รีวิวเว้ย (642) อ่านอีกครั้ง
โถ่เอ๋ยเมื่อโลกใบนี้ไม่สมประกอบ
เพราะว่ามีบางคนชอบ
เอาปร่งเอาเปรียบคนจน
โถ่เอ๋ย คงจะทำได้เพียงแค่บ่น
เมื่อความเป็นจริง ความเป็นธรรม
ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นคน
มันอยู่ที่คนข้างบนจะใช้
ยุติความเป็นธรรมอันจอมปลอม
ยุติความเป็นธรรมเพื่อพวกพ้อง
ยุติความเป็นธรรม ที่สวมด้วยสีเสื้อ
ยุติความเลวทราม ด้วยกฏหมาย
ยุติการเปลี่ยนคน ให้เป็นควาย
ยุติการทำลาย กฎหมายด้วยกฏหมา
ความยุติธรรมไม่มีอยู่จริง
ยุติ–ธรรม เพลงประกอบภาพยนตร์ ‘คืน–ยุติธรรม’ ตีแผ่เรื่องราวความเหลื่อมล้ำในสังคม ในวันที่เราต้องกลายเป็นแพะรับบาปจากสิ่งที่ไม่ได้ก่อ แต่ผู้ร้ายตัวจริงกลับใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ช่างพอดิบพอดีกับข่าวสารบ้านเมืองในปัจจุบันที่ออกข่าวมาไม่เว้นแต่ละวันเหมือนกำลังขีดเส้นใต้บอกเราว่า ‘เงิน’ ให้เป็นคำตอบของการอยู่รอด (https://www.fungjaizine.com/trending_news/taitosmith-justice)
หนังสือ : JUSTICE ความยุติธรรม
โดย : Michael J. Sandel แปล สฤณี อาชวานันทกุล
จำนวน : 380 หน้า
ราคา : 300 บาท
ข้อความข้างต้นและเนื้อเพลงที่หยิบยกขึ้นมาเป็นบทเปิดของรีวิวเว้ยของ "JUSTICE ความยุติธรรม" หนังสือแปลในตำนานที่สมัยออกมาแรก ๆ นั้นเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมไทย โดยฉบับที่หยิบมาทำการรีวิวในครั้งนี้คือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 เนื้อหาของเพลง "ยุติ-ธรรม" ของวง "TaitosmitH" คือสิ่งแรกที่ปรากฏขึ้นเมื่อเรากดหาคำว่า "ยุติธรรม" น่าสนใจว่าคำว่ายุติธรรมในสังคมไทยนั้นผูกโยงอยู่กับอะไรกัรแน่ (?) ถึงปรากฏคำค้นของความยุติธรรมมาในลักษณะของคำคู่ขนานอย่าง ยุติ-ธรรม
หนังสือ "JUSTICE ความยุติธรรม" ว่าด้วยเรื่องของข้อถกเถียงในเรื่องของ "ความยุติธรรม" ในหลากหลายมิติโดยการหยิบเอาตัวอย่างต่าง ๆ ที่ดูจะท้าทายความยุติธรรมทั้งของสังคม และของคนในสังคมมาขบคิดผ่ายแนวความคิดของนักคิดนักปรัชญาจากหลากหลายสำนัก โดยการหยิบเอาเรื่องเดียวกันแต่ใช้สายตา มุมมองและวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสำนักคิด เพื่อมาขบคิดในเรื่องของ "ความยุติธรรม" ว่าแท้จริงแล้วหน้าตาของสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างความยุติธรรมควรมีหน้าตาและลักษณะเช่นไร และอย่างไรที่เรียกว่า "ความยุติธรรม"
ในการอ่าน "JUSTICE ความยุติธรรม" ในครั้งนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการอ่านใหม่อีกครั้งหลังจากที่อ่านมันไปครั้งแรกในฉบับพิมพ์ 1 ในสมัยที่เรายังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในคณะรัฐศาสตร์ เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปีจากการเรียนปริญญาตรี สู่มหาบัณฑิตในคณะเดียวกัน การกลับมาอ่าน "JUSTICE ความยุติธรรม" ทำให้เราเห็นมิติของคำว่า "ยุติธรรม" ที่หลากหลายมากขึ้นกว่าในตอนอ่านครั้งแรกมากนัก โดยเฉพาะในเรื่องของ "สิทธิเหนือร่างกาย" ที่ในการอ่านครั้งแรกเรากลับไม่ได้รู้สึกกับมันเท่าไหร่นัก กระทั่งในการอ่านครั้งหลังเราพบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ในการถกเถียงกันถึงเรื่องของ "ความยุติธรรมของบุคคล"
นอกจากนั้นแล้วความรับรู้ที่ได้รับจากการอ่าน "JUSTICE ความยุติธรรม" อีกครั้ง ทำให้เรารับรู้ว่า สังคมไทยยังคงอยู่ "ห่างไกล" จากสิ่งที่เรียกกันว่า "ความยุติธรรม" มากนัก ในการค้นคำว่า "ยุติธรรม" ในกูลเกิลการปรากฎของเนื้อเพลง "ยุติ-ธรรม" จึงไม่น่าแปลกนักเพราะในประเทศไทย "ความยุติธรรม (ยัง) ไม่มีอยู่จริง"
เพลง "ยุติ-ธรรม" https://open.spotify.com/track/3GbMONlqujFp7yAWf9fYm8?si=Zc24o9BIQxy1q1d3OAsE6w
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in