รีวิวเว้ย (559) ถ้าย้อนกลับไปสัก 60-70 ปีก่อน บทบาทของผู้หญิงในแทบทุกสังคมบนโลกใบนี้ก็น่าจะถูกจำกัดวงอยู่ในฐานะของความเป็น "แม่และเมีย" เสียเป็นส่วนใหญ่ กระทั่งหลังสงครามโลกที่ก่อให้เกิดสภาวะของการขาดแคลนแรงงาน ทำให้บทบาทของผู้หญิงถูกขยับออกมาจากหลังบ้านและห้องครัวบ้างแล้วในฐานะของแรงงานในระบบ แต่ก็แน่นอนว่าบทบาทของผู้หญิงในฐานะของแรงงานในระบบในช่วงเวลานั้นก็ไม่ได้สูงไปกว่าคนงานธรรมดา ๆ แถมยังถูกแรงกดดันในการทำงาน และจากสถานะของความเป็น "แม่และเมีย" ที่ผูกติดอยู่ในหลาย ๆ สังคม กระทั่งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้บทบาทของผู้หญิงถูกขยับและปรับสถานะให้มีความเท่าเทียมกันกับผู้ชาย ซึ่งเรื่องแบบนี้มันควรจะมีความเท่าเทียมกันในฐานะของมนุษย์มาตั้งนานแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องกีดกันด้วย เพศ ภาษาและเชื้อชาติใด ๆ ด้วยซ้ำไป แต่ถึงบทบาทของผู้หญิงจะถูกปรับให้ดีมากขึ้นจากเมื่อก่อน แต่สถานะและความคาดหวังของความเป็น "แม่และเมีย" ยังคงมีอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่บนโลกใบนี้ เราจึงยังเห็นการตั้งคำถามถึงการเลี้ยงลูกที่ไม่เหมาะสมต่อผู้หญิงเป็นสำคัญ (ทำไมไม่ถามถึงพ่อมันบ้าง) และเราก็ยังได้เห็นงานหลาย ๆ ชิ้นที่ยังสะท้อนภาพในปัจจุบันของสภาวะของความเป็นแม่และเมียที่ยังมีให้เห็นอยู่เนือง ๆ ในหลายสังคม
หนังสือ : I am Daddy นี่พ่อเอง !
โดย : BLUE แปล อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี
จำนวน : 200 หน้า
ราคา : 290 บาท
เรื่องของ "การเลี้ยงลูก" ก็เป็นหนึ่งในเรื่องาำคัญที่บทบาทของความเป็นแม่ถูกคาดหวังเอาไว้อย่างมากว่าคนเป็นแม่ต้องเลี้ยงลูกให้ดี ดูแลดูให้ได้ คำถามสำคัญคือ "แล้วมึงเอาพ่อมันไปไว้ตรงไหนวะ" (?) หากเรามองกระบวนการของการมีลูกว่ามันคือกิจกรรมที่ต้อง "ทำร่วมกัน" คำถามสำคัญต่อมาคือและเหตุใดสังคมหลาย ๆ สังคมจึงคาดหวังให้ "แค่แม่เท่านั้นที่ต้องดูแลลูกให้ดี !!!" ก็ในเมื่อตอนมีลูกมันคือกิจกรรมรวมกัน ดังนั้นการเลี้ยงลูกก็ควรจะเป็นกิจกรรมร่วมกันด้วยถึงจะถูก ซึ่งแน่นอนว่าทุกวันนี้การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของทั้งแม่และพ่อต้องทำร่วมกัน แต่ก็ยังมีอีกหลายคนและหลายสังคมที่โยนภาระใหญ่หล่วงนี้ให้กับคนเป็นแม่
"I am Daddy นี่พ่อเอง !" เป็นหนังสือที่รวบรวมเอางานวาดของนักเขียนชาวไต้หวัน ที่เป็นื้งคุณพ่อและนักวาดไปในเวลาพร้อม ๆ กัน และด้วยการทำงานเป็นนักวาดทำให้เขาอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อมีลูกน้อย แน่นอนว่าหน้าที่ในการรับผิดชอบดูแลลูกจึงตกเป็นของพ่อที่ทำงานที่บ้านเป็นหลัก "I am Daddy นี่พ่อเอง !" ช่วยให้เราได้เห็นภาพและคสามรู้สึกของพ่อเวลาที่ต้องเลี้ยงลูกอยู่บ้าน และทำงานบ้านบางอย่างไปด้วยในเวลาเดียวกัน
หลายคนเคยเชื่อว่ามนุษย์เพศชายเป็นเพศที่ขาดการใส่ใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และแน่นอนว่าการมีลูกมันคือการเพิ่มเติมและยกระดับความใส่ใจให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่างที่อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีวันรู้จบ และหนังสือ "I am Daddy นี่พ่อเอง !" ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่ามนุษย์เพศชายที่มีบทขาทเป็นพ่อสามารถทำหน้าที่ของการเลี้ยงดูลูกในเวลาที่แม่ออกไปข้างนอกหรือไปทำงานนอกบ้านได้พอ ๆ กับที่แม่ทำ แต่ก็อาจจะมีมุมมองแบบผู้ชาย ๆ ผสมเข้าไปในการเลี้ยงลูกด้วยนิด ๆ หน่อย ๆ
"I am Daddy นี่พ่อเอง !" ได้สะท้อนภาพความคิดของมนุษย์พ่อที่รับบทบาทหลักในการเลี้ยงลูก ทำให้เขาบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับกิจกรรมของการเลี้ยงลูก และบันทึกช่วงเวลาของการเติบโตของลูกผ่านลายเส้นที่เขาวาดขึ้น แน่นอนว่ารูปวาดไม่อาจจะที่จะสะท้อนความคิดทั้งหมดของคนเป็นพ่อที่รับบทในการเลี้ยงลูกได้ และก็แน่นอนว่าการบอกเล่าไม่สามารถสร้างความเข้าใจในเรื่องบางเรื่องให้กับผู้รับสารได้อย่าง 100% แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วบทเรียน ประสบการณ์ คำบอกเล่าของคนอื่น ก็มีค่าอยู่ไม่น้อย เมื่อสักวันหนึ่งตัวของเราเองอาจจะต้องไปยืนอยู่ในจุดที่เขาเคยยืน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in