รีวิวเว้ย (525) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ความทรงจำที่มีความเกี่ยวของกับ "คณะราษฎร" ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงให้สยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จากเดิมที่ปกครองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ในช่วงเวลาต่อมาถูกแผลงและแปลงให้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตย "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในช่วงหลายปีมานี้ความทรงจำของวัตถุ สิ่งของ สถาปัตยกรรม และความทรงจำในรูปขององค์ความรู้ พิธีกรรมพิธีการ อีกทั้งวันสำคัญต่าง ๆ ที่อาจจะเรียกรวม ๆ กันได้ว่าเป็น "มรดกของคณะราษฎร" ค่อย ๆ ถูกทำลายและทำให้หายไปจากการรับรู้และความทรงจำของสังคมไทย อย่างการหายไปของ "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" (หมุดคณะราษฎร) ตรงพระบรมรูปทรงม้า การหายไปของวงเวียนปรากบฎตรงเขตหลักสี่ และการทุบทำลายความทรงจำอีกหลายหลากประการ อย่างล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นคือการลบคสามทรงจำที่เกี่ยวข้องกับ "พระยาพหลพลพยุหเสนา" หนึ่งในกลุ่มคณะราษฎรคนสำคัญ ก็กำลังถูกลบและทำลายออกไปจากสังคมไทย อีกทั้งอาคารริมถนนราชดำเนินก็กำลังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่กำลังจะถูกลบทำลาย โดยมีการสร้างอาคารรูปแบบใหม่ขึ้นมาโดยอ้างว่าเพื่อความสวยงามของสถมปัตยกรรม โดยที่หารู้ไม่ว่าอาคารบริเวณถนนราชดำเนินนั้นเป็นอาคารที่มีความฟมายและทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ หรือผลที่คิดทำอาจจะรู้และรู้ดีเสียด้วยว่าอาคารเหล่านี้ คือ "มรดกของคณะราษฎร" จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทุบทำลายและทำให้หายไปเสียให้สิ้นจากความทรงจำของสังคมไทย แต่เอาเข้าจริงแล้วการพยายามลบความทรงจำบางประการในช่วงเวลานี้ มันอาจจะให้ผลที่ตรงข้ามกัน เพราะยิ่งทุบทำลายของบางอย่างมากเท่าไหร่ ความสนใจของคนก็ยิ่งพุ่งไปที่จุดนั้น ๆ มากขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วการทุบทำลายความทรงจำของคณะราษฎรนั้นมิใช่สิ่งใหม่ มีความพยายามดำเนินการในลักษณะนี้มาเนินนานนับตั้งแต่ 2490 หากอ่านงานเรื่อง "ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ชิ้นนี้ เราก็จะพบว่าความพยายามทำลายความทรงจำของคณะราษฎรโดยฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมนั้นมีมาอย่างยาวนาน และทำกันเป็นกระบวนการมาแต่ครั้งกาลก่อนแล้วด้วยซ้ำไป
หนังสือ : ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร
โดย : ชาตรี ประกิตนนทการ
จำนวน : 240 หน้า
ราคา : 170 บาท
"ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของ "คณะราษฎร" กับการสร้างศิลปะ สถาปัตยกรรม ประเพณี กิจกรรมและวันสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ภายหลังจากการลงมือทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยเนื้อหาในหนังสือได้พาเราไปทำความรู้จักกับสถาปัตยกรรมในรูปแบบของ "ศิลปะคณะราษฎร" ที่ลดทอนความเป็นชนชั้นทางด้านศิลปะออกไปจากทั้งงานศิลปะและงานสถาปัตยกรรมของไทย
รวมไปถึง "ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ยังบอกเล่าเรื่องราวของพัฒนาการ และการเกิดขึ้นของศิลปะและสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดบางประการ ที่ถูกชูขึ้นเป็นแนวคิดสำคัญของคณะราษฎร ทั้งเรื่องของหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ความเข้มแข็งของคนในชาติ และการยกย่องคนธรรมดาให้กลายมาเป็นบุคคลสำคัญของชาติ อาทิ การสร้างอนุสาวรีย์บุคคลธรรมดาสามัญ ขึ้นตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศสยาม (ไทย)
นอกจากนี้ "ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ยังได้นำเสนอมุมมองของการเสื่อมถอยลงของศิลปะและสถาปัตยกรรมของคณะราษฎร ทั้งเรื่องของการสิ้นสุดลงของอำนาจของคณะราษฎรภายหลังการรัฐประหาร 2490 ความเสื่อมถอยลงของการทำงานศิลปะแบบคณะราษฎรที่ถูกกลับมาแทนที่ด้วยงานศิลปะคติแบบของไทยในอดีต และความพยายามในการทุบทำลายความทรงจำและมรดกทางวัฒนธรรมและศิลปะกรรมต่าง ๆ ของคณะราษฎร โดยกลุ่มผู้นำและปัญญาชนฝ่ายขวาในสังคมไทย ซึ่งเป๋นการแสดงให้เห็นว่า ความพยายามในการทำลายความทรงจำของคณะราษฎร อย่างที่กำลังดำเนินไปในสังคมไทย ณ เวลานี้ (2563) มิใช่ของใหม่อะไรใด ๆ ทั้งสิ้น หากแต่การกระทำในช่วงเวลานี้ กลับมีคสามพยายามอย่างยิ่งที่จะลบความทรงจำของคณะราษฎรครั้งใหญ่ออกจากสังคมไทย แต่บางทีผู้กระทำการอาจจะลืมไปแล้วว่าบางครั้งการกวนตะกอนของสิ่งที่นอนสงบนิ่งอยู่ก้นคลองให้ลอยคลุงอีกครั้งในเวลานี้ อาจจะมิใช่เรื่องดีที่พึงกระทำก็เป็นได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in