิไก สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ และอย่างไรก็ได้ เพราะทุกสิ่งอย่างเริ่มต้นขึ้นและจบลงที่ "ตัวเรา"
นอกจากนี้ "อิคิไก" ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสุขของการทำงานของคนญี่ปุ่น ที่หลายครั้งมันสะท้อนออกมาในรูปแบบของ "ความบ้างาน" ตามแบบฉบับที่เรามักเห็นผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เกี่ยวกับเรื่องของคนญี่ปุ่นทำงานจนตาย ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วการทำงานจนตายไม่ได้หมายรวมถึง "อิคิไก" แต่เพราะมี "อิคิไก" ทำให้คนญี่ปุ่นยิฃอมที่จะทำงานให้ได้ดี และออกมาดีที่สุดเพื่อความหมายของการมีชีวิต ที่หลายคนผูก "อิคิไก = การทำงาน" มันจึงทำให้อิคิไกดูโหดร้ายและน่ากลัวขึ้นมาทันที แต่ในความจริงแล้ว "อิคิไก" แค่หมายรงมถึงความสุขเล็ก ๆ ง่าย ๆ ที่ทำให้คนญี่ปุ่นตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ ด้วยชีวิตที่มีความหมายและเป้าหมายของชีวิต
บางทีถ้าเราลองปรับมุมมองเสียใหม่ ตามหาอิคิไกของตัวเองให้พบ เราอาจจะเลิกเกลียดวันจันทร์ และหันไปเกลียดวันศุกร์ แบบสมัยที่เราแอบหลงรักใครสักคนที่โรงเรียน นั่นอาจจะเป็น "อิคิไก" ก็ได้ ใครจะไปรู้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in