เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ชาตินิยมในแบบเรียนไทย By สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ
  • รีวิวเว้ย (830) อยู่ดี ๆ ก็โดน "สลิ่ม" ด่าและแนะนำกับว่าให้เรา "หัดอ่านหนังสือบ้างนะ" เราก็คิดนะว่าที่กูพยายามทำ "รีวิวเว้ย" จนมันมาถึงเล่มที่ 830 แบบนี้ไม่เรียกว่าอ่านหนังสือหรืออย่างไร (?) ด้วยความสงสัยเราเลยขอให้สลิ่มท่านนั้นแนะนำหนังสือที่เขาคิดว่าเราควรจะต้องอ่าน ชื่อของ "ประวัติศาสตร์ที่เราลืม" ปรากฎขึ้นในช่องข้อความ เรานั่งคิดอยู่พักนึงว่าหนังสือชุดนี้เป็นชุดหนังสือที่เพิ่งถูกเขียนขึ้นไม่นานนัก และเราจำได้ว่าเคยอ่านเล่มแรกของชุดแต่อ่านไม่จบ อาจจะด้วยช่วงนั้นมีภาระของการเรียนปริญญาโท หรืออาจจะด้วยคิดว่าอ่านแล้วเสียเวลาก็จำได้ไม่ถนัดนัก และตอนนี้ก็ดันจำไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนั้นไปกองอยู่ที่ไหน แต่ก็อย่างว่าเพื่อไม่ให้ "สลิ่ม" ท่านนั้นเสียน้ำใจ เราจะหยิบเอาหนังสือประวัติศาสตร์ที่ "คนไทยควรอ่าน" มาแนะนำเป็นหนังสือเล่มที่ 830 ของรีวิวเว้ย และหนังสือเล่มนี้เหมาะควรอย่างมาที่ "สลิ่ม" ท่านนั้น "ต้องอ่าน" เพื่อจะได้ทำความเข้าใจบริบทของการรับรู้เรื่องของ "การสร้างชาติ (นิยม) แบบไทย ๆ ในแบบเรียน" ที่เราเชื่อว่าสลิ่มท่านนั้นน่าจะเป็นหนึ่งในผลผลิตลิ้นสำคัญของแบบเรียนชาตินิยมของกระทรวงศึกษาธิการ 
    หนังสือ : ชาตินิยมในแบบเรียนไทย
    โดย : สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ
    จำนวน : 268 หน้า
    ราคา : 240 บาท 

    "ชาตินิยมในแบบเรียนไทย" หนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นมาผ่านการรวบรวมนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มาทำการศึกษาเรื่องของ "เพื่อนบ้าน" ที่บทบาทของเพื้อนบ้านปรากฎอยู่ในแบบเรียนไทย โดยที่เนื้อหาของ "ชาตินิยมในแบบเรียนไทย" คือการทำความเข้าใจและหาคำตอบของการ "สร้างภาพของเพื่อนบ้าน" ในฐานะของ "ศัตรูคู่แค้น" ระหว่างเพื่อนบ้านและไทย อาทิ การสร้างความรับรู้เรื่อง "พม่าเผากรุงศรีอยุธยา" หรือการสร้างความรับรู้เรื่อง "กบฏเจ้าอนุวงศ์" และอื่น ๆ ที่ปรากฎสถานะในแบบเรียน "สร้างชาตินิยม" ของไทย ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะแบบเรียนในลักษณะนี้ทำให้คนไทยหลายคนยังคงจงเกลียดจงชังและดูหมิ่นประเทศเพื่อนบ้าน โดยปรากฏออกมาในรูปของคำด่าว่า "ลาว" บ้าง หรือ "ชาติก่อนพวกมันเคยเผากรุงศรีทำให้ต้องมาทำงานใช้แรงงานสร้างประเทศเราอย่างในทุกวันนี้" 

    "ชาตินิยมในแบบเรียนไทย" พาเราไปหาคำตอบในเรื่องของการสร้างภาพของเพื่อบ้านในฐานะศัตรูเพื่อสนองตอบความต้องการของคนบางกลุ่มในสังคมสยาม-ไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองหรือคนบางกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ในการสร้าง "ศัตรูร่วมของความทรงจำ" โดยที่ "ชาตินิยมในแบบเรียนไทย" พาเราย้อนกลับไปดูที่จุดกำเนิดของการเขียน "ประวัติศาสตร์แห่งชาติ" ภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยม โดยเฉพาะการเขียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมลงในแบบเรียน เพื่อสร้างชุดความทรงจำร่วมบางประการภายใต้สิ่งที่เรียกว่า "ความรักชาติ" แต่ชาติที่ถูกทำให้รักนั้นคือชาติที่สร้างขึ้นโดยการจัดระเบียบความทรงจำผ่าน "มายาคติของชาตินิยม" กระทั่งผลสะท้อนของ "ชาตินิยมในแบบเรียนไทย" ปรากฏชัดเจนในทุกยุคสมัยกระทั่งถึงปัจจุบัน ที่ถ้าเราลองไปเปิดดูแบบเรียนของบางรายวิชาเราก็จะยังพบว่าแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการยังคงมุ่งเน้นการ "ชาตินิยมในแบบเรียนไทย" อย่างไม่รู้จบรู้สิ้น เก่งแต่สร้างความทรงจำบาดแผลที่ถูกบิดเบือนจนหลายคนที่เป็นผลผลิตของสิ่งเหล่านี้ "ขลาดกลัว" และ "โง่เขลา" จนเกินกว่าจะกล้ารับความจริงจากหลาย ๆ ทาง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in