เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน By สมชาย ปรีชาศิลปกุล
  • รีวิวเว้ย (432) นับตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช. เมื่อปี 2557 กระแสของการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมของ คสช. และพรรคพวกปรากฎให้เห็นเป็นระยะ ๆ รวมไปถึงการใช้อำนาจในทางตุลาการเพื่อเป็นกลไกในการรักษาอำนาจและธำรงไว้ซึ่งอำนาจของ คสช. ทั้ง ๆ ที่พวกนี้เข้ามาด้วยการก่อกบฎฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยกลไกอภินิหารบางประการทำให้การกระทำในแนวทางของการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญตลอดช่วงระยะเวลากว่า 87 ปี ที่เกิดการรัฐประหารไปแล้ว 13 ครั้ง ทุก ๆ ครั้งคณะรัฐประหารแทบจะเปลี่ยนสถานะจากทรราชกลายมาเป็นฮีโร่ไปได้ซะอย่างงั้น ยิ่งในช่วงยุคสมัยหลังมานี้การทำรัฐประหารและการออกประกาศของคณะรัฐประหาร ถูกศาลฏีกาให้ความเห็นว่าคำสั่งเหล่านั้นมีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายระดับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ เนื่องจากผู้ออก (คณะรัฐประหาร) มีสถานะเป็นองค์อธิปัตย์ ทำให้คำสั่งเหล่านั้นชอบด้วยกฎหมายไปโดยปริยาย (อิหยังวะ) ยังผลให้จากสถานะกบฎกลับกลายมาเป็นฮีโร่ของประเทศชาติไปได้อย่างงง ๆ ยิ่งตัวอย่างใกล้ ๆ ตัวอย่างการรัฐประหาร 2549 และ 2557 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงกลไกสำคัญที่กลายเป็นแขนขาให้กับคณะรัฐประหารอย่างกลไก "ตุลาการ" ทั้งแบบปกติและผ่านศาลทหาร ที่กลไกเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มกบฏ ยังไม่รับรวมถึงการขยายอำนาจอย่างเกินขอบเขตของกลไกตุลาการที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญ 2540 และยิ่งทวีพลังและอำนาจของกลไกตุลาการมากยิ่งขึ้นภายหลังจากการรัฐประหารอีก 2 ครั้ง (2549,2557) ที่ผ่านมา อำนาจของตุลาการกลายเป็นขาของอำนาจที่แทบจะอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ตามทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจของม็องแตกิเออ โดยการเกิดขึ้นของสถานะทางอำนาจของตุลาการไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบริบทของประเทศไทยเพียงแห่งเดียว หากแต่มันเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก แต่กับประเทศที่อาจจะเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงตั้งไข่ของระบอบประชาธิปไตย องค์กรเหล่านี้กลับถูกวางบทบาททางอำนาจเอาไว้อย่างสูงเพื่อกระทำการบางอย่างในกระบวนการตั้งไข่ของระบอบประชาธิปไตย 
    หนังสือ : เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
    โดย : สมชาย ปรีชาศิลปกุล
    จำนวน : 248 หน้า
    ราคา : 250 บาท

    "เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของตุลาการในสภาวะปกติ และในสภาวะที่อำนาจตุลาการกลายเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของใครบางคน รวมถึงเรื่องราวของวงการกฎหมายไทยทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์กฎหมาย นิติปรัชญา กระบวนการการเรียนการสอนกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายในสภาวะปกติแต่ปฏิบัติการทางกฎหมายกลับเลือกข้างเลือกเพศ หรือแม้กระทั่งในสภาวะของความไม่ปกติอย่างหลังการรัฐประหารที่กลไกอำนาจทางตุลาการกลายมาเป็นผู้รับใช้ และธำรงค์ความไม่เสมอภาคบางประการเอาไว้ผ่านขอบเขตความสามารถทางอำนาจของกลไกดังกล่าว

    นอกจากนี้ "เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ยังได้ชวนพวกเราให้ตั้งคำถามต่อกระบวนการและกลไกการทำงานของอำนาจตุลาการ ทั้งเรื่องของความไม่เท่าเทียมในกระบวนการในการได้มาซึ่งผู้ช่วยผู้พิพากษาที่แบ่งออกเป็น 3 สนาม (1) ใหญ่ (2) เล็ก (3) จิ๋ว ที่ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการเลือกการจัดการสอบเพื่อแข่งขั้นเข้ารับการพิจารณาเพื่อเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา หรือแม้กระทั่งการใช้กลไกทางอำนาจของตุลาการตัดสินคดีพิพาทที่เกิดกับระบบตุลาการทั้งระบบอย่างกรณีของการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้คัดค้านบ้านป่าแหว่งของตุลาการไทย หรืออย่างการตั้งคำถามต่อกลไกตุลาการที่ยอมรับและรับใช้ต่ออำนาจของคณะ (กบฎ) คสช. ที่กลไกตุลาการถูกใช้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการจัดการกัลคู่ขัดแย้งของ คสช. ผ่านกระบวนการ (อ) ยุติธรรมทางตุลากา

    อาจจะเรียกได้ว่า "เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ชักชวนให้เราตั้งคำถามถึงสภาวะของความไม่ปกติในวงการตุลาการไทย ที่มันไม่ปกติแต่ทุกคนดันคิดว่ามันปกติ และดันมีคนพยายามทำให้ทุกคนคิดว่ามันปกติ กระทั่งกลไกทางตุลาการกลายเป็นเครื่องมือหนึ่ง ๆ ของคนบางกลุ่ม จนเราเองต้องกลับมาตั้งคำถามว่า "แท้จริงแล้วการที่อำนาจตุลาการมีที่มาตัดขาดจากประชาชน" ในท้ายที่สุดมันจะนำพาไปสู่ความ "หายนะ" ทางตุลาการหรือไม่ (?) เมื่อกลไกตุลาการกลายเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิที่ไม่เท่าเทียมในสังคมไทย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in