รีวิวเว้ย (843) ใครสักคนเคยพูดเอาไว้ว่า "รักเป็นเรื่องของคนสองคน ... จริงหรือ (?) แต่ที่แน่ ๆ เมื่อรักพัฒนาไปกระทั่งถึงการแต่งงานนั่นจะไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน" ความรักหรือการรักถูกทำให้เป็นเรื่องโรแมนติกยิ่งของสังคมหนึ่ง และคสามโรแมนติกของรักมักจะแฝงเอาไว้ด้วยเงื่อนไขหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเสียสละ ความอดทน การให้เกียรติ การยอมรับ สถานะทางสังคม ความเหมาะสม และอื่น ๆ ที่เมื่อหลายครั้งการถอดคำว่า "รัก" ออกมานั่งจ้องดูดี ๆ เราอาจจะเข้าใจความหมายของมันคลาดเคลื่อนไปไกล โดยเฉพาะเมื่อมีคนถามว่า "เธอรักเราไหม (?)" มันคงไม่ต่างอะไรกับการที่ใครสักคนให้เรายืนกอดระเบิดแสวงเครื่องที่เวลากำลังเดินถอยหลัง หากเลือกตัดสาย (ตอบ) พลาดอาจจะตายห่าอยู่ตรงนั้น เพราะหลายครั้งเราก็ไม่สามารถเดาหรือแสวงหาคำตอบได้ว่า "เธอรักเราไหม (?)" มันคือคำถามที่ต้องการคำตอบแบบใด หากแต่ตอบส่ง ๆ ไปเพื่อให้เวลาบนระเบิดหยุดนับถอยหลัง เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า "รัก" ที่ตอบออกไปมันใช่จริง ๆ ก็ย้อนกลับไปที่คำพูดของใครบางคนที่เคยบอกเอาไว้อีกว่า "รักเป็นเรื่องของหัวใจไม่ใช่เรื่องของสมอง" บางครั้งมันก็คงใช้ แต่ถ้าไม่ใช่สมองเลยก็อาจจะ "เหี้ย" ก็ได้ในท้ายที่สุด แล้วโดยสรุป "รัก" มันจะหมายถึงอะไร หรือสิ่งใดกันแน่ รักมันจำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคนหรือกลุ่มคน รักที่บริสุทธิ์ (แบบที่นิยายชอบใช้) มันมีอยู่จริงไหม แล้วการใช้ความรักเพื่อทำร้าย ทำลายและฆ่าฟันคนเห็นต่าง ความรักแบบนั้นมันจะเรียกว่าความรักได้หรือเปล่า ทั้งหมดนี้เราเองก็ไม่รู้และไม่มีปัญญาพอที่จะหาคำตอบของคำถามทั้งหมดด้วย ดังนั้นเมื่อคนรักของคุณถามขึ้นมาว่า "เธอรักเราไหม" เมื่อนั้นตัวเลขเวลาบนระเบิดที่กอดอยู่กำลังเดินถอยหลัง "ขอให้ทุกคนโชคดี"
หนังสือ : รัก-และ-การปฏิวัติ: การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยความรัก ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยยุคสงครามเย็น
โดย : ธิกานต์ ศรีนารา
จำนวน : 304 หน้า
ราคา : 300 บาท
หนังสือ "รัก-และ-การปฏิวัติ: การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยความรัก ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยยุคสงครามเย็น" เป็นหนังสือวิชาการ ด้านประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของ "ความรัก" ที่ถูกศึกษาผ่าน "การเมืองวัฒนธรรม" โดยที่เนื้อหาของ "รัก-และ-การปฏิวัติ: การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยความรัก ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยยุคสงครามเย็น" คือการพาเราย้อนกลับไปทำความเข้าใจ "ความรัก" ที่อาจจะเรียกว่าเป็นความรักที่ผูกโยงตัวเองเข้ากับการเมืองวัฒนธรรม ที่เป็นขับเขี้ยวกันระหว่างความรักของสังคมชนชั้น ที่ในหนังสือแบ่งออกเป็นเจ้า ไพร่ กระฎุมพี ซึ่งความรักที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้นับเป็นการพาเราไปสำรวจ "ความรัก" ที่ผูกติดอยู่กับความหมายของการเมืองวัฒนธรรม
ซึ่งเนื้อหาของ "รัก-และ-การปฏิวัติ: การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยความรัก ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยยุคสงครามเย็น" จะมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจ "พัฒนาการของความรัก" ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายซ้ายไทย หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ความรักในมุมมมองของฝ่ายซ้ายมีพัฒนาการที่ตั้งคำถามต่อความรักแบบเจ้า ไพร่ กระฎุมพี และความรักในแบบของฝ่ายซ้ายมีลักษณะ ความสำคัญ และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงเข้ากับการเมืองวัฒนธรรมของฝ่ายซ้าย และการต่อสู้กับในเชิงอุดมการณ์ของสิ่งที่เรียกว่า "ความรัก"
โดยที่ "รัก-และ-การปฏิวัติ: การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยความรัก ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยยุคสงครามเย็น" ได้แสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงพัฒนาการของ "ความรัก" ที่ถูกสร้างขึ้น ส่งมอง และมองผ่านแนวคิดของปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่เคยปรากฎในสังคมไทยนับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2490 เป็นต้นมาที่แนวคิดในเรื่องของ "ความรักเพื่อส่วนร่วม" ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายเริ่มมีปรากฎขึ้น และหลังจากนั้นพัฒนาการของความรัก และความรักก็ถูกใช้ในฐานะของเครื่องมือหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับขวบการฝ่ายซ้าย (พคท.) ในช่วงสงครามเย็นด้วยเช่นเดียวกัน
หากพูดให้โรแมนติก "รัก-และ-การปฏิวัติ: การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยความรัก ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยยุคสงครามเย็น" ก็คือการเปิดมุมมองของ "ความรัก" ในห่วงเวลาหนึ่งที่ปรากฎขึ้นในสังคมไทย ที่อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยยืนยันคำพูดของใครอีกคนหนึ่งที่ว่า "love is all around" แม้กระทั่งในเขตทำการป่าเขาของ พคท. ก็ไม่สถานที่ที่จะเว้นว่างซึ่ง "ความรัก"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in