รีวิวเว้ย (769) หากมีใครสักคนที่หาญกล้าวิจารณ์สมบูรณาญาสิทธิ์ไทย ชื่อของ "ถวัติ ฤทธิเดช" น่าจะปรากฎขึ้นมาเป็นคนแรก และเกือบจะเป็นคนเดียวในสังคมแห่งนี้ กระทั่งเมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามดัง ๆ ถึงสิ่งเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการ "ตั้งคำถาม" ที่สามัญและธรรมดาที่สุด แต่ก็แปลกที่ตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบนเส้นทางสายประชาธิปไตยที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของสังคมไทยกลับไม่มีใครกล้าตั้งคำถามที่สามัญธรรมดาเหมือนพวกเขาคนรุ่นใหม่เลย
และที่น่าแปลกใจไปกว่านั้นคือ "ระบบยุติธรรมไทย" ดูจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยนับตั้งแต่ก่อน 2475, หลัง 2475 กระทั่งมาถึงปัจจุบัน (2564) ระบบกระบวนการยุติธรรมของไทย ยังคงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้มีอำนาจ ในการกลั่นแกล้งประชาชน โดยเฉพาะกับประชาชนที่หาญกล้า "ตั้งคำถาม" ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันก็คือคำถาม "สามัญธรรมดา" ที่หากตอบได้หรือยอมรับฟังมันบ้าง มันอาจจะเป็นผลดีต่อผู้ที่ถูกถามด้วยซ้ำไป น่าเสียดายที่หลายคนในประเทศนี้ไม่กล้าแม้กระทั่งเปิดหูเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนที่ให้ภาพของตัวเองในสายตาและการรับรู้ของบุคคลอื่น
หนังสือ : แรงงานวิจารณ์เจ้า
โดย : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
จำนวน : 280 หน้า
ราคา : 295 บาท
"แรงงานวิจารณ์เจ้า" หนังสือที่ถูกนำกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องราวของการสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ "ถวัติ ฤทธิเดช" หรือที่รู้จักกันในวงนักเรียนสายสังคมศาสตร์ว่าตัวเขาคือผู้ที่หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย ในช่วงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ใหม่ ๆ โดยหลายคนรับรู้เรื่องราวของเขาในฐานะผู้ฟ้องร้องรัชกาลที่ 7 ในข้อหาหมิ่นประมาทราษฎร ในช่วงเวลานั้นเองทั่งกลุ่มผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง และกลุ่มผู้นิยมเจ้าดูจะงงไปตาม ๆ กันกับการกระทำของถวัติในครั้งนั้น และถวัติก็กลายเป็นผู้ที่ถูกสายตาของสังคมมองอย่างแปลกประหลาดตลอดมา
เราอาจจะเรียก "แรงงานวิจารณ์เจ้า" ได้ว่ามันเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ของ "คนสามัญธรรมดา" ในสังคมที่ประวัติศาสตร์ถูกสงวนเอาไว้ให้เขียนถึงเฉพาะบุคคลสำคัญ หรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จตามกรอบธรรมเนียมค่านิยมของสังคมแห่งนี้ หากแต่ "แรงงานวิจารณ์เจ้า" ก็เขียนถึงชีวิตของคนธรรมดา ที่ค่อนไปทางล้มเหลวตามค่านิยมของสังคมในวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยซ้ำไป
น่าแปลกใจที่ "แรงงานวิจารณ์เจ้า" ฉายภาพของระบบต่าง ๆ ในสังคมไทยในช่วงเวลานั้นที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวโยงกับชีวิตของถวัติได้อย่างเห็นภาพ โดยเฉพาะภาพที่ทำให้เราในฐานะผู้อ่านเห็นว่า "สังคมนี้แทบไม่เปลี่ยนไปเลย" โดยเฉพาะในเรื่องของระบบราชการ ระบบกระบวนการยุติธรรม และระบบคิดของกลุ่มคนชนชั้นนำของสังคม น่าสนใจเหมือนกันว่าเมื่อไหร่ที่สังคมไทยจะเดินไปถึงจุดที่เราจะเรียกสังคมแห่งนี้ได้ว่าเป็น "สังคมอารย" เสียที เพราะตั้งแต่บทเริ่มต้นชีวิตของ "ถวัติ ฤทธิเดช" กระทั่งถึงวันนี้ (2564) สังคมนี้แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย
แต่อยากไรเสีย เราก็ยังอยากให้นายได้อยู่เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมแห่งนี้นะกวิน
|||
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in