รีวิวเว้ย (571) ใครหลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำพูดคลาสสิคของ อริสโตเติ้ล นักปราชญ์ยุคกรีกได้กล่าวไว้ว่า "มนุษย์ เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)" ซึ่งจะเป็นหรือไม่เป็นนั้นในปัจจุบันมีงานที่ศึกษาและมีข้อถกเถียงให้หาอ่านกันได้ทั่วไปซึ่งถ้าใครสนใจในประเด็นนี้เพิ่มเติมก็ลองไปหาอ่านข้อถกเถียงเหล่านั้นได้ นอกเหนือจากการเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์แล้วนั้น ในช่วงหลายสิบปีก่อนได้มีอีกแนวความคิดหนึ่งที่ปรากฎขึ้นและเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในวงวิชาการทางด้าน "เศรษฐศาสตร์" นั่นคือคำว่า "Homo Economicus (มนุษย์เศรษฐศาสตร์)" หรือการที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นมนุษย์ที่มีเหตุและผลและใช้เหตุและผลนั้นในการตัดสินใจในกระบวนการทางเศรษฐกิจ หรืออาจจะเรียกง่าย ๆ ว่าแนวคิด Homo Economicus เชื่อว่ามนุษย์นั้นใช้ "เหตุผล" มากกว่าใช้ "อารมณ์" แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้แนวคิดนี้ถูกท้าทายอย่างมากเพราะหลายครั้งหลายคนเหตุผลไม่สามารถอธิบายถึงการกระทำในหลาย ๆ เหตุการณ์ของมนุษย์ได้ และแนวคิดในทางเศษฐศาสตร์จึงเกิดเป็นกลุ่มแนวคิดในเรื่องของ "เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม" ขึ้นมา พร้อม ๆ กันกับการเกิดขึ้นของแนวคิดในการศึกษาเรื่องของ "อารมณ์" ว่ามีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์อย่างไร ซี่งมิใช่แค่ในทางเศรษฐศาสตร์หรือพฤติกรรมศาสตร์แต่เพียงเท่านั้น หากแต่อารมณ์อยู่ในแทบทุกจังหวะของการตัดสินใจของมนุษย์ก็คงจะว่าได้
หนังสือ : The Emotional Man มนุษย์อารมณ์
โดย : ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
จำนวน : 160 หน้า
ราคา : 185 บาท
"The Emotional Man มนุษย์อารมณ์" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของประเด็นในการศึกษาของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของ "การตัดสินใจของคน" ที่แท้จริงแล้วมันอาจจะไม่ได้วางอยู่บนฐานของความมี "เหตุผล" อย่างที่หลายคนเชื่อและเข้าใจมาโดยตลอด
เนื้อหาใน "The Emotional Man มนุษย์อารมณ์" ว่าด้วยเรื่องของงานศึกษาและงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ออกแบบการศึกษาผ่านการทำกิจกรรมการทดลองทางด้านพฤติกรรม การตัดสินใจ และบททดสอบของการวัดค่าความเป็นเหตุเป็นผลผ่านพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์ ทั้งในเรื่องของเศรษฐศาสตร์และพฤติกรรม
โดยที่งานทดลองต่าง ๆ ที่ถูกบอกเล่าอยู่ใน "The Emotional Man มนุษย์อารมณ์" ช่วยเผยให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้วความคิดในเรื่องของ Homo Economicus อาจจะไม่ได้เป็นความจริงและมิได้ถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะในเรื่องของการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล ในหนังสือยังเผยให้เห็นอีกว่าแท้จริงแล้วการตัดสินใจของคนเราในหลายครั้งมิได้วางตัวอยู่บนฐานของ "ความเป็นเหตุเป็นผล" หากแต่วางตัวอยู่บนฐานของ "อารมณ์" เป็นสำคัญ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วมนุษย์ในทางเศรษฐกิจหรือในทางเศรษฐศาสตร์ควรที่จะถูกจัดเป็น "The Emotional Man (มนุษย์อารมณ์)" มากกว่าที่จะเป็น "Homo Economicus (มนุษย์เหตุและผล)"
ดังนั้นเวลาที่เราเจอใคร ๆ ที่ใช้อารมณ์เป็นตัวนำในการตัดสินใจ นั้นจึงมิใช่เรื่องที่ผิดแปลกแต่ประการใด หากแต่บางครั้งการใช้เหตุผลนำการตัดสินใจเสียอีก ที่อาจจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงคสามผิดแปลกที่แหกธรรมชาติของความเป็นมนุษย์
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in