เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน By หนุ่มเมืองจันท์
  • รีวิวเว้ย (768) ในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้มีการไล่ลำดับของหนังสือชุด "ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ" ตั้งแต่เล่มที่ 1 จนถึงเล่มที่ 32 โดยมีการหยิบเอาหน้าปกของแต่ละเล่มมาวางต่อกัน เราในฐานะของผู้อ่านเลยลองไล่สายตาหา "ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ" เล่มแรกที่ได้อ่านเพราะเราเองก็จำไม่ได้แล้วว่ากี่ปีผ่านมาแล้วที่ตามอ่านหนังสือชุดนี้ในทุกครั้งที่วางเล่มใหม่ และสายตาก็ไปหยุดอยู่ที่ปกของ "เหยียบโลกไว้ไม่ต้องเครียด ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 7" เราเลยลองไปค้นปีที่พิมพ์ของเล่มนี้ดูก็พบคำตอบว่าพิมพ์ปี พ.ศ. 2549 (ถ้าข้อมูลการพิมพ์ในเว็บไม่ผิดพลาด) ลองบวกลบเลขเล่น ๆ จากเล่มนั้นมาถึงวันนี้ (2564) ก็เป็นเวลากว่า 15 ปีที่เรามีโอกาสได้อ่านงานของพี่ตุ้มเลื่อยมา

    พอลองเอาเลขอายุปัจจุบันในปี 64 ไปลบออกด้วยระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่าเราเริ่มอ่านหนังสือของพี่ตุ้มมาตั้งแต่อายุ 13 ขวบ พอมาคิดทั้งหใดเป็นตัวเลขแล้วพบว่าเราอ่านงานของพี่ตุ้มและในหลาย ๆ ครั้งก็ใช้หลายข้อเขียนจากหลาย ๆ เล่มเป็นคู่มือในการใช้ชีวิตบ้าง ปลอบโยนตัวเองบ้าง หรือบางครั้งก็ช่างแม่ง (เหมือนชื่อหนังสือของพี่ตุ้มหลาย ๆ เล่ม อาทิ เหยียบโลกไว้ไม่ต้องเครียด) บ้างตลอดมาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ในหน้าคำนำของเล่มที่ 33 พี่ตุ้มเขียนเอาไว้ว่า "อ่านกันมาจนเหมือนเป็นญาติน้ำหมึก" ด้วยเวลา 15 ปีที่ผ่านมาเราก็คงเป็นญาติกันจริง ๆ ครับ และที่สำคัญไปกว่านั้น เพราะงานเขียนของ "หนุ่มเมืองจันท์" นี้เองที่ทำให้เรากลาบเป็นคนติดการอ่านหนังสือ อาจจะเรียกได้ว่า "รีวิวเว้ย" เดินทางมาถึงเล่มที่ 766 ได้ มันก็เริ่มต้นมาจากวันหนึ่งในร้านหนังสือเมื่อ 15 ปีก่อนที่เราหยิบเอา "เหยียบโลกไว้ไม่ต้องเครียด ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 7" ไปจ่ายเงินที่เค้าเตอร์
    หนังสือ : เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน
    โดย : หนุ่มเมืองจันท์
    จำนวน : 272 หน้า
    ราคา : 260 บาท

    "เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน" หนังสือชุด "ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 33" ซึ่งนับเป็นหนังสือชุดที่ตีพิมพ์มาต่อเนื่องยาวนาน และหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดนอกจากให้มุมมอง ข้อคิดและความรู้ปนอารมณ์ขันในเรื่องของธุรกิจแล้ว "เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน" ยังคงบอกเล่าเรื่องราวของชีวิต ความคิด และมุมมองที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่สะท้อนผ่านตัวอักษรของหนุ่มเมืองจันท์ได้อย่างน่าสนใจ

    ซึ่งเราอาจจะเรียก "เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน" เป็นหนังสือกึ่งให้กำลังใจ ความรู้ ความลับ ความจริง ความงาม และอื่น ๆ อีกมากมายเท่าที่หนุ่มเมืองจันท์จะคิดออกมาได้อาจจะภายใต้คสามกดดันของเส้นตายในการกำหนดส่งต้นฉบับ ที่เขามักจะเขียนแซวตัวเองอยู่เสมอว่าไม่มีอะไรจะบันดาลใจให้งานเสร็จได้ดีไปกว่าเส้นตายในการส่งต้นฉบับ

    แต่ความพิเศษของ "เรื่องธรรมดาสามัญประจำบ้าน" คือครั้งนี้มีการแถมบทสัมภาษณ์ระหว่างลูกสาวที่ทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์และพ่อผู้ถูกสัมภาษณ์ หลังจากที่จังหวะและเวลาของทั้งพ่อและลูกสาวลงตัว ซึ่งมันช่วยให้เรามองเห็นอีกมุมมองของหนุ่มเมืองจันท์ผ่านสายตาของลูกสาว และการบอกเล่าผ่านตัวอักษรและน้ำเสียงของเธอ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in