รีวิวเว้ย (856) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นับตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กระทั่งปัจจุบัน (2564) เป็นเวลากว่า 8 ปีที่ "การเลือกตั้งท้องถิ่น" ไม่เคยเกิดขึ้น หลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีผู้บริหารที่อยู่มาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่การรัฐประหาร และบางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีผู้บริหารที่มาจากคณะรัฐประหารทำการแต่งตั้งนับตั้งแต่หลังวันที่ทำการรัฐประหาร บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้บริหารในส่วนของสภาท้องถิ่นและผู้นำที่ควรมาจากการเลือกตั้งก็ถูกคณะรัฐประหารตั้งให้ "ข้าราชการท้องถิ่น (ปลัด)" ทำหน้าที่ในการรักษาการในตำแหน่งของผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งนั้น ๆ นั่นทำให้การเมืองท้องถิ่นในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะชะงักงันหรือที่หลายคนเรียกว่า "ถูกแช่แข็ง" อันเกิดจากการกระทำของคณะรัฐประหาร ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพิ่งมีการจัดการเลือกตั้งขึ้น แน่นอนว่าการแข่งขันในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นที่ห่างหายไปนานกลับมาสร้างสีสันให้การเลือกตั้งได้อีกครั้ง รวมถึงสร้างความสนใจและตื่นตัวทางการเมืองให้กับประชาชนได้อย่างมาก ล่าสุดเพิ่งมีการประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นในระดับถัดมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในอีกไม่นานเกินรอ หลังจากที่สนามเลือกตั้งท้องถิ่นห่างหายจากกลไกของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยไปเป็นเวลากว่า 8 ปี
หนังสือ : คู่มือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
โดย : มนูญ วิเชียรนิตย์
จำนวน : 144 หน้า
ราคา : 150 บาท
เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมกับสนามเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเริ่มต้นในเร็ววัน รีวิวเว้ย และสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้เลือกนำเสนอหนังสือเรื่อง "คู่มือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น" นับเป็นการเปิดตัวหนังสือเล่มแรกของการรีวิวใน season ที่ 2 ของการร่วมงานกันระหว่าง "รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" สำหรับหนังสือ "คู่มือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น" เราอาจจะเรียกมันว่า "คู่มือ" สำหรับการลงเลือกตั้งท้องถิ่น 101 เพราะเนื้อหาในหนังสือ บอกเล่าขั้นตอน วิธีการ และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นโดยละเอียด และในหนังสือยังมีตัวอย่างของเอกสารที่จำเป็นสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งในส่วนต่าง ๆ ของเนื้อหามีการวิเคราะห์และอธิบายรายละเอียดของกฎกฎหมายการเลือกตั้ง และมีการยกตัวอย่างของคำตัดสินและพิจารณาในกรณีที่เกี่ยวข้อง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเคยได้มีการพิจารณาในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นรวมเข้าไว้ในส่วนของประเด็นต่าง ๆ
เนื้อหาภายใน "คู่มือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น" ประกอบไปด้วย 8 บทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการ "สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น" ที่เรียกได้ว่าในฐานะของคนอ่านเราก็เพิ่งรู้ว่าสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นมี ขั้นตอน กระบวนการ เอกสาร หลักฐาน และข้อบังคับมากมายขนาดนี้ โดยที่เนื้อหาในบทต่าง ๆ ประกอบไปด้วย
บทที่ 1 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
บทที่ 2 การสมัครรับเลือกตั้ง และการแต่งตั้งตัวแทนประจำที่เลือกตั้ง
บทที่ 3 การดำเนินการกรณีไม่มีชื่อในประกาศรายชื่อผู้สมัคร การดำเนินการกรณีถูกถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร
บทที่ 4 ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
บทที่ 5 การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในการเลือกตั้ง
บทที่ 6 การคัดค้านการเลือกตั้งและการเป็นผู้เสียหาย
บทที่ 7 การประกาศผลการเลือกตั้ง
บทที่ 8 บทบัญญัติที่เป็นความผิดและอัตราโทษ การสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่
ซึ่งเมื่ออ่าน "คู่มือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น" เราจะเข้าใจในขั้นตอนและวิธีการในการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น และหากใครที่เป็นผู้สมัครหรือตั้งใจว่าในสักวันหนึ่งข้างหน้า อยากลงไปมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นของตัวเอง หนังสือ "คู่มือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น" เหมาะสมกับการอ่านเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของระบบ ขั้นตอน และวิธีการของการสมัครรับเลือกตั้ง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in