เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย By ยงยุทธ ชูแว่น
  • รีวิวเว้ย (807) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    เวลาที่เราเรียนวิชา "การเมืองการปกครองท้องถิ่น" ในห้องเรียนวิชารัฐศาสตร์ หลายครั้งเนื้อหาของการเรียนมุ่งเน้นไปที่เรื่องของโครงสร้างของระบบการปกครองท้องถิ่น ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการด้านการเงินการคลังของท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งหน้าที่ของท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะต่าง ๆ และขอบเขตของเนื้อหาก็จะขยายออกไปสู่ระบบการปกครองท้องถิ่นของต่างประเทศเพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงแนวทางและบริบทของในต่างประเทศว่า มีพัฒนาการเช่นไร ดำเนินไปเช่นใด และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการจัดการปกครองท้องถิ่นอย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าในเรื่องของระบบ โครงสร้าง ทฤษฎี เทคนิค วิธีและนวัตกรรมการปกครองท้องถิ่น นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ แต่ในฐานะของนักเรียนรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครองคนหนึ่ง เราคิดว่าบริบทของการศึกษาในเรื่องของ "ท้องถิ่น" โดยเฉพาะท้องถิ่นในประเทศไทย อาจจะยังขาดบริบทในเรื่องของ "การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น" ที่หลายครั้งแนวทางของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อาจจะช่วยให้เรามองเห็นภาพจากต่างมุมมองในเรื่องของการปกครองท้องถิ่นด้วยเช่นเดียวกัน เพียงแต่มันอาจจะเป็นมุมมองที่ต่างออกไปจากที่สายตาของเราคุ้นชิน
    หนังสือ : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย
    โดย : ยงยุทธ ชูแว่น
    จำนวน : 496 หน้า
    ราคา : 495 บาท
      
    "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย" หนังสือขนาดหนาที่ว่าด้วยเรื่องของประเด็นในวงการวิชาประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของ "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย" ที่ในหลาย ๆ ครั้งเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จะพบว่าบริบทของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในไทยมีปรากฎไม่มากนักเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นท้องถิ่นในทางประวัติศาสตร์ดูจะมีพลวัตรและเรื่องเล่า เรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษ์และเอกลักษ์ของพื้นที่ได้ดีกว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักของรัฐไทยเสียอีก

    "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย" แบ่งการนำเสนอในเล่มออกเป็น 2 ส่วน โดยที่ส่วนแรกมุ่งเน้นในเรื่องของการทบทวนแนวทาง แนวคิด ทฤษฎี ความเป็นมาและบริบทของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทยในช่วงเวลาที่มันขาดหายไปและการขึ้นมาของกระแสที่นำมาสู่การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทยในเวลาต่อมา ว่ากระแสดังกล่าวมีที่มาเช่นไร และมีพลวัตรที่เกิดขึ้นกับวงการการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทยอย่างไร ส่วนที่สองว่าด้วยเรื่องของพลวัตรของแนวคิดการศึกษาในเรื่องของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทย ว่าแนวทาง ทฤษฎีหรือวิธีวิทยาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นต่อวงการการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทยนั้นเป็นเช่นไร และจะดำเนินไปอย่างไรในภายหน้า

    ความน่าสนใจประการหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย" คือการสร้างความรู้และความเข้าใจในบริบทของวงการการศึกษา "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย" และช่วยให้เราเข้าใจภาพของช่วงเวลาบางช่วงที่ขาดหายไปจากบันทึกประวัติศาสตร์กระแสหลักของรัฐไทย และ "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย" ยังช่วยย้ำเตือนให้เราเข้าใจว่า "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น" ของท้องถิ่นแต่ละแห่งนั้นมีความสำคัญไม่แพ้ประวัติศาสตร์กระแสหลักของรัฐเลยสักน้อย ในบางครั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเสียอีกที่อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาบางประการที่ท้องถิ่นนั้น ๆ กำลังเผชิญ 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in