รีวิวเว้ย (1094) "เราในวันพรุ่งนี้ไม่ใช่เราในวันนี้ และไม่ใช่เราในเมื่อวาน" อ่านเจอมาจากหนังสือเล่มไหนสักเล่มนี่แหละแต่ก็จำไม่ได้แล้วว่าเล่มไหน เอาจริงตอนที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวครั้งแรกเราก็คิดว่าทำไมเราจะไม่เหมือนเราคนเดิมในเมื่อก่อนทั้ง ๆ ที่กูก็ยังเป็นกู แต่พอตัวเลขอายุเพิ่มมากขึ้นและเวลาในชีวิตเดินถอยหลัง เราเริ่มคิดว่าคำพูดดังกล่าวก็น่าสนใจเหมือนกันนะ เพราะหากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนก่อนที่จะเข้าเรียนในมหาลัย สายตาในการมองโลกและใช้ชีวิตของเราก็ไม่ได้เหมือนกับทุกวันนี้ที่เรามองโลกและใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ เมื่อก่อน "ความสุข" ของเราอาจจะเล็กเท่าขนมหนึ่งถุง แต่พอโตขึ้นอะไร ๆ ก็ดูจะเปลี่ยนไปทั่งที่เราก็ยังเป็นเราคนเดิม การเดินทาง การเรียนรู้ การอ่านและเห็นโลกมากขึ้นทำให้เรามีเรื่องต้องขบคิดและเปลี่ยนแปลงตัวเองในทุก ๆ วัน เหมือนที่อาจารย์ท่านหนึ่งที่เราเคยเรียนด้วยเขียนเอาไว้ใน Course Syllabus ที่ว่าด้วยเรื่องของ "ถุงเครื่องหลัง" และ "การสลักและขัดเกลาชีวิตของเรา" ในทุกวันที่เราลืมตาตื่นและเรียนรู้อะไรสักอย่าง แน่นอนว่า "เราในวันพรุ่งนี้ไม่ใช่เราในวันนี้ และไม่ใช่เราในเมื่อวาน"
หนังสือ : everywhere girl
โดย : juli baker and summer
จำนวน : 192 หน้า
ข้อความท่อนหนึ่งในหน้าที่ 13 ของ "everywhere girl" เล่มนี้ ได้อธิบายถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการที่จะนำเสนอในหนังสือเล่มนี้เอาไว้อย่างชัดเจน ข้อความดังกล่าวเขียนเอาไว้ว่า "หนังสือเล่มนี้คือการรวมบทบันทึก nowhere girl ที่ถูกเขียนในช่วงปี 2020 ถึง มกราฯ 2022 เป็นขวบปีที่ Nowhere girl stuck in this Nowhere land." (น. 13) ซึ่งช่วงเวลา 2020-2022 นับเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสสำหรับคนเกือบทั้งโลก แต่ก็อาจจะมีแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่ดูจะไม่เป็นเดือดเป็นร้อนกับช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ กลุ่มคนที่มองไม่เห็นคุณค่าของชีวิตคนหากแต่มองมันแค่ในฐานะของตัวเลข และเศษฝุ่นก็แค่นั้น
"everywhere girl" นับเป็นหนังสือที่รวบรวมเอาผลงานของ "juli baker and summer" ในหนักเวลาสำคัญช่วงหนึ่งของชีวิต หากใช้คำแบบที่นักสังคมศาสตร์มักหยิบมาอธิบายช่วงเวลาทางการเมือง เราอาจจะเรียกผลงานที่ปรากฏอยู่ใน "everywhere girl" เล่มนี้ ว่ามันคือบันทึกในช่วงของการ "เปลี่ยนผ่าน" ของคนคนหนึ่ง ในสังคมสังคมหนึ่ง ที่สภาพของสังคมแห่งนั้นเปลี่ยนไม่ผ่านมาตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และยังคงวนเวียนเหตุการณ์ในสังคมอยู่ภายใต้ภาพร่างของสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกกันว่า "วงจรอุบาทว์"
ความน่าสนใจประการหนึ่งของการติดตามผลงานของ juli baker and summer คือเราจะเห็นการบอกเล่าเรื่องราวบาฝอย่างในหลายมิติที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้ปรากฏชัด ๆ ในชิ้นงาน หากแต่ในช่วงหลังเราจะพบว่างานของ juli baker and summer คือภาพสะท้อนที่ปรากฏอยู่ใน "everywhere girl" ภาพสะท้อนของกลุ่ม และบุคคลที่มุ่งหวังอยากเห็นสังคมก้าวไปข้างหน้า ก้าวไปสู่เส้นทางที่มันดีกว่านี้ได้ รวมถึงความน่าสนใจอีกประการของ "everywhere girl" คือการบอกเล่าเรื่องราวของการต่อสู้ของึนรุ่ยก่อนหน้า ภาพทรงจำ ความหวังและความฝันที่ครั้งหนึ่งคนรุ่นก่อนเอาชีวิตเข้าแลก และในทุกวันนี้ภาพที่พวกเขาเคยร่างเอาไว้มันกำลังปรากฏขึ้นในสังคมแห่งนี้
โดยเนื้อหาของ "everywhere girl" อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนหน้าตามที่ข้อความในหน้า 13 บอกเอาไว้แล้ว เนื้อหาภายในเล่มได้พูดถึงเรื่องของ สังคม การเมือง ชีวิต ผู้คน แรงงาน ความสัมพันธ์ ที่ทุกสิ่งอย่างยึดโยงเข้าไว้ด้วยกันภายใต้คำว่า "ถ้าการเมืองดี"
นอกจากนี้ ในบทสุดท้ายของ "everywhere girl" เล่มนี้ ได้ทำหน้าที่เป็นบทความชิ้นสุดท้ายที่ทำหน้สที่ปิดท้ายคอลัมน์ "nowhere girl" บทบาทหนึ่งของห้วงชีวิตหนึ่งของผู้เขียน ที่ทำให้เราในฐานะของผู้อ่านติดตามผลงานของ juli baker and summer ตลอดมานับตั้งแต่บทความชิ้นแรก ๆ และผลงานชิ้นอื่น ๆ ทั้งในรูปแบบของหนังสือ บทความ และผลงานศิลปะ ในส่วนท้ายของหนังสือ "everywhere girl" เป็นการปิดฉากของ "nowhere girl" ได้อย่างสมบูรณ์และเป็นการเปิดฉากของ "everywhere girl" อันน่าประทับใจ
#EverywhereGirl #julibakerandsummer #NowhereGirl
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in