รีวิวเว้ย (841) "เรียนรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นพวกหัวรุนแรง" ข้อความนี้เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่กลับไปที่โรงเรียนเก่าและเจอครูเก่า ๆ ในโรงเรียน รวมถึงเวลาที่เวลามีญาติถามว่าเรียนที่ไหน และพอตอบไปว่า "รัฐศาสตร์ ปกครอง ธรรมศาสตร์" คำตอบที่ได้ก็จะออกไปในแนวทางเดียวกัน บางครั้งก็หันไปถามตรง ๆ ว่า "แล้วจะเสือกถามทำไมละครับ" (อันนี้เป็นนิสัยส่วนตัว)
เอาเข้าจริงภาพความรับรู้ของคนเรียนรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะ สาขาการเมืองการปกครองของธรรมศาสตร์ มักจะติดอยู่ในภาพจำของพวก "หัวรุนแรง" ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วถ้าเราเรียกการอธิบายกับผู้ใหญ่แบบไม่ยอมอ่อนข้อให้กับข้อมูลบางชุดที่ดูไม่ถูกต้องและมีข้อมูลมากกว่า 1 ชุดความจริง ก็คงไม่แปลกที่คนจบจากที่นี่จะถูกมองว่า "หัวรุนแรง" เพราะทุกวิชาในคณะรัฐศาสตร์ ถูกสอนบนฐานของการ "สร้างข้อถกเถียงในทางวิชาการ" ใครมีข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่หลากหลายก็แลกเปลี่ยนกันบนฐานของข้อมูลและทฤษฎี แต่ให้บังเอิญว่าเวลาที่พวกเราคุยกันเอง หรือถกกับคนอื่นมันดันติดจริตของพวกป่าเถื่อนโผงผาง ทำให้คนจากข้างนอกชอบมองว่า "มึงจะต่อยกันเมื่อไหร่"
แน่นอนว่าเราไม่ได้ถกเถียงแค่เฉพาะในกลุ่มเพื่อน พี่ น้อง เท่านั้นแต่ที่นี้สอนให้เราแลกเปลี่ยนและถกเถียงกับ "อาจารย์ผู้สอน" ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งบางครั้งมันก็อาจจะคล้ายว่าเด็กและอาจารย์กำลังจะใส่เดียวกันเอง แต่ตั้งแต่เรียนมาจนเรียนจบก็ยังไม่เคยเห็นใครในคณะชกปากกันด้วยเรื่องของการถกเถียงที่เอาองค์ความรู้ ทฤษฎี และข้อมูลมาวางเป็นฐานของการถกเถียง
ความยากลำบากอีกประการเวลาคนถามว่า "รัฐศาสตร์ สอนอะไร" คำตอบของคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่อาจารย์มีความหลากหลาย หยิบจับเอาปรากฎการณ์ในสังคมมาใช้เป็นเครื่องมือการเรียนการสอนได้ตลอดเวลา การจะตอบว่ารัฐศาสตร์สอนอะไร หรือรัฐศาสตร์เรียนอะไร มันจึงไม่ง่ายและหลายครั้งที่ตอบก็ดูเหมือนกับว่าคำตอบเหล่านั้นดู "กวนตีน" ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ แค่ตอบให้มันสั้น ง่าย กระชับ ไม่ค่อยได้ก็แค่นั้นเอง หากให้ขมวดสิ่งที่เรียนรู้ทั้งหมดเพื่อให้ได้คำตอบคงต้องบอกว่า "รัฐศาสตร์สอนให้หัดทำความเข้าใจในทุกสิ่ง และอย่าหยุดแสวงหาการเรียนรู้" แต่ก็อยู่ที่ตัวผู้เรียนอีกนั่นแหละว่าจะเลือกเข้าใจ หรือจะเข้าใจสิ่งไหนได้บ้างมันก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล และจะหยุดเรียนหรือเลือกลงหลักปักฐานกับชุดความรู้แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วยเช่นเดียวกัน
หนังสือ : การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์ (ปกแข็ง)
โดย : ประจักษ์ ก้องกีรติ บรรณาธิการ
จำนวน : 448 หน้า
ราคา : 630 บาท
"การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์" หนังสือที่รวมบทความของคณาจารย์สาขาการเมืองการปกครองของ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 10 คน 13 บทความ ที่ว่าด้วยเรื่องของหลักการและเรื่องพื้นฐานที่นักศึกษาของสาขาการเมืองการปกครอง และนักศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในสาขาอื่น ๆ จะต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อำนาจนำ รัฐและชาติ สถาบันการเมือง การกระจายอำนาจ การเมืองการปกครองท้องถิ่น จิตวิทยาการเมือง พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ความรุนแรงและสันติวิธี เพศสภาพและการเมืองสตรีนิยม และคำถามสำคัญ 7 ประการสำหรับนักเรียนรัฐศาสตร์
โดยที่เนื้อหาแต่ละบทที่ปรากฎในหนังสือ "การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์" คือการสะท้อนความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ในสาขาการเมืองการปกครอง ที่เราอาจจะเรียกว่าเป็นอาจารย์รุ่นกลาง และรุ่นใหญ่ของคณะ ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนี้ยังไม่ใล้ภาพสะท้อนขององค์ความรู้ทั้งหมดของสาขาการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะเมื่อคณะรับอาจารย์รุ่นใหม่ ที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นใหม่และร่วมสมัยอย่าง "การเมืองดิจิทัล และประชาธิปไตยดิจิทัล" เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสาขาปกครอง และอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่เลี่ยวชาญในเรื่องของ "ฟุตบอลกับการเมือง" ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลวัตรของโลกวิชาการ กระทั่งวิชารัฐศาสตร์เองก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลาเพื่อให้เข้ากับบริบทและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
"การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์" สำหรับใครที่จบจากที่นี้มาก็จะรู้ว่าการใช้คำว่า "หลักเบื้องตน" และ "สำนักธรรมศาสตร์" ของหนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้สะท้อนองค์ความรู้ทั้งหมดของสาขาปกครอง ถ้าให้คิดเป็นร้อยละมันอาจจะเป็นร้อยละ 25 ของทั้งสาขา (สำนัก) แต่เนื้อหาในแต่ละบท จากอาจารย์ทั้ง 10 คน 13 บทความ มันคือการอ่านที่ Fulfill ให้กับเราอีกครั้งหนึ่ง และในฐานะของคนที่อ่านหนังสือมาพอสมควร และหนังสือหลายเล่มที่อ่านอยู่ทุกวันนี้มาก็มาจากการต่อยอดองค์ความรู้จากวิชาพื้นฐานของสาขา (ลมปราณและกระบวนท่า) ที่ถ้าเราพื้นฐานดี การต่อยอดขยายความก็จะดีไปด้วย และ "การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์" ก็คือหนังสือที่ทำให้เรากลับไปทำความเข้าใจในลมปราณและกระบวนท่าพื้นฐานเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง คล้ายกับจอมยุทธ์ที่ฝึกวิชามาเนิ่นนานและเป็นเจ้ายุทธจักร ซึ่งในท้ายที่สุดทุกจุดสูงสุดของทุกวิชาก็มาจากรากฐานลมปราณและกระบวนท่าที่หยั่งรากได้มั่นคง "การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์" คือคัมภีร์ที่คอยย้ำเตือนกับเราว่า ไม่ว่าจะเก่ง กล้า สามารถถึงขนาดเป็นเจ้ายุทธจักรแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ "พื้นฐาน" ที่ต้องฝึกฝนและขัดเกลาอยู่เนือง ๆ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in