ในอาทิตย์ที่สามเราได้วนมาเจอเด็ก อ.3/3 - อ.3/4 และ อ.2/1 ค่ะ เราได้เล่านิทานแค่ 3 วันเองค่ะ เพราะว่ามีวันหยุดนักขัตฤกษ์ในวันจันทร์ และวันสถาปนาโรงเรียนและทอดผ้าป่าการศึกษาในวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน โดยในวันศุกร์ที่โรงเรียนไม่มีการเรียนการสอน แต่จะมีการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ถวายอาหารเพล ชมการแสดงของเด็กอนุบาล 3 (เด็กๆ เต้นเพลงเด็กดอยใจดีใส่ชุดเด็กดอยกันน่ารักมากๆ เลย) และกินอาหารกลางวันด้วยกันทั้งบุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง และเด็กๆ ที่มาเข้าร่วม หลังจากที่กินข้าวเรียบร้อยแล้วได้พักกันครู่หนึ่ง ก็มาช่วยกันเก็บของ โดยเริ่มจากเก็บของในส่วนของโรงเรียนจะมีแค่พวกป้าย ผ้าประดับเวที เก้าอี้ของโรงเรียน ผ้าที่ตกแต่งเวทีคุณครูประจำชั้น อ.2/4 เป็นคนทำค่ะ แล้วครูเป็นผู้ชายด้วย ทำได้สวยมาก งานละเอียดมาก ครูทำผ้าประดับเป็นรูปหัวใจ ตอนที่ทำครูใช้เวลาเป็นอาทิตย์สองอาทิตย์เลยค่ะ แต่ว่าตอนเก็บและรื้อ ออกใช้เวลาแค่ห้านาทีเอง เสียดายมาก แต่ไม่แกะก็ไม่ได้ เพราะครูบอกว่าเราใช้เข็มหมุดกลัดผ้าเอาไว้ ถ้าไม่เอาออกจะทำให้เกิดสนิมเลยต้องเอาออก และเอาของที่ยืมมาไปคืนวัดค่ะ งานนี้สุดยอดเลยค่ะ เหนื่อยแบบตะโกน เพราะว่าของที่ต้องคืนมีเยอะมาก รอบแรกที่เอาของไปคืนคุณครูพาเดินทางลัดผ่านทางกุฎีพระค่ะ เดินไปเรื่อยๆ ก็เจอหมาตัวอ้วนใหญ่ตั้งสองตัว คนนำบอกว่าหมาไม่กัด(เราคิดว่าไม่กัดค่ะ แต่อาจจะงับแทน) เราเลยกึ่งเดินกึ่งวิ่ง แต่ว่าพอเรารีบเดินหมาก็เหมือนจะมางับ เราเลยยกของที่ถืออยู่ทำท่าจะตี หมาถึงได้หันไปสนใจคนอื่นแทน(คนเห็นไหมไม่รู้ เราห่วงแค่น่องเราค่ะT_T) และรอบที่เอาเก้าอี้ไปคืน รถเข็นที่โรงเรียนมีแค่สองคัน ขนาดไม่ใหญ่มาก เลยใส่เก้าอี้ได้น้อย นี่แหละค่ะทุกคนเลยได้ออกกำลังกายกัน โดยการแบกเก้าคนละตัวไปคืน ตอนแบกเก้าอี้ไปคืนยังไม่เหนื่อยมาค่ะ ตอนเอาเก้าอี้ขึ้นชั้นสองนี่แหละที่เล่นเอาทุกคนเหนื่อยสุด คุณครูเลยให้ตั้งแถวแล้วส่งต่อๆ กันมา ทำแบบนี้เลยช่วยลดเหนื่อยไปได้อยู่ แต่เก้าอี้ที่คืนมีเยอะไงคะ ก็เหนื่อยอยู่ดีแหละ55555555555 ระหว่างที่เอาของไปคืนเราก็ได้สำรวจวัดไปด้วยค่ะ วัดที่นี้ใหญ่มาก เราเห็นแต่ข้างหน้า เพิ่งเคยเดินเข้ามาในวัดครั้งแรก พื้นที่ของวัดคือเยอะจริง หลังจากที่คืนของเสร็จเรียบร้อยก็ได้พักผ่อนตามอัธยาศัย รอเวลาสี่โมงครึ่งก็กลับบ้านได้เลยยย
และนี่เป็นภาพรวมตอนคุณครูขอถ่ายรูปนักศึกษาเก็บไว้ค่ะ เราเป็นคนที่ไม่ชอบการถ่ายรูป อุตส่าห์หลบกล้องอื่นได้ แต่หลบกล้องคุณครูไม่พ้นอยู่ดี T_T
และในอาทิตย์ที่สี่ เป็นอาทิตย์ที่เรียนหน่วยประสาทสัมผัส อาทิตย์นี้เราจะวนไปเจอเด็ก อ.2/2 - อ.2/4 และ อ.1/1 - อ.1/2 ค่ะ เนื่องจากเป็นการเจอกันครั้งที่สองของเด็กอนุบาลสอง เราจำหน้าได้ในแต่ละห้องได้บ้างแล้ว อาจจะมีหลงลืมชื่อบ้างนิดหน่อยและในครั้งนี้เด็กเริ่มคุ้นชินกับเราบ้างแล้ว ทำให้เด็กเริ่มเข้าหา พูดคุย หรือเล่นกับเรามากขึ้น รอบนี้เด็กๆ จำชื่อเราได้แล้ว ถึงแม้ว่าตอนแรกจะเรียกชื่อเราสลับกับครูนักศึกษาในห้องก็เถอะ55555555555555 และเด็กบางคนก็พูดไม่ชัดเลยเรียกเราว่า ครูคอย จริงๆ เราชื่อพลอยนะคะ แต่เด็กบางคนยังพูดไม่ชัดเลยทำให้ออกเสียงจากพลอยเป็นคอยไปซะงั้น ครูคอยเลยเป็นอีกชื่อหนึ่งของเราที่เด็กในโรงเรียนชอบเรียกเลยค่ะ อย่าว่าแต่น้องอนุบาลหนึ่งกับอนุบาลสองนะคะ พี่อนุบาลสามที่เรียกครูคอยก็มีเลย ในอาทิตย์นี้จะเป็นครั้งแรกที่เราได้เจอกับเด็กอนุบาลหนึ่งค่ะ รู้สึกตื่นเต้นมาก ครั้งแรกที่เจอกันเด็กไม่เข้าใกล้เราเลยค่ะ น่าจะเป็นเพราะเจอกันครั้งแรก เด็กเลยยังไม่คุ้นและยังกลัวคนแปลกหน้าอยู่ เนื่องจากในอนุบาลหนึ่งจะมีทั้งเด็กในเกณฑ์และนอกเกณฑ์ (เด็กนอกเกณฑ์คือเด็กที่อายุยังไม่ถึงสามขวบ) ยิ่งเป็นเด็กเล็กเขาเลยยิ่งไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าสักเท่าไหร่ เรานี่หาสารพัดวิธีเล่นกับเด็กเลยค่ะ บางคนก็ยอมเล่น บางคนก็ยังไม่ยอมเล่น เด็กอนุบาลหนึ่งจะกินข้าวกันตอน 10:00 น. ในช่วงเช้าเลยไม่ได้ทำอะไรเยอะเท่าไหร่นัก ถ้าไม่ช่วงเช้าไม่ได้มีกิจกรรมอย่างอื่นเพิ่ม เด็กจะดื่มนม เรียนและทำงานนิดหน่อย ยิ่งถ้าเราไปเล่านิทานด้วยก็ถึงเวลากินข้าวพอดี หลังจากกินข้าวเสร็จก็พาเด็กเข้านอน เนื่องจากน้องเป็นเด็กตอนนอนเลยต้องมีกล่อมเขานอนบ้างบางคน ติดขวดนมอยู่ก็มี ติดผ้าเน่า ตุ๊กตาก็ยังมี และภารกิจที่สำคัญของการอยู่กับเด็กอนุบาลหน่ึ่งก็คือ การเปลี่ยนแพมเพิร์สนั่นเอง อันนี้ลืมไม่ได้เลยค่ะ เพราะเขาใส่มาตั้งแต่เช้าแล้วถ้าไม่เปลี่ยนเขาจะไม่สบายตัวและงอแงกัน ยิ่งมีเด็กเล็กด้วย ไหนจะเด็กที่พูดไทยไม่ได้อีก สิ่งนี้ห้ามลืมเด็ดขาด หลังจากที่เด็กตื่นนอนแล้ว ไม่ต้องแปลกใจเลยนะคะที่ตอนแรกจะมีเด็กใส่แค่ชุดนักเรียน แต่พอตอนกลับบ้านจะมีเด็กเปลี่ยนเป็นชุดอยู่บ้านด้วย คำตอบก็คงไม่พ้นเด็กๆ นอนฉี่รดที่นอนใช่ไหมล่ะคะ (จริงๆ ไม่ใช่แค่เด็กอนุบาลหนึ่งนะคะ พี่อนุบาลสองและสามก็มี แค่จะไม่เยอะเท่าน้องนั่นเอง) เราคิดว่าอยู่กับเด็กเล็กน่าจะเหนื่อยกว่าเด็กอนุบาลสองและสามอยู่หน่อย เพราะว่าน้องยังเล็กบางทีก็อาจจะอยู่ไม่นิ่งบ้าง และยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนเด็กอนุบาลสองและสาม เราเลยต้องค่อยๆ สอนและใจเย็น ยิ่งเด็กเล็กที่มาจากประเทศอื่น ส่วนใหญ่จะฟังไทยไม่ออก เราเลยสอนแค่คำพูดไม่ได้ค่ะ ต้องทำท่าทางให้ดูเด็กถึงจะเข้าใจว่าต้องทำอะไรยังไง เช่น การแขวนของใช้ส่วนตัว ที่โรงเรียนจะให้เด็กจำสัญลักษณ์ค่ะ เป็นพวกผักผลไม้ให้เด็กๆ จำว่าของตนเองคืออะไร อยู่ตรงไหนและแขวนเข้าที่ให้เรียบร้อย แต่เด็กที่ฟังภาษาอังกฤษได้ก็จะง่ายหน่อยค่ะ และนี่เป็นตัวอย่างภาพตอนที่เล่านิทานให้เด็กให้เด็ก อ.1/2 ฟังค่ะ นั่งเรียงกันเป็นตัวยู มีทั้งนั่งนิ่งบ้าง นั่งไม่นิ่งบ้างตามประสาเลยค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in