รีวิวเว้ย (614) เวลาถึงช่วงวันหยุดยาวหรือวันเทศกาลสำคัญ ๆ ของประเทศนี้ เราจะพบปรากฏการณ์หนึ่งนั้นก็คือ การเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดของคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และการเดินทางกลับต่างจังหวัดช่วงหยุดยาวนี้เอง ที่ส่งผลให้เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ของกรุงเทพฯ เมืองปลอดคนและไม่มีรุติด ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวมันสะท้อนให้เราเห็นความจริงบางอย่างในเรื่องของการกระจุกตัวของความเจริญ ที่ความเจริญในแทบทุกด้าน ทุกมิติต่างกระจุกรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ แทบทั้งสิ้น สิ่งนั้นทำให้กรุงเทพฯ จัดอยู่ในกลุ่มของ "เมืองโตเดียว" ที่ในงานเขียนหลาย ๆ ชิ้นเกี่ยวกับเมืองได้มองเมืองในลักษณะนี้เอาไว้ว่า เป็นเมืองที่แย่งชิงทรัพยากรณ์สำคัญ ๆ จากพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อมาใช้ในการหล่อเลี้ยงเมืองโตเดียวให้เจริญก้าวหน้าและขับเคลื่อนไปได้ในทุกช่วงเวลา แน่นอนว่าเมืองโตเดียวในลักษณะนี้ย่อมมีปัญหาเมื่อเกิดผลกระทบที่ต้องทำให้เมืองหยุดชะงักลง อาทิ น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ส่งผลโดยตรงต่อการดึงดูดทรัพยากรณ์และแนวทางในการป้องกันเข้ามาทุ่มให้กับเมืองอย่างกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อเมืองหรือที่หลายคนเรียกว่า "พื้นที่ธุรกิจชั้นใน" (ไม่ใช่ชุดชั้นใน) และไหนจะเหตุการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ อีกที่อาจจะส่งผลให้เมืองโตเดียวอย่างกรุงเทพฯ หยุดจังหวะของตัวเองลง นอกจากนี้หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า "ไม่มีที่ไหนดีเท่าบ้านเรา" คำถามสำคัญคือ แล้วเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ นับเป็น "บ้าน" ได้รึเปล่า (?) ในเมื่อเราลงทุนซื้อบ้านหรือคอนโดในเมืองใหญ่ไว้แล้ว สิ่งเหล่านี้ที่เราซื้อเอาไว้มันเรียกว่า "บ้าน" ได้หรือไม่ (?) และบ้านควนมีความหมายเช่นไร หากสิ่งที่เราซื้อไว้คุ้มหัวยามค่ำคืนในเมืองใหญ่ไม่อาจจะเรียกว่าได้ แล้วที่ใดกันที่เราจะเรียกมันได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าที่นั้นคือ "บ้านของเรา"
หนังสือ : ระหว่างทางกลับบ้าน
โดย : อังคาร จันทาทิพย์
จำนวน : 152 หน้า
ราคา : 165 บาท
"ระหว่างทางกลับบ้าน" กวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ ปี 2562 ที่จะพาเรากลับไปตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราหลายคนเรียกมันว่า "บ้าน" ว่าในความรู้สึก ความเข้าใจ และความรับรู้ของแต่ละคนนั้นมอง "บ้าน" หรือให้คุณค่ากับมันไปในทิศทางใด โดยคำถามสำคัญคือ "อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าบ้าน" (?) ในความหมายของการให้นิยามของคนแต่ละคน
สำหรับบางคนบ้านเป็นเพียงแค่สถานที่สำหรับใช้ในการเริ่มต้นวันและจบวันในแต่ละวัน แต่สำหรับบางคนแล้วบ้านต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญต่าง ๆ ที่มากไปว่า ผนัง หลังคา ห้องน้ำ ห้องนอนและห้องครัว บ้านของบางคนจำเป็นจะต้องประกอบไปด้วย "ความทรงจำ" ของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ ความทรงขำร่วมของผู้คนที่อาศัยอยู้ภายใต้ผนัง หลังคา ห้องน้ำ ห้องนอนและห้องครัวเดียวกัน หรือกับบางคนบ้านไม่จำเป็นต้องมีผนัง หลังคา ห้องน้ำ ห้องนอนและห้องครัวเลยก็ได้ เพียงแค่มี "ใครบางคน" ที่รอให้เรากลับไปหาที่นั้นก็เรียกว่า "บ้าน" ได้แล้วเช่นกัน
"ระหว่างทางกลับบ้าน" พาให้เรากลับไปสำรวจหาความหมายของคำว่า "บ้าน" ระหว่างการเดินทางของเรา ว่าในท้ายที่สุดแล้วบ้านของเราแต่ละคนเป็นเช่นไร และ "ระหว่างทางกลับบ้าน" นั้นเรานึกถึงบ้านในความหมายของบ้านที่บ้านเป็นเช่นไร เราอาจจะได้พบคำตอบของคำถามเหล่านั้นใน "ระหว่างทางกลับบ้าน" ก็เป็นไปได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in