เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เศรษฐกิจการเมืองของการตัดถนนในพระนคร By ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์
  • รีวิวเว้ย (809) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    กรุงเทพฯ เป็นเมือง "น้ำ" ไม่ใช่แค่ในความหมายของการเป็นเมืองที่มักจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในฐานะของการเป็นพื้นที่ราบภาคกลาง และระบบการระบายน้ำที่ดูจะไม่สามารถทำงานได้สมชื่อของระบบการระบายน้ำเท่าไหร่นัก แต่การเป็นเมืองน้ำของกรุงเทพฯ อาจจะต้องนับย้อนไปในช่วงเวลาของกาลก่อน ก่อนที่จะมาเป็นกรุงเทพฯ อย่างในปัจจุบัน หากย่อนกลับไปในช่วงต้นรัตนโกสินทร์หรือไกลกว่านั้นอีกสักหน่อย เราจะพบว่าพื้นที่ของกรุงเทพฯ (ปัจจุบัน) เป็นเมืองที่อาศัยน้ำเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะน้ำอยู่ในทุกกิจกรรมของคนในช่วงเวลานั้นกระทั่งเรื่องของการสัญจรทางน้ำ ที่เป็นการสัญจรรูปแบบหลักของเมืองกรุงเทพฯ เมื่อครั้งอดีตกาล โดยที่เราสามารถมองเห็นประวัติศาสตร์ของการสัญจรในครั้งอดีตที่ยังพอหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันได้บ้าง อาทิ คลองขุดต่าง ๆ ในบริเวณเขตพระนคร และคลองสัญจรสายสำคัญ ๆ โดยรอบพื้นที่ของกรุงเทพฯ การตั้งบ้านเรือนของชุมชนดั้งเดิมบางชุมชนที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันที่ยังมีบางหลังหันหน้าเข้าหาน้ำ หันหลังให้ถนน ก็เพราะเหตุผลของการใช้น้ำเป็นเส้นทางสัญจรหลักของคนในสมัยก่อน กระทั่งความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเริ่มเข้ามาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ทำให้ "ถนน" กลายมาเป็นเส้นทางสัญจรของเมืองมากยิ่งขึ้น และในปัจจุบันถนนก็กลายมาเป็นเส้นทางหลัก และทางสัญจรอย่างคลองน้ำลดบทบาทลงกลายไปเป็นแค่เส้นทางการระบายน้ำ หรือหลายคลองก็ถูกถมให้กลายเป็นถนนดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
    หนังสือ : เศรษฐกิจการเมืองของการตัดถนนในพระนคร สมัยรัชกาลที่ 1-5
    โดย : ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์
    จำนวน : 341 หน้า
    ราคา : 390 บาท

    "เศรษฐกิจการเมืองของการตัดถนนในพระนคร สมัยรัชกาลที่ 1-5" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของการสร้าง "ถนนหนทาง" ในพระนครในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยที่เนื้อหาของหนังสือสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ภาคใหญ่ ๆ คือภาคแรกว่าด้วยเรื่องของบริบทของการสร้างถนนในพระนคร ที่บอกเล่าเรื่องของการสัญจรในครั้งอดีตที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาจนเป็นถนนหนทางตามแบบของตะวันตก และถูกทำให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้นในแต่ละรัชสมัย และภาคที่สองว่าด้วยเรื่องของบริบทปัจจัยที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา หรือเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การเร่งสร้างถนนและพัฒนาให้ได้มาตรฐานตามแบบของตะวันตก

    "เศรษฐกิจการเมืองของการตัดถนนในพระนคร สมัยรัชกาลที่ 1-5" ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจบริบทบางประการของการตัดถนน หรือการสร้างทางที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นมรดกตกทอดจากอดีต ที่ทำให้กรุงเทพฯ มีลักษณะของถนนหนทางที่มีซอยย่อย มีแยก มีย่าน และมีซอยตันอยู่เต็มไปหมด เพราะหากเราลองอ่านเนื้อหาใน "เศรษฐกิจการเมืองของการตัดถนนในพระนคร สมัยรัชกาลที่ 1-5" เราจะพบว่าถนนหลายสายถูกสร้างขึ้นบนฐานคิดของการใช้ประโยชน์จากพื้นที่แบบตัดขาดจากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบถนนหนทาง อาทิ การที่อยากจะสร้างอะไรสักอย่างบนพื้นที่นี้ ทำให้ถนนต้องถูกสร้างให้เชื่อมเข้ากับพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่วิธีการสร้างเมืองหรือการวางผังแบบในปัจจุบันที่จะมีการคิดคำนวนเรื่องของการใช้พื้นที่ก่อนที่จะสร้างเส้นทาง หรือที่ปรากฎในปัจจุบันอย่างการสร้างถนนเพื่อขยายความเจริญออกไปสู่เขตชาญเมือง เลยทำให้ระบบถนนของกรุงเทพฯ ดูจะแปลกประหลาดเพราะมันเกิดขึ้นจากฐานการคิดดังกล่าว แน่นอนว่าถนนหลายเส้นยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

    นอกจากนี้ "เศรษฐกิจการเมืองของการตัดถนนในพระนคร สมัยรัชกาลที่ 1-5" ยังช่วยให้เราเข้าใจพัฒนาการของประวัติศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ ของกรุงเทพฯ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมันทิ้งหลักฐานบางอย่างในทางประวัติศาสตร์ในเรื่องของการใช้งานพื้นที่เอาไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ ย่านต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันหลายย่านก็เป็นมรดกตกทอดจากการตัดถนนเมื่อครั้งอดีต และแน่นอนว่ายังมีอีกหลายเมืองในหลายจังหวัดของประเทศไทย ที่หากลองทำการศึกษาแล้วเราอาจจะพบความสัมพันธ์ของถนนกับการเป็นเมืองของพื้นที่แต่ละแห่งด้วยเช่นเดียวกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in