รีวิวเว้ย (424) การอ่านหนังสือไม่ใช่ "วัฒนธรรมไทย" (วัฒนธรรมชาวนา) ตามนิยามของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ท่านหนึ่ง ดังนั้นการอ่านหนังสทอในสังคมไทย คนจะไม่นิยมอ่านก็ไม่แปลก (หลายครั้งเราจึงมักเห็นคนที่พูดว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด) ด้วยวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทยในครั้งอดีต (ขอเอา 2550 เป็นตัวแบ่ง) ไม่ได้ผูกติดอยู่กับวัฒนธรรมการอ่าน ทำให้ในช่วงอดีตนั้น หนังสือต่าง ๆ จึงกระจุกอยู่ในกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตหนังสือในช่วงนั้นก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจกับการออกแบบรูปเล่ม วัสดุ และเนื้อหาของหนังสือที่แปลกไปจากนิยาย และหนังสือบางกลุ่มที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนหนึ่ง ๆ ของสังคม เช่น หนังสือพระ นิยายแจ่มใส (ยุคแรก) การ์ตูน 5 บาท หนังสือผี 5 บาท หนังสือบอล นิตยสารบอล นิตยสารไก่ชน นิตยสารเรื่องเหนือโลก (ทำไมมันเยอะจังวะ)
ดังนั้นถ้าเราลองไล่เรียงอุตสาหกรรมหนังสือในยุคก่อน เราจะพบว่าชื่อของนักเขียนที่เป็นที่รู้จักและรับรู้ของกลุ่มคนในวงกว้างยังมีอยู่ไม่มากนัก อย่าง ป.อินทรปาลิต, รงค์ วงสวรรค์, ทมยันตี หรือนักเขียนที่ขยับสมัยขึ้นมาหน่อยก็คงเป็น Dr.Pop (ที่ตอนี้ผันตัวมาเป็น Master Pop), วงทนงค์ ชัยณรงค์สิงห์, ภาคีนัย ฯลฯ ซึ่งเราจะเห็นว่าตัวนักเขียนและแนวทางของงานเขียนนั้นมีการขยับปรับเปลี่ยนตัวเองจากครั้งอดีตอยู่มากมาย กระทั่งในสมัยปัจจุบันเอง เราก็จะพบว่าตลาดหนังสือและแนวทางของหนังสือในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ในฐานการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อลองพิจารณาลงไปดี ๆ เราจะพบว่า นักเขียนยุคกลางและยุคใหม่ ในกลุ่มหนังสือบางชนิด ยังมีจุดยึดโยงร่วมกันในตัวของนักเขียนยุคเก่าที่ทรงอิทธิพลในวงวรรณกรรมของไทย โดยเฉพาะนักเขียนที่สร้างงานมาตลอดระยะเวลากว่า 40-50 ปี อย่างต่อเนื่อง และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อตลาดหนังสือของไทยไปอย่างมีนัยยะสำคัญคงหนีไม่พ้นชื่อของนักเขียนคนสำคัญอย่าง "อาจินต์ ปัญจพรรค์" นักเขียน นักทำวารสาร บรรณาธิการ และผู้เปิดโลกของการผลิตงานเขียนและพิมพ์ขายเองโดยนักเขียน (ในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องแปลกประหลาด) และรวมไปถึงเป็นนักเขียนคนแรก ๆ ของไทยที่ส่งผลให้วงการของหนังสือประเภทรวมบทความแบบ Pocket Book ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยและกลายมาเป็นเรื่องปกติในตลาดหนังสือของไทย
หนังสือ : อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ
โดย : แน่งน้อย ปัญจพรรค์
จำนวน : 560 หน้า
ราคา : 599 บาท
"อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการ "บันทึกทั้งชีวิตของ อาจินต์ ปัญจพรรค์" ที่เรียกได้ว่าตัวเขาเป็นนักเขียนคนสำคัญทั้งต่อวงการวรรณกรรมของไทย และวงการตลาดหนังสือไทย (รวมถึงวงการเพลงไทยและวงการโทรทัศน์ไทยด้วย) อาจจะเรียกได้ว่า อาจินต์ เป็นนักสื่อสารมวลชนคนสำคัญ ในสมัยแรก ๆ ของประเทศไทย ที่ช่วยให้วงการสื่อสารมวลชนของไทยถูกพัฒนาและขยายขึ้นกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อปลายปี 2561 ประเทศไทยได้สูญเสียนักเขียน นักสื่อสารมวลชนคนสำคัญอย่างอาจิตน์ไปอย่างไม่มีวันกลับ เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศเราสูญเสียบุคคลสำคัญไปอีกหนึ่งคน หากแต่การสูญเสียของอาจินต์ได้ก่อให้เกิดกระแสของการหวนหงกลับมาหางานของอาจินต์อีกครั้ง ทั้งงานที่สร้างชื่อให้อาจินต์อย่าง "เหมืองแร่" และงานที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อชีวิตอาจินต์ตกผลัก (จนหลายคนให้คุณค่าว่าเป็นงานที่ดีที่สุดของอาจินต์) อย่างงานเรื่อง "เจ้าพ่อ เจ้าเมือง และเจ้าแม่" ที่หลายคนให้ความเห็นเอาไว้
รวมถึงการสูญเสียอาจิตน์ไปเมื่อปี 2561 ทำให้ "อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ" หนังสือที่ถือว่าเป็นบันทึกความทรงจำตลอดช่วงระยะเวลาชีวิตของอาจินต์ถูกนำมาปรับปรุง เขียนเพิ่มเติม และตีพิมพ์อีกครั้งในวันที่อาจินต์ไม่อยู่แล้ว
"อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ" เป็นหนังสือขนาดใหญ่และยาว ที่บันทึกเรื่องราวของอาจินต์เอาไว้ตั้งแต่เมื่อเขาจำความได้ และบันทึกกระทั่งวันสุดท้ายของลมหายใจ
"อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ" นอกจากจะเป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวชีวิตของนักเขียนแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวของสังคมภาคกลางและภาคใต้ ที่ทาบทับกับช่วงชีวิตของอาจินต์ เอาไว้ได้อย่างเป็นระบบ ละเอียดและเห็นสภาพของสังคมในช่วงเวลานั้นได้อย่างดีและชัดเจน ด้วยความที่อาจินต์เป็นนักเขียน ทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ถูกฉวยมาบันทึกเอาไว้ได้อย่างงดงาม ทั้งสภาพบ้านเมือง สังคม วิถีชีวิต รวมถึงเหตุการบ้านเมืองที่อาจินต์หยิบเอามาบันทึกเอาไว้ได้อย่างชัดเจน เห็นภาพและลงรายละเอียด
"อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ" หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นหนังสือบันทึกความทรงจำของคนเพียงคนหนึ่ง (ก็จริง) แต่การที่คนที่บันทึกความทรงจำเหล่านั้นเอาไว้เป็นใครก็สำคัญ เพราะคนแต่ละคนที่จะฉวยเอาความทรงจำแต่ละช่วงเวลาไว้ มันจะช่วยสะท้อนภาพของสังคมหนึ่ง ๆ เอาไว้ได้อย่างดี และสะท้อนมุมมองเหล่านั้นออกมาผ่านความเห็น ความคิด ของบุคคลนั้น ๆ "อากาศจักจารผจง จารึก พอฤๅ" ช่วยฉายภาพของสังคมไทย พัฒนาการของวงการสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงการเมืองไทยและสังคมไทยเอาไว้ได้อย่างดี และเราจะเห็นปฏิสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ ที่ฉาบทับกับชีวิตของคนในสังคมจริง ๆ เราจะพบว่าหลายครั้งความทรงจำสำคัญของสังคม มักถูกบันทึกผ่านความทรงจำของบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ จะเป็นใคร ทุกคนก็ล้วนสามารถสะท้อนภาพความทรงจำของสังคม ผ่านความทรงจำและตัวตนของพวกเขาได้เช่นกัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in