เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
คำที่พูดมาเยียวยากว่าโซจู By อีซอว็อน แปล ธัชชา ธีรปกรณ์ชัย
  • รีวิวเว้ย (959) การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ และการสื่อสารที่ดูจะได้ผลมากที่สุดทั้งผลดีและผลร้ายคงหนีไม่พ้นการสื่อสารด้วย "คำพูด" เพราะถ้าคำพูดไม่สำคัญเราคงจะไม่เห็นสำนวนไทยให้ความสำคัญกับคำพูดหรือการพูดมากขนาดนั้น เมื่อเทียบกับการเขียนหรือการสื่อสารรูปแบบอื่น ๆ แทบไม่ปรากฏความหลากหลายของสำนวนมากเท่ากับเรื่องของ "การพูด" นอกจากมาตรวัดอย่างจำนวนในสำนวนไทยแล้ว ค่านิยมของสังคมนี้ก็ดูจะให้ค่ากับความสามารถในการสื่อสารผ่านการพูดทั้งเรื่องของน้ำเสียง การใช้คำ ร-เรือ ล-ลิง รวมไปถึงหางเสียงและอื่น ๆ ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการพูดกับสังคมไทยเข้าไปอีก แต่การสื่อสารผ่านการพูดหรือคำพูดไม่ได้มีเฉพาะแค่สังคมไทยเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ หากแต่ในหลายสังคมการสื่อสารด้วยเสียงหรือคำพูดดูจะเป็นเรื่องสำคัญเกือบทั้งนั้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่หลายครั้งการสื่อสารผ่านเสียงดูจะลดจำนวนลงและกลายเป็นว่าการสื่อสารผ่านตัวอักษรเข้ามาแทนที่ แต่บ่อยครั้งการสื่อสารผ่านตัวอักษรเองก็สร้างปัญหามิใช่น้อย เพราะตัวอักษรไม่สามารถแสดงน้ำเสียงหรือลักษณะกิริยาของผู้ส่งได้ ทำให้หลายครั้งการสื่อสารผ่านตัวอักษรง่าย ๆ อย่างกระชับและได้ใจความอาจจะหวิดสร้างหายนะมาแล้วบ่อยครั้ง ยิ่งกับการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างความเห็นใจ หรือปลอบโยนในหลาย ๆ ครั้งตัวอักษรก็ทำให้แย่กว่าคำพูด แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะในหลาย ๆ ครั้งหายนะจาก "คำพูด" โดยที่ผู้พูดขาดคสามเข้าใจ ขาดความเห็นใจ ขาดความเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็ทำให้หายนะใหญ่หลสงเกิดขึ้นได้นับครั้งไม่ถ้วนอย่างกรณีล่าสุดที่เราอาจจะเคยเห็นข่าวผ่านตามาบ้าง ก็คือเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งไล่ให้แฟนของตัวเอง "ไปตายซะ" ซึ่งแน่นอนว่าตายจริง และกรณีดังกล่าวถูกตัดสินว่าผิดกฎหมายจริง (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ประเทศไทย ดินแดนที่กฏหมายอ่อนยวบยิ่งกว่าบวบผัดไข่เสียอีก)
    หนังสือ : คำที่พูดมาเยียวยากว่าโซจู
    โดย : อีซอว็อน แปล ธัชชา ธีรปกรณ์ชัย
    จำนวน : 344 หน้า

    หนังสือ "คำที่พูดมาเยียวยากว่าโซจู" เป็นหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นโดยนักให้คำปรึกษาชาวเกาหลีใต้ ที่ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาเรื่องของปัญหาครอบครัว การเข้าสังคมและการใช้ความรุนแรงผ่านกลุ่มบำบัด และเนื้อหาต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ใน "คำที่พูดมาเยียวยากว่าโซจู" ก็คือการหยิบเอาเรื่องราวและเรื่องเล่าต่าง ๆ จากการให้คำปรึกษาและการบำบัดของผู้เขียนมาแผ่กางเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความสามารถของ "คำพูด" ทั้งเรื่องของการเลือกใช้คำ และผลกระทบที่ตามมาจากการเลือกใช้คำและข้อความที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบริบท

    โดยที่เนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็นต้อนสั้น ๆ ขนาด 3-5 หน้า ต่อหนึ่งตอน ซึ่งมีทั้งที่มาที่ไปของเหตุการณ์ และบทสรุปที่เกิดขึ้นจากการเลือกใช้คำ หรือใช้คำแต่ละแบบเพื่อแก่ไขในแต่ละสถานการณ์ สำหรับความน่าสนใจประการสำคัญของ "คำที่พูดมาเยียวยากว่าโซจู" ไม่ได้อยู่ที่ "การให้กำลังใจ" หลายคนเห็นชื่อหนังสืออย่าง "คำที่พูดมาเยียวยากว่าโซจู" อาจจะเข้าใจว่ามันเป็นหนังสทอกำลังใจผ่านคำพูด แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะต้องเรียก "คำที่พูดมาเยียวยากว่าโซจู" ว่าเป็นหนังสือที่ "ให้คำพูดเพื่อส่งเสริมกำลังใจ" แต่มันวางอยู่บนฐานที่ว่าเราจำเป็นจะต้องเอามันไปปรับใช้กับชีวิตของเราเอง หรือเราอาจจะต้องลองเป็นคนที่เอ่ยคำพูดเหล่านั้น หรือเลือกที่จะไม่เอ่ยคำพูดเหล่านั้นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ

    อย่างที่บอกว่า "คำที่พูดมาเยียวยากว่าโซจู" ไม่ใช่หนังสือแนวให้กำลังใจ หากแต่ "คำที่พูดมาเยียวยากว่าโซจู" กำลังสอนให้เราเข้าใจและเรียนรู้ ดังข้อความที่ปรากฏอยู่ในหน้าสุดท้ายของหนังสือที่ว่า "เราช่วยเยียวยาคนให้มีชีวิตต่อไป และฆ่าคนให้ตายได้ด้วยคำพูด" เมื่อเป็นเช่นนั้นการใช้คำหรือเลือกใช้คำจึงเป็นเรื่องสำคัญที่หนังสือเล่มนี้พยายามบอกกับเรา

    เราชอบข้อความตอนหนึ่งของ "คำที่พูดมาเยียวยากว่าโซจู" และอยากจะลองตัดออกมาให้ได้อ่านกันดู เพราะอย่างน้อย ๆ จะได้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่คู่มือที่จะมีข้อความและกำลังใขเตรียมไว้ให้แบบสามารถเปิดใช้ หรืออ่านแล้วชุบชูใจได้ทันที ข้อความที่เราเลือกมามีดังนี้ "สุดท้ายทั้งคู่ก็หย่าร้างกัน เพียงเพราะคำพูดที่ว่า 'จะบอกหรือไม่บอกก็ไม่ต่างกัน' มนุษย์เราเกิดมาเพื่อร่วมแบ่งปันความสุข ความเศร้า หรือความทุกข์ใจ และจะพัฒนากลายเป็นความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม ได้แก่ พ่อแม่ลูก เพื่อนร่วมงาน  หรือถ้าถูกใจกันก็อาจกลายเป็นคู่รัก ถ้าไม่แบ่งปันก็จะไม่เกิดความสัมพันธ์ เป็นแค่ส่วนเสี้ยวของตัวบุคคล เมื่อพูดอะไรบางอย่างออกมา ย่อมมีบางสิ่งที่เปลี่ยนไป การพูดอาจทำให้ความสัมพันธ์ลึกซึ้งและไว้วางใจกันมากขึ้น เหมือนได้รับพลังที่ทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้" (น. 261)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in