รีวิวเว้ย (317) หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง เราได้ทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความลับในมิติของประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้รฝนว่าแท้จริงแล้วมันมีมิติของคำและความหมายของคำเช่นไร ตลอดห่วงระยะเวลาของประวัติศาสตร์ นั่นคือความเข้าใจมิติและบริบทของคำว่า "ความลับ" ในแบบสากลโลก เหตุนี้เราจึงอยากหาความหมายของการนิยาม "ความลับ" ในบริบทของภาษาไทยว่าความหมายของคำดังกล่าวหมายถึงสิ่งใด จึงได้ลองหาความหมายของคำว่า "ความลับ" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตปี พ.ศ. 2554 ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม่มีความหมายของคำว่า "ความลับ" หากแต่มีเพียงความหมายของคำว่า "ความ" (น.) คำนำหน้ากริยาหรือวิเศษณ์เพื่อแสดงสภาพ เช่น ความตาย ความดี ความชั่ว. (ซึ่งมีด้วยกันหลายความหมาย) และ "ลับ" (ว.) ที่อยู่ในที่พ้นตา, ที่อยู่ในที่ซึ่งแลไม่เห็น, เช่น ที่ลับ ประตูลับ หายลับ, ที่ปกปิดหรือควรปกปิด เช่น ความลับ หนังสือลับ ห้องลับ, มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังอยู่ เช่น ของอยู่ลับฝา พระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขา.
ซึ่งคำอื่น ๆ ที่ประกอบขึ้นจาก ความ + (อะไรสักอย่าง) หลายคำก็ไม่มีอยู่ในการให้ความหมายของพจนานุกรมปี พ.ศ. 2554 ทำให้เรานึกย้อนไปถึงตอนหนึ่งของหนังสือ "อดีตอยู่ข้างหน้าอนาคตอยู่ข้างหลัง" ที่พูดถึงเรื่องของการดูความสำคัญของคำหนึ่ง ๆ ผ่านความหมายและความหลากหลายของการใช้คำในสังคมนั้น ๆ เหตุนี้หากให้เรานิยาม "ความลับ" ในบริบทของสังคมไทย เป็นไปได้ว่า "ความลับ" ในสังคมนี้มีอยู่จริงแต่ก็ไม่มีอยู่จริง เพราะเรารับรู้ได้ว่า "ความลับ" ก็คือความลับ แต่เมื่อเราตามหานิยามในความหมายที่ชัดแจงกลับพบว่ามันเป็น "ความลับ" ที่ไม่ถูกระบุไว้ด้วยการให้ความหมายตามพจนานุกรม
หนังสือ : ประวัติศาสตร์ความลับ
โดย : วิศรุต พึ่งสุนทร
จำนวน : 224 หน้า
ราคา : 290 บาท
"ประวัติศาสตร์ความลับ" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ "ความลับ" ที่ใครหลายคนมักไม่คาดคิดว่า "ความลับ" แม่งจำเป็นต้องมีประวัติศาสตร์ด้วยหรอว่ะ (?) เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องราวของ "ความลับ" ในฐานะของต้นเหตุของการศึกษาประวัติศาสตร์ ด้วยการหยิบเอาคำที่หลายคนมองว่ามีลักษณะของความเป็นนามธรรม มาขยายให้เห็นถึงสถานะของความเป็นสิ่งที่สามารถจับต้อง ให้นิยาม รวมถึงทำการศึกษา ถึงแนวคิด ความเป็นมาและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
"ประวัติศาสตร์ความลับ" พาเราไปทำความเข้าใจกับ "ความลับ" นับตั้งแต่มีการปรากฏหลักฐานที่พูดถึงเรื่องของความลับครั้งแรก ๆ ที่มีการบันทึกเอาไว้ นั่นเท่ากับการพาเรากลับไปสู่ยุคโบราณที่แนวคิดในเรื่องของ "ความลับ" ปรากฎขึ้นบนหลักฐานทางประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ "ประวัติศาสตร์ความลับ" ยังจับเอา "ความลับ" มาเรียงร้อยให้กลายเป็นช่วงเวลาของพัฒนาการของความลับที่ปรากฎขึ้นได้อย่างน่าสนใจ นับตั้งแต่สมัยโบราณ สมัยที่ศาสนาจักรถูกให้ความสำคัญ กระทั่งพัฒนามาสู่ยุคสมัยของรัฐชาติสมัยใหม่และเข้าสู่สมัยปัจจุบันที่ "ความลับ" ค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเลื่อยมาตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์
"ประวัติศาสตร์ความลับ" ยังช่วยโยงภาพความสัมพันธ์ของ การเมือง รัฐและศาสนจักร เข้าด้วยกันโดยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งสามอย่าง และแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของ "ความลับ" ที่หลายครั้งก็ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อรับใช้อุดมการณ์ดังกล่าว และหลายครั้งตัวมันเองก็ถูกใช้ในฐานะของเครื่องมือในการต่อต้านอุดมการณ์ดังกล่าวเช่นกัน
เหมือนที่มีคนเคยบอกเอาไว้ว่า เรื่องยิ่งลับมากเท่าไหร่ เรื่องนั้นก็ยิ่งทวีความสำคัญ และมีคนอยากรู้มากขึ้นเท่านั้น มากเสียจนมันอาจจะกลายเป็น ความลับที่ไม่ลับอีกต่อไป หรือมันอาจจะกลายเป็นความลับที่ถูกบอกเล่าออกไปได้หลายร้อยหลายพันแบบ ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า "ความลับ" ถูกบริหารจัดการอย่างไรและโดยใคร
ซึ่ง "ประวัติศาสตร์ความลับ" ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า "ความลับ" เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังทั้งในฐานะของผู้สร้างสรรค์และผู้ทำลาย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in