รีวิวเว้ย (463) "กฏของคนแพ้" คือต้องดูแลตัวเองให้ไหว และต้องห้ามร้องไห้ พยายามไม่ทักไปทั้งที่ใจมันเจ็บ พยายามจะเข้าใจว่าไม่ใช่คนพิเศษ (กับเธอเลย) พยายามทุกวิธีเพื่อให้เธอนั้นคืนดี ทำทุกหนทางแต่ไม่ก็ไม่มีสักวิธี ทุก ๆ วันก็ทำได้เพียงแค่ละเมอ คงไม่มีทางที่ฉันจะไปให้ถึงเธอ ไม่เป็นไร (ไม่เป็นไร) ก็เข้าใจ (ฉันเข้าใจ) ว่าเธอจะเลือกคนที่ชอบหรือว่าคนที่ใช่ (แต่สุดท้ายคนที่แพ้ก็คือฉัน) -- (กฏของคนแพ้/Legendboy) เพลงกฎของคนแพ้ ดูจะเป็นเพลงที่แทนใจของใครหลาย ๆ คนได้ในเรื่องของ "ความรัก" แต่เอาเข้าจริงถ้าเราลองพิจารณาเนื้อเพลงกฎของคนแพ้ดี ๆ เราจะพบว่า บางทีกฎข้อนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เฉพาะกับคสามรักเท่านั้นก็ได้นิหว่า "กฎของคนแพ้คือต้องดูแลตัวเองให้ไหว" พอลองเอามาจับกับหลาย ๆ เหตุการณ์เราจะพบว่ามันช่าง "เหมาะเจาะพอดี" กับหลาย ๆ เหตุการณ์ได้อย่างลงตัว อย่างกรณีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่หลังจากนั้นไม่นานกลุ่มของคณะราษฎรผู้นำการเปลี่ยนแปลงแตกกันออกเป็นหลายฝ่าย และเกิดการขับเขี้ยว หักหลัง หักเหลี่ยมกันเองในกลุ่มของคณะราษฎร ทำให้มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะในครั้งนั้น และแน่นอนว่าผู้แพ้ย่อมไม่ได้แพ้เสมอไป และผู้ชนะก็ไม่ได้ชนะไปตลอดกาล หากดูจากประวัติศาสตร์ระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงก่รปกครอง 2475 แต่เป็นที่แน่นอนว่า อย่างไรเสีย "คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเอง"
หนังสือ : 2475: เส้นทางคนแพ้
โดย : บัญชร ชวาลศิลป์
จำนวน : 332 หน้า
ราคา : 270 บาท
"2475: เส้นทางคนแพ้" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของกลุ่มคณะราษฎรสายทหาร ที่นำพาการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ให้เกิดขึ้น และบรรลุไปสู่เป้าหมายที่สมบูรณ์พร้อม แต่ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ปัญหาในเรื่องของ "อำนาจ" กลายเป็นมูลเหตุให้คณะราษฎรสายต่าง ๆ แตกแยกและแบ่งฝ่ายกันเพื่อแสวงหาอำนาจกันอย่างชัดเจน และด้วยเหตุผลเบื้องหลังอีกหลายประการที่ยังผลให้คณะราษฎรแตกยับ จนกลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างแก่งแย่งแข่งขันกัน จนนำไปสู่การเกิดผู้แพ้และผู้ชนะขึ้นในเหตุการณ์และช่วงเวลาต่าง ๆ บนเส้นทางประวัติศาสตร์ 2475
"2475: เส้นทางคนแพ้" ได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวแสดงสำคัญในกลุ่มของคณะราษฎรที่ถูกขนานนามกันว่า "สี่ทหารเสือ" ของคณะราษฎร ที่เป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตยสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่ในท้ายที่สุดชีวิตของพวกเขา อาจจะเรียกได้ไม่เต็มปากนักว่าพวกเขาเป็น "คนแพ้" เพราะถ้าพิจารณาจาก จอมพล ป. และ ปรีดี เราอาจจะเรียกสองคนนี้ว่า "คนแพ้" ได้ชัดเจนกว่า เพราะในท้ายที่สุดถ้าเรานับความหมายของการ "แพ้" ที่ว่า สู้ไม่ได้, ยอมจำนน, ทนไม่ได้, ตรงข้ามกับ ชนะ เราจะพบว่าหากพิจารณากันจริง ๆ ทั้ง "สี่เสือ" อาจจะมิใช่ผู้แพ้ตามนิยามคสามหมายก็เป็นได้ เพราะในท้ายที่สุดผู้แพ้ก็กลับกลายมาเป็นผู้ชนะในคราวต่อ ๆ มา ก็มีให้เห็นอยู่เยอะแยะไป กับการเมืองไทยเองก็เช่นกัน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน อาจจะยากนักหากให้นิยามว่าใครคือ "ผู้แพ้ในสนามการเมือง" และใครคือ "ผู้ชนะในสนามการเมือง" ของไทย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in