รีวิวเว้ย (372) เมื่อพูดถึงอยุธยา หลายคนน่าจะคิดถึงละครอย่างบุพเพสันนิวาส (ออเจ้า) กุ้งเผา เศษซากโบราณสถาน ตลาดน้ำอโยธยา และประวัติศาสตร์ไทยฉบับคนรักชาติที่ปลูกฝังความเกลียดชังเพื่อนบ้านและวาทกรรมที่ว่า "พม่าเผากรุงฯ" แต่หลายคนอาจจะไม่คาดคิดว่าหนึ่งในมรดกตกทอดที่สำคัญจากสมัยอยุธยา สู่ธนบุรี กระทั่งมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ก่อน พ.ศ.2475 และถึงปัจจุบัน สยาม ไท ไทย หรือที่เราจะเรียกกันว่าอะไรก็แล้วแต่ เราได้รับเอาแนวคิดสำคัญ ๆ หลายประการมาใช้นับตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเฉพาะแนวคิดทางการเมือง (ความคิดทางการเมือง) ทั้งเรื่องของการครองราชของพระมหากษัตริย์ พระราชพิธี ประเพณี เลยไปกระทั่งถึงวิถีชีวิตของคนในสมัยปัจจุบันก็ยังคงแฝงฝังไปด้วยแนวความคิดที่ตกทอดมาจากสมัยอยุธยาด้วยเช่นกัน
หนังสือ : โลกที่ (คิดว่า) คุ้นเคย: ความคิดทางการเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893-2310
โดย : สมเกียรติ วันทะนะ
จำนวน : 472 หน้า
ราคา : 450 บาท
"โลกที่ (คิดว่า) คุ้นเคย: ความคิดทางการเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893-2310" หนังสือที่ศึกษาความคิดทางการเมืองไทยลำดับที่ 1 จากหนังสือในชุดนี้ที่มีทั้งสิ้น 4 เล่ม ของ รศ.ดร.สมเกียรติ วันทะนะ จากคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลักเกษตรศาสตร์ ที่เนื้อหาภายในของหนังสือมุ่งที่จะตอบโจทย์ว่าอะไรคือ "ความคิดทางการเมืองไทย" ที่สำคัญในสมัยอยุธยา นับตั้งแต่การก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา กระทั่งถึงตอนที่เสียกรุงฯ ครั้งที่ 2
เนื้อหาภายในของหนังสือเล่มนี้ บอกเล่าถึงพื้นฐานของสิ่งที่จะกลายมาเป็นรากฐานทางความคิดทางการเมืองของคนอยุธยากระทั่งส่งผลมาถึงคนในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของฤดูกาลที่เป็นกลจักรสำคัญของการกำหนดแบบแผนวิธีชีวิตและแนวคิดทางการเมืองของคนอยุธยา ผ่ายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศตามฤดูกาลต่าง ๆ และฤดูการเหล่านี้กำหนดในเกิดเป็นแบบแผนและแนวทางในการปฏิบัติของคนในอยุธยา นับตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่ยดินลากยาวไปกระทั่งถึงไพร่ราบทหารเลว ล้วนแต่ยึดโยงกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูการและสภาพดินฟ้าอากาศแทบทั้งสิ้น
ใน "โลกที่ (คิดว่า) คุ้นเคย: ความคิดทางการเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893-2310" ได้ฉายให้เห็นภาพความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำหนดบทบาทของผู้คนในสังคมเอาไว้ผ่าน "ทวาทศมาศ" หรือ "พระราชพิธี 12 เดือน" ที่มีการระบุเอาไว้ในกฎมลเฑียรบาล ถึงประเพณีที่ต้อง (พึง) ปฏิบัติตามฤดูการต่าง ๆ โดยในหนังสือขยายให้เห็นถึงความสำคัญของพิธีในช่วงเดือนต่าง ๆ ว่าทุกพิธีล้วนถูกจัดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งพิธีถือน้ำ-ออกสนามใหญ่ (ช่วงเดือน 5 และเดือน 10) หรือจะเป็นพิธีขอฝน พิธีแรกนา พิธีปัดเป่าโรคภัย พิธีไล่น้ำ ล้วนแต่ผูกโยงอยู่กับเรื่องราวของฤดูการ และแนวคิดเบื้อหลังของการกำกับพิธีต่าง ๆ เอาไว้ ทั้งแนวคิดที่มาจากคติความเชื่อของศาสนาผี พราหมณ์ พุทธ ที่ถูกปรับใช้ให้กลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมของการสร้างความคิกทางการเมืองในสมัยอยุธยา
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างฤดูกาล พระราชประเพณี ศาสนาผี พราหมณ์ พุทธ ล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมต่อการสืบทอดอำนาจ รักษาอำนาจและแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นปกครองในสมัยอยุธยา (ในปัจจุบันก็ยังคงเห็นวิธีการของครั้งอยุธยาด้วย) ผ่านการสร้างความชอบธรรมผ่านมิติของราชาธิปไตยสมัยอยุธยาที่อาศัยมิติของ (1) อำนาจ-วาสนา (2) บุญญา-บารมี และ (3) ร่มเย็น-เป็นสุข ที่แนวคิดของทั้ง 3 มิติถูกคลี่ตีแผ่ให้เห็นผ่านระบบคิดของฤดูการ ประเพณีและศาสนา ที่ตลอดช่วงระยะเวลา 417 ปีของอยุธยา สิ่งเหล่านี้คือกลไกในการธำรงไว้ซึ่งระบบและวิธีคิดทางการเมืองของอยุธยา
ที่ในสมัยปัจจุบันความคิดทางการเมืองดังกล่าวยังสามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทย ได้อย่างดี อาจจะมีปรับเปลี่ยนในเรื่องของบริบทและตัวแสดงที่เปลี่ยนไปจากสมัยอยุธยาบ้าง แต่ถ้าพิจารณาให้ดีเราก็จะพบว่า ไม่ว่าจะอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ก่อน 2475 หรือหลัง 2475 ก็ดี ฤดูการ ประเพณี ศาสนา ที่ประกอบกันเป็นความคิดทางการเมืองอยุธยา ยังสามารถอธิบายคสามเป็นรัตนโกสินทร์ (ไทย) ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เหมือนคสามตอนหนึ่งในหยังสือที่ว่า "กฎเกณฑ์และกฎมณเฑียรบาล แท้จริงแล้วไม่ได้มีความหมายและความสำคัญกับสังคมอยุธยาเลยแม้แต่น้อย" ซึ่งดู ๆ ไปก็ไม่ต่างกันกับ "รัฐธรรมนูญไทย" ที่ก็ถูกมองว่าไม่มีความหมาย ความสำคัญ หรือความศักดิ์สิทธิเลยแม้แต่น้อย ใครอยากฉีกอยากเขียนใหม่ก็เชิญทำได้ตามที่ใจ (และอำนาจ) เรียกร้องให้ทำ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in