เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
๘๘ ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง ? By VOICE TV
  • รีวิวเว้ย (644) ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินขึ้นในสังคมสยาม และการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นได้ปรากฎคำประกาศของคณะราษฎรที่เป็นดังแนวนโยบาบพื้นฐานแห่งรัฐ โดยเราข้อตัดตอนเอาข้อความบางส่วนมานำเสนอดังนี้ 

    ...ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้ว–ตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการ อาศัยหลักวิชชา ไม่ทำไปเสมือนคนตาบอดเช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

    ​(1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯ ล ฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

    (2) จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษฐร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

    (3) จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

    (4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

    (5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดั่งกล่าวข้างต้น

    (6) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

    ราษฎรทั้งหลาย จงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ...

    ความตอนหนึ่งจากประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 วันที่การเปลี่ยนแปลงของกระแสลมแห่งประชาธิปไตยได้พัดพามาถึงดินแดนสยามประเทศ กว่า 88 ปีนับจากวันที่กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเดินทางมาถึง ในปัจจุบันสยามได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "ไทย" รูปแบบของระบอบการปกครองที่ถูกเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาวิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ได้นำพาประเทศไทยเดินทางผ่านช่วงเวลาตลอดประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น 88 ปีของการต่อสู่ระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยและอุดมการณ์ในระบอบเก่า ที่ต่างฝ่ายก็ต่างต่อสู่กันมาอย่างยาวนาน ทั้ง ๆ ที่ผ่านเวลามาเนินนานแล้วก็ตามที แต่คนบางกลุ่มในสังคมนี้ก็ยังเชื่อว่าการมีอภิสิทธิ์ที่สูงส่งกว่าบุคคลอื่น ๆ คือสิ่งที่เหมาะควรกับสังคมไทย เป็นสิ่งที่เหมาะควรกับคนบางกลุ่ม และเหมาะสมต่อการปกครองของบางชนชั้นเท่านั้น นั่นเท่ากับว่าหลายคนในสังคมไทยยังคงเชื่อว่า "ประชาธิปไตย" มิใช่สิ่งที่เหมาะควรกับประเทศนี้ น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่หลายคนยังยินดีปรีเปรมกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยผิดรูปที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน
    หนังสือ : ๘๘ ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง ?
    โดย : VOICE TV
    จำนวน : 320 หน้า
    ราคา : 475 บาท

    สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าใคร ๆ ในสังคมไทยคง "มิอาจปฏิเสธ" ได้นั่นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมตั้งแต่สยามถึงไทยในหลากหลายเรื่อง โดยที่เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ปรากฎใน "คำประกาศคณะราษฎร" คือเรื่องของหัวใจสำคัญที่ปรากฎใน "หลัก 6 ประการ" ของคณะราษฎร ที่กลายมาเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการกำหนดรูปแบบและแนวทางของสยามภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

    หลัก 6 ประการของคณะราษฎร กลายมาเป็นหนึ่งในหัวใจหลักในการกำหนดรูปแบบของการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายในรัฐ (แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ) และเป็นแนวทางในการกำหนดรูปแบบของการจัดทำบริการสาธารณะ และการออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ โดยรัฐเป็นผู้จัดบริการโดยอยู่ภายใต้กรอบข้อกำหนดของหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

    หนังสือ "๘๘ ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง ?" เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นในจำนวนพิมพ์ 2475 เล่ม เพื่อให้เป็นการหยอกล้อไปกับตัวเลขของปี 2475 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราได้รับ "๘๘ ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง ?" เล่มที่ 2219 มาจากอาจารย์วิโรจน์ อาลี

    เนื้อหาในหนังสือ "๘๘ ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง ?" เป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลจากหลากหลายกลุ่มในสังคมไทย ทั้งนักวิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ดารานักแสดง โดยบทสัมภาษณ์ใน "๘๘ ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง ?" ได้วางโครงสร้างและประเด็นในการสัมภาษณ์ผ่าน "หลัก 6 ประการ" ของคณะราษฎร ที่ถูกวางไว้ในฐานะของโครงหลักของการสัมภาษณ์ผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคน โดยผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนจะถูกถามคำถามที่มีคสามยึดโยงอยู่กับหลักแต่ละข้อในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

    "๘๘ ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง ?" คือ ภาพสะท้อนของการรับรู้ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ตลอดระยะเวลา 88 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านโครงหลักของหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพของสังคมไทยที่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่คล้ายกับการต่อจุดตัดตอนที่ดูขาดตอนและไม่ต่อเนื่อง น่าสนใจว่าอีกกี่ปีกว่าที่ระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยจะปรากฎภาพชัดอันเกิดจากการต่อจุดที่ "ไม่ขาดตอน" และเป็นภาพของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เสียที และเมื่อไหร่กันที่หลัก 6 ประการของคณะราษฎรจะได้ปรากฎในฐานะของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ อย่างจริงจังเสียทีหลังจากที่ผ่านกาลเวลามากว่า 88 ปี นับจากวันนั้นกระทั่งวันนี้

    อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับเต็มได้ที่
    https://th.m.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%A3

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in