รีวิวเว้ย (517) ในห้องเรียนวิชารัฐศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกเอาไว้ว่า "วิชารัฐศาสตร์ เกิดขึ้นมาเพราะตลาด" อันหมายความถึงการเกิดขึ้นของเมืองและการมีปฏิสัมพันธ์ของเมืองในสมัยโบราณ (ยุคของอเล็กซานเดอร์) เพราะตลาดเหล่านี้ในท้ายที่สุดมันถูกพัฒนาไปจนกลายเป็นเมืองที่บรรจุพื้นที่ของการปฏิสัมพันธ์ของคนในเมืองเอาไว้ และนอกเหนือไปจากการเกิดขึ้นของวิชารัฐศาสตร์ที่สัมพันธ์กับตลาดและเมืองแล้ว ในช่วงเวลานี้วิชาอย่าง "สถาปัตยกรรม" ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อม ๆ กันกับวิชารัฐศาสตร์ด้วย น่าแปลกที่ในยุคหลัง ๆ เราเองและรวมไปถึงวงวิชาการด้านรัฐศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ ต่างก็ลืมรากฐานของปฏิสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดวิชาความรู้ของแต่ละศาสตร์ว่าหลาย ๆ ครั้งวิชาการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เราคาดไม่ถึง หรือหลายครั้งก็ไม่ได้คาดคิดเลยเสียด้วยซ้ำไป
หนังสือ : เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ตลาด
โดย : จิราภรณ์ วิหวา
จำนวน : 259 หน้า
ราคา : 265 บาท
"เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ตลาด" ไม่ใช่หนังสือวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ หรือสถาปัตยกรรม หากแต่หนังสือเล่มนี้ก็ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวตามที่ถูกระบุเอาไว้บนชื่อของหนังสือนั่นก็คือเรื่องของ "ตลาด" แต่เป็นตลาด 15 แห่ง ที่ผู้เขียนให้ความสำคัญเพราะมีสถานะของความสัมพันธ์บางประการกับผู้เขียน
"เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ตลาด" บอกเล่าเรื่องราวของตลาด 15 แห่งในกรุงเทพฯ ที่ถูกเลือกสรรค์มาจากประสบการณ์และความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เนื้อหาในหนังสือ "เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ตลาด" บอกเล่าถึงความแตกต่างและเรื่องราวของตลาดแต่ละแห่ง ทั้งเรื่องของประวัติความเป็นมา พัฒนาการ สินค้าที่ขาย ช่วงเวลาที่เปิด ร้านค้าที่แนะนำ ช่วงเวลาทำการของตลาด และร้านค้าที่แนะนำว่สต้องไป รวมถึงสินค้าที่น่าสนใจในตลาดแต่ละแห่ง
ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของ "เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ตลาด" คือ การที่หนังสือเล่มนี้ฉายภาพให้เราเห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของตลาดกับวิถีชีวิตของ "เมือง" และ "ผู้คน" ถ้าย้อนกลับไปที่ข้อความเปิดของรีวิว "เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ตลาด" ช่วยตอกย้ำเรื่องเล่าของอาจารย์ท่านนั้นว่า "วิชารัฐศาสตร์ พัฒนาขึ้นมาจากการมีตลาดและเมือง" เพราะตลาดคือพื้นที่ของการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นที่พื้นฐานที่สุดของการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กระทั่งสามารถพัฒนาต่อมาให้กลายเป็นเมืองอย่างที่เราเห็นกันอยู่อย่างในปัจจุบัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in