เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย By นักรบ มูลมานัส
  • รีวิวเว้ย (1100) ความเชื่อของคนสมัยก่อนเกี่ยวกับเรื่องของการถ่ายรูปบุคคล วิญญาณและชีวิตจะถูกลดทอนลงเพราะส่วนหนึ่งถูกแบ่งเอาไว้ในภาพถ่าย ซึ่งความเชื่อชุดนี้ก็กลายมาเป็นฐานให้กับหนัง ละครหลาย ๆ เรื่อง ในยุคต่อมาความรับรู้เกี่วยกับเรื่องของการถ่ายรูปค่อย ๆ เปลี่ยนไป กลายเป็นว่าภาพถ่ายกลายมาเป็นหมุดหมายหนึ่งของการบันทึกความทรงจำ ที่เกี่ยวกับ คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ทำในแง่ดีและไม่ดีภาพถ่ายและอุปกรณ์ถ่ายภาพเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเสมอ กระทั่งยุคปัจจุบันที่การถ่ายรูปนั้นแสนง่าย การจดจำและการลบความจำในภาพถ่ายก็ง่ายแค่ปลายนิ้วจิ้ม ช่วงเวลาของการถ่ายรูปเพื่อสร้างภาพถ่ายในปัจจุบันหลายครั้งก็ไม่ได้เป็นเรื่องสลักสำคัญอีกต่อไปและถูกลดทอนให้เหลือเพียง 1 ในฟังชันของโทรศัพท์ที่ทุก ๆ เครื่องต้องทำได้ก็เพียงเท่านั้น
    หนังสือ : เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย
    โดย : นักรบ มูลมานัส
    จำนวน : 304 หน้า

    "เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของ "สยาม" ผ่าน "ภาพถ่าย" ที่ไม่ใช่แค่หยิบเอาภาพถ่ายแต่ละภาพมาวางและชี้ชวนให้ผู้อ่านดูว่าภาพนี้เกี่ยวกับอะไร ในภาพมีองค์ประกอบอะไรบ้าง หากแต่ "เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย" จะพาผู้อ่านไปดู "ข้างหลังภาพ" อันหมายถึงรูปแบบ วิธีการ ประวัติศาสตร์ วิธีคิด บริบทของช่วงเวลา และที่มาที่ไปของการถ่ายภาพหนึ่งภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าออกมาให้เป็นภาพดังที่เราเห็น

    โดยเนื้อหาของ "เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย" แบ่งออกเป็น 1 บทนำ 3 บทใหญ่ 1 บทส่งท้าย และ 9 บทย่อย ที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวของสยามในมิติทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม (ความตาย) ผ่านภาพถ่ายที่ถูกนำเสนอเอาไว้ในแต่ละบท

    บทนำ "เวทมนตร์" ของการมอง

    [การเมืองบนเรือนกาย]

    (1) สำรวจรอยยิ้มในภาพถ่าย: จากหน้านิ่งในภาพโบราณ สู่ยิ้มเบิกบานในภาพเซลฟี่

    (2) แต่งร่างอย่างใหม่แม้น ยุรเปียน: รัชกาลที่ 5 กับบทบาทหลากหลายในงานแฟนซี

    (3) อัตลักษณ์ในเรือนผม: พระเกศาเจ้าดารารัศมี กับอำนาจของความเป็นอื่น

    (4) คนแปลก/คนโปรด: ภาพถ่าย "คนป่า" ในดง "ผู้เจริญ"

    [ศิวิไลซ์ในวัตถุ]

    (5) อำนาจของการนั่ง: เก้าอี้ฝรั่งกับการเข้าสู่สมัยใหม่ของสยาม

    (6) ความตายในภาพถ่าย: ทรงจำของทรงจำแห่งยุควิกตอเรีย

    [สัญญะ ณ สถาปัตย์)

    (7) วิหารแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์: เบื้องลึกเบื้องหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม

    (8) ประวัติศาสตร์เสียจริต: พิจารณา "หลังคาแดง" สำรวจ "ความบ้า"

    (9) จากเวนิสสู่สยาม: นัยสำคัญ เบื้องหลังสถาปัตย์ทำเนียบรัฐบาลไทย

    [บทส่งท้าย] ความสมจริงที่ถูกจัดแจง

    เมื่ออ่าน "เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย" จบลง เราจะพบว่าหลายหนความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการถ่ายภาพ ก็ส่งผลโดยตรงต่อวัฒนธรรมของสังคมหนึ่ง ๆ และในหลายครั้งการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมักเดินอยู่ในวงรอบของประวัติศาสตร์ ที่นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเรียกมันว่ากงล้อของประวัติศาสตร์ และภาพถ่ายก็เป็นหนึ่งเครื่องมือยืนยันภาพเหตุการณ์ของการหมุนกงล้อประวัติศาสตร์ตากสยามถึงไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ทางการเมือง น่าสนใจว่าอีกนานเท่าไหร่ประวัติศาสตร์จากสยามถึงไทยจะเปลี่ยน เปลี่ยนแบบเนื้อเพลง "ประวัติศาสตร์" ของ "คริสติน่า อากีล่าร์" ที่ร้องว่า

    ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ
    ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน
    เปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอเท่าเทียมกัน
    ประวัติศาสตร์ในวันนี้จะแตกต่างจากวันนั้น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in