รีวิวเว้ย (750) "ความหวัง" เป็นหนึ่งในเครื่องมือของคนเราที่จะช่วยให้หลายคนสามารถมีชีวิตอยู่บนโลกกลม ๆ ใบนี้ได้ หลายครั้งเรามักจะได้ยินคำพูด สำนวน หรือเนื้อเพลงที่ออกไปในแนวทางของการให้กำลังใจที่ผูกตัวเอาไว้กับคำว่า "ความหวัง" เมื่อเป็นเช่นนั้นเราอาจจะอนุมานเอาเองได้ว่า "ความหวัง = กำลังใจ" และความหวัง-กำลังใจ เหล่านี้เองที่จะเป็นแรงขับดันให้กับคนคนหนึ่งสามารถลงมือทำ หรือเดินทางตามหาความหวังและความฝันของตนเองได้ แต่ก็อีกเช่นกันที่เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในหลายสังคม (โดยเฉพาะสังคมไทย) เชี่ยวชาญในเรื่องของการ "ทำลายความหวัง" โดยเฉพาะความหวังของคนอื่น และที่น่าแปลกใจไปกว่านั้นคือเมื่อความหวังของใครคนหนึ่งถูกทำลาย ความสะใจมักเกิดขึ้นกับคนในสังคมนั้นได้อย่างน่าตาเฉย ในสังคมที่เห็นดีเห็นงามกับการทำลายความหวัง กำลังใจ และความฝันของใครคนหนึ่ง คนที่เห็นดีเห็นงามกับการพังทลายชีวิต (ความหวัง) ของใครสักคนลง คนแบบนี้น่าสนใจว่าพวกเขาเกิดมาพร้อมกับ "ความหวัง" ? หรือว่าพวกเขาเคยถูกสังคมนี้ "ทำลายความหวัง" ลงไปแล้ว และนั่นทำให้พวกเขาเห็นดีเห็นงามกับ "ความหวัง" ของบุคคลอื่นที่ถูกทำลายลงไปคล้ายกับ "ความหวัง" ของตนเอง
หนังสือ : ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว
โดย : ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
จำนวน : 216 หน้า
ราคา : 305 บาท
"ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว" หนังสือสารคดีที่จับเอาเรื่องราวต่าง ๆ ทั้ง 13 เรื่องมาร้อยเรียงกันด้วยหัวใจหลักของเรื่อวอย่าง "ความหวัง" ถ้าเราลองอ่านเรื่องทั้งหมดที่อยู่ใน "ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว" เราจะพบว่า "ความหวัง" คือแกนสำคัญของการดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ในเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือทุกเรื่อง อัดแน่นไปด้วย "ความหวัง" ถึงแม้บางเรื่องเมื่อเราอ่านแล้ว เราอาจจะมองไม่เห็นเลยว่า "ความหวัง" จะเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน หรือความหวังเหล่านั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้อย่างไรกัน เมื่อความหวังเหล่านั้นมักโดนบทขยี้โดยโครงสร้างสังคม ผู้มีอำนาจของสังคม หรือกระทั่งจากคนในสังคมด้วยกันเอง
แต่ก็น่าแปลกที่เรื่องต่าง ๆ ใน "ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว" ยังสามารถสะท้อนให้เห็น "ความหวัง" ที่ก่อตัวอยู่ในเรื่องราวของคนต้นเรื่องได้อย่างน่าแปลกใจ หลังจากอ่าน "ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว" จบลง คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจของเราในฐานะของคนอ่าน คือ คนแบบไหนกันที่ความหวังถูกพังทลายด้วยโครงสร้างสังคม ระบบ ผู้มีอำนาจ แต่พวกเขาก็ยังสามารถประคองความหวัง ให้กลายเป็นกำลังใจในการขับเคลื่อนชีวิตและความหวัง แน่นอนว่ามันอาจจะดูคล้ายความฝัน ที่หลายคนอาจจะเรียกมันว่า "ฝันกลางวัน" แต่หลังจากที่อ่านบทความชิ้นสุดท้ายใน "ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว" จบ เราก็พบว่า ความหวังคือฐานรากของกำลังใจให้คนลงมือทำ และเป้าหมายท้ายที่สุดคือความฝันที่จะต้องเดินไปให้ถึง เพื่อสุดท้ายแล้วความฝันจะได้กลาบเป็นความจริง
เหมือนกับคำพูดของ "เพนกวิ้น" ที่ว่า "ซี่กรงอาจขังดวงดาวได้แต่ไม่อาจขังแสงดาวได้ แม้คุณจะจับดวงดาวเข้าไปในกรงขังสักกี่ดวง ดวงดาวอีกทั้งแกแล็คซี่จะปรากฎบนทั่วน่านฟ้าไทย" เพราะมันไม่มีใคร หรือโครงสร้างอำนาจใดที่จะเป็น "เจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว" เพราะหนังสือเล่มนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า "ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว"
|||
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in