เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น By John Hirst แปล วริศา กิตติคุณเสรี
  • รีวิวเว้ย (1111) ปัญหาประการสำคัญของการเรียนหนังสือแบบไทย ๆ โดยเฉพาะในระบบการศึกษาของไทยและการใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ในการกำกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ สำหรับวิชาประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์อื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเรียน กระทั่งการเรียนในห้องเรียน มันส่งผลต่อผู้เรียนใน 2 กรณี ได้แก่ (1) ผู้เรียนไม่เข้าใจภาพกว้างและความต่อเนื่องของสิ่งที่เรียน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แนวคิดหลังการ ที่ทุกอย่างถูกทำให้แยกขาดออกจากกัน ตัดขาดบริบททำให้ผู้เรียนยากที่จะเข้าใจภาพร่วมและความต่อเนื่องขององค์ความรู้ และ (2) ผู้เรียนถูกตัดขาดจากเหตุการณ์ในระดับโลก เพราะการใช้ พ.ศ. ทำให้การเชื่อมโยงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของไทยไปสู่ประวัติศาสตร์โลก หรือเชื่อมโยงประวัติศาสตร์โลกกลับมาที่ไทยผู้เรียนต้องมานั่ง (+/- 543) ซึ่งมันไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนประวัติศาสตร์แบบสร้างความเข้าใจกระทั่งมันเป็นการสร้าง "ความเป็นอื่น" เพราะมันจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจและคิดไปเองว่า "เมืองไทยไม่เหมือนที่ใดในโลก" ทั้งที่จริง ๆ แล้วเหตุการณ์ในระดับโลกหลายเหตุการณ์ก็ส่งผลสืบเนื่องโดยตรงต่อสังคมไทยมาตลอด
    หนังสือ : ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น
    โดย : John Hirst แปล วริศา กิตติคุณเสรี
    จำนวน : 304 หน้า

    "ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น" หนังสือประวัติศาสตร์ยุโรปที่แปลมาจากหนังสือ "The Shortest History of Europe" ของ John Hirst นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลีย แถมพวงด้วยการเป็นนักวิจารณ์สังคม (ตามที่ประวัติผู้เขียนเขียนไว้ท้ายเล่ม) ซึ่งนั้นเองอาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนังสือ "ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น" บอกเล่าประวัติศาสตร์ยุโรปในภาพกว้างแบบสั้น กระชับ แต่ก็แอบจิกในหลาย ๆ เรื่องราวในประวัติศาสตร์ยุโรปที่เกิดขึ้น

    อาจจะเรียกได้ว่า "ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น" คือหนังสือที่เหมาะกับผู้อ่านที่สนใจประวัติศาสตร์ช่วงยาวของยุโรปแต่ก็มีความ "ขี้เกียจ" เป็นทุนเดิม และเบื่อหนายที่จะต้องมานั่งจำชื่อตัวละคร เหตุการณ์ เมือง สถานที่และอื่น ๆ ที่หากเราไปอ่านจากหนังสือประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ช่วง "ก่อนประวัติศาสตร์" จนถึง "สงครามโลกครั้งที่ 2" เป็นไปได้ว่าผู้อ่านอาจจะถอดใจตั้งแต่อ่านถึงยุคกลาง ซึ่ง "ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น" ได้ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ยุโรปแบบช่วงยาว ให้สั้นเข้า กระชับขึ้น และเห็นภาพต่อเนื่องกันนับตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงช่วงวงครามโลกครั้งที่ 2

    โดยหนังสือ "ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น" เล่มนี้แบ่งโครงสร้างของการเล่าเรื่องออกเป็น 3 ภาคหลัก 1 บทนำ 2 บทคั่น และ 10 บทย่อย โดยเนื้อหาของหนังสือ "ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น" แบ่งเป็นดังนี้

    บทนำ

    [ประวัติศาสตร์แบบสุดสั้น]
    บทที่ 1 ยุโรปยุคคลาสสิคและยุคกลาง
    บทที่ 2 ยุโรปยุคสมัยใหม่
    บทคั่น ความรู้สึกแบบคลาสสิค

    [ประวัติศาสตร์แบบยาวขึ้น]
    บทที่ 3 การรุกรานและการยึดครอง
    บทที่ 4 รูปแบบการปกครองภาค 1
    บทที่ 5 รูปแบบการปกครองภาค 2
    บทที่ 6 จักนพรรดิและพระสันตะปาปา
    บทที่ 7 ภาษา
    บทที่ 8 สามัญชน
    บทคั่น ยุโรปมีดีอะไร

    [พลังทำลายล้าง]
    บทที่ 9 การพัฒนาอุตสาหกรรมและการปฏิวัติ
    บทที่ 10 สงครามโลกครั้งที่ 2

    เมื่ออ่านหนังสือ "ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น" จบลง สิ่งที่ได้รับแน่ ๆ คือเรื่องของ "ความรู้" ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของประวัติศาสตร์ยุโรปในรูปแบบที่สั้น กระชับ และง่ายต่อการทำความเข้าใจสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ในภาพกว้างและยาวแต่สั้น สำหรับการทำความเข้าใจและไปต่อยอดในประเด็นที่สนใจสำหรับผู้อ่านต่อไปได้

    นอกจากนี้เมื่ออ่าน "ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น" จนจบเราพบว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งที่อ่านแล้ว "โคตรสนุก" ถ้าไม่บอกมาก่อนในบทต้นว่าผู้เขียนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ในใจคิดเพียงว่าผู้เขียนเป็นคนมีอารมณ์ขัน (กวน...) ที่มีความรู้และถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุโปรและเกร็ดอื่น ๆ ได้อย่างสนุกสนาน ทำให้ตลอดความยาวของหนังสือไม่ได้สร้างความเบื่อหน่ายให้กับผู้อ่านแต่ประการใด

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in