เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
THE LAST BREAKFAST By องอาจ ชัยชาญชีพ
  • รีวิวเว้ย (659) การเดินทางของใครหลายคนเริ่มต้นขึ้นที่ตรงไหนสักแห่งเสมอ แต่คำว่าตรงไหนสักแห่งมันคือตรงไหนกัน (?) และมันเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร ในชีวิตของคนทุกคนเราล้วนเคยออกเดินทางมาแล้วด้วยกันแทบทั้งสิ้นบ้างเดินทางในโลกแห่งความจริง บ้างเดินทางในโลกแห่งความฝัน บ้างเดินทางไปในทั้งสองโลกและหลายครั้งการเดินทางไปในทั้งสองโลกมันอาจจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน หรือบางครั้งก็เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว มีนักคิดหลายคนที่เชื่อมั่นว่าการเดินทางในโลกแห่งความฝันและการแสดงออกในโลกแห่งความจริง หลายครั้งมันเกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่าจิตใต้สำนึก และบางครั้งมันก็เกิดขึ้นในระดับที่ลึกลงไปมากกว่า ที่บรรดานักคิดเหล่านั้นขนานามมันว่าจิตไร้สำนึก แต่ไม่ว่าจะด้วยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่การเดินทางไปทั้งในโลกของความจริงและความฝัน จะผ่านจิตใต้สำนึกหรือจิตไร้สำนึก หรือจิตสำนึกก็ตามแต่ การเดินทางในสองลักษณะมักสะท้อนบางสิ่งบางอย่างที่เราผูกโยงตัวเองเอาไว้เสมอ และหลังสิ้นสุดการเดินทางในทุก ๆ ครั้งการเดินทางให้อะไรบางอย่างกับเราในทุกครั้งไป แต่มันก็อยู่ที่ว่าเราจะเข้าใจ เรียนรู้ รับสารและแปลงความหมายของมันออกมาเช่นไร ก็สุดแท้แต่คนคนหนึ่งจะตระหนักถึงมันในขั้นสุดท้ายของการเดินทาง 
    หนังสือ : THE LAST BREAKFAST
    โดย : องอาจ ชัยชาญชีพ
    จำนวน : โดยประมาณ
    ราคา : 420 บาท

    "THE LAST BREAKFAST" หนังสือที่เราอยากจะเรียกมันว่า "นิทาน" ที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวละครที่เรื่อง่าวต่าง ๆ เกิดขึ้นหลังจากการเริ่มต้นของการกินมื้อเช้าและบทกวีที่ไม่ปรากฎที่มาแต่ได้นำพาความท้าทายและการเดินทางไปในดินแดนที่หลากหลายมาสู่ตัวละครหลักของเรื่อง

    การเดินทางใน "THE LAST BREAKFAST" ที่ตัวละครหลักเดินทางไปในดินแดงต่าง ๆ อาจจะเริ่มต้นขึ้นจากการเดินทางในลักษณะของการเดินทางภายใต้สำนึกอะไรบางอย่าง ที่ตัวละครหลักก็ไม่เข้าใจและไม่สามารถควบคุมการเดินทางในดินแดงต่าง ๆ หลังจากการเริ่มต้นของมื้ออาหารและการปรากฎขึ้นของบทกวีปริศนาที่เข้ามาแทนคำพูดคำจาของตัวละครหลัก

    ภาพสะท้อนการเดินทางในแต่ละดินแดนในเรื่อง "THE LAST BREAKFAST" สำหรับเราแล้วมันคือภาพสะท้อนของความคิดความอ่านในเรื่องอะไรบางอย่าง ที่เปิดโอกาสให้เราในฐานะของผู้อ่านได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับตัวละครหลัก และในหลายครั้งมันเปิดโอกาสให้เราในฐานของผู้อ่านได้ตีความในเรื่องของความรับรู้และความเข้าใจ ในแต่ละดินแดนที่ตัวละครหลักเดินทางไป ด้วยความรู้สึก ความนึกคิดของตัวเราเองในฐานะของผู้อ่าน โดยเฉพาะเมื่ออ่านมาถึงเรื่องของ "โพรงกระต่าย" มันชวนให้เราในฐานะของผู้อ่านตีความเหตุการณ์ในโพรงนั้นสอดรับไปกับการการเมืองไทยในช่วงเวลานี้ (ตุลาคม 2563)

    ความน่าแปลกอีกประการหนึ่งของ "THE LAST BREAKFAST" หากเรามองว่ามันเป็นหนังสือนิทาน เราจะพบว่านิทานเรื่องนี้มีระยะทำการของมันเอง ระยะทำการที่เล่นกับความรู้สึก ความรับรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ของผู้อ่านในฐานะของผู้รับสารและตีความสารต่าง ๆ ที่ได้รับไปจากการอ่าน "THE LAST BREAKFAST" เมื่ออ่าน "THE LAST BREAKFAST" จบลง เราอยากให้คยอ่านลองนั่งลงเงียบ ๆ เฉย ๆ ทอดเวลาออกไปแบบไม่คิดอะไรสักพักหนึ่ง และลองกับมาคิดถึงตัวละครหลักใน "THE LAST BREAKFAST" อีกครั้งหนึ่ง เราเชื่อว่าความรับรู้และความเข้าใจของใครก็ตามในฐานะของผู้อ่านจะถูกก่อกวนให้ได้ลองคิดกลับไปกลับมาอยู่อีกห้วงระยะเวลาหนึ่ง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in