เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
book reviewAorpor
ซากศพสีฟ้า - โอตสึ อิจิ (วิเคราะห์)
  • หมายเหตุ : บทความนี้มีการสปอย์เนื้อหา ควรอ่านหนังสือมาก่อน


    “ซากศพสีฟ้า” เป็นวรรณกรรมแปลขนาดสั้น ผลงานการประพันธ์ของ โอตสึ อิจิ นักเขียนชาวญี่ปุ่น แปลโดย รัตน์จิต ทองเปรม เป็นผลงานสะเทือนอารมณ์เรื่องหนึ่งที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นเป็นหนังสือการ์ตูนเมื่อปี 2003 และภาพยนตร์ที่ถูกนำแสดงโดย ชิโรตะ ยู, ซึกะ เคนตะ และ ทานิมูระ มิตสึกิ ในปี 2008 ที่ผ่านมา


    ซากศพสีฟ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “มาซาโอะ” นักเรียนชั้นประถมห้า ที่มีนิสัยขี้กลัวและไม่กล้าแสดงออกคนหนึ่ง ที่หลังจากมีครูคนใหม่เข้ามาเป็นครูประจำชั้น “คุณครูฮาเนดะ” เป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักเรียน รวมถึงผู้ปกครองของเด็ก ๆ แต่แล้ววันหนึ่งที่ความนิยมค่อยๆ ลดน้อยลงไป ครูฮาเนะดะก็เริ่มที่จะตำหนิมาซาโอะ ดุด่า จนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย การกระทำเหล่านี้ทำให้เพื่อนในห้องเริ่มรู้สึกกลับมาชื่นชอบครูเหมือนเดิม เนื่องจากไม่ดุว่าตัวเอง และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรผิด คนที่ถูกว่ามักจะเป็นมาซาโอะเสมอ ยิ่งความนิยมของครูเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ มาซาโอะก็ถูกดุด่าจากครู    ฮาเนดะและถูกเมินเฉยจากเพื่อนในห้องมากเท่านั้น


    กระทั่งวันหนึ่ง มาซาโอะได้รู้จักกับ “อาโอะ" เด็กชายผู้มีผิวหนังสีฟ้า ใบหน้าบิดเบี้ยวเต็มไปด้วยบาดแผล ใบหูแหว่งวิ่น ศีรษะไร้ผม ราวกับเป็นซากศพ มาซาโอะรู้สึกกลัว แต่ภายในใจก็รู้สึกว่าเขาสนิทใจที่มีอาโอะอยู่ใกล้ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งอาโอะที่เข้าใจความทุกข์ทรมานใจของอีกฝ่ายเป็นอย่างดี ก็ยุให้มาซาโอะลุกขึ้นสู้ การวานแผนฆ่าครู   ฮาเนดะได้เริ่มต้นขึ้น เขาตัดสินใจแอบเข้าห้องพักของครู แต่แผนการไม่เป็นไปอย่างที่เขาต้องการ ครูฮาเนดะจับได้ ทำร้ายเขาและพยายามขู่่ไม่ให้เขาบอกความจริงกับทุกคน แต่ครูฮาเดนะตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวในสิ่งที่ตนเองกระทำลงไป และสุดท้ายเรื่องทุกอย่างก็กลับสู่ปกติ มีครูประจำชั้นคนใหม่เข้ามาสอน และเพื่อนๆก็กลับมาคุยกับมาซาโอะเหมือนเดิม


    เรื่องนี้มองเผินๆ หลายคนคงจะมองว่าเป็นเรื่องสั้นที่พูดถึงการถูกบูลลี่ภายในโรงเรียนจากการเผิกเฉยและทำร้ายจากทั้งตัวของครูและนักเรียนด้วยกันเอง แต่หากมองลึกลงไปแล้วสิ่งที่ตัวละครอย่างมาซาโอะกำลังเผชิญอยู่นั้นคือ การถูกกดทับจากปัญหาเชิงโครงสร้าง การมีอยู่ของ “Functionalism” สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะต้องทำหน้าที่ตามสิ่งที่ตัวเองเป็น เช่น เด็กต้องทำหน้าที่เรียนหนังสือ ในขณะที่ครูต้องทำหน้าที่สอนหนังสือ การที่มาซาโอะนั้นเกิดความกลัวขึ้นในจิตใจ ไม่กล้าที่จะพูดถึงสิ่งที่ถูกต้อง เกิดขึ้นจริง ยอมที่จะโดนครูและเพื่อนๆในห้องกลั่นแกล้ง โดยไม่เรียกร้องความเป็นธรรมหรือบอกกับที่บ้านของคนเอง นั่นเป็นเพราะเกิดการทำงานในเรื่องของ Ideology มาซาโอะถูกชุดความคิดของคำความเด็กนักเรียกกดทับตัวเองไว้ เด็กนักเรียนที่มีหน้าที่เรียนหนังสือ ทำตามที่ครูสั่ง และไม่ยอมบอกความจริงกับที่บ้านว่าตัวเองถูกรังแก เพราะคนที่บ้านมองครูฮาเนดะว่าเป็นครูที่ดี หากตนเองไปจะบอกว่าตนถูกครูทำร้าย จะถูกมองว่าเป้นการโกหกแทน 


    และในขณะเดียวกันเอง ครูก็พยายามที่จะคงอำนาจของตัวเองโดยการที่หาตัวตายตัวแทนอย่างมาซาโอะ เพื่อให้ตัวเองยังคงอำนาจอยู่ โดยไม่สนใจว่าการกระทำของเราจะไปทำให้คนใดต้องเผชิญหน้ากับความโหดร้ายมากน้อยเพียงใด 


    การถูกกดทับด้วยแนวความคิดเช่นนี้ทำให้ตัวมาซาโอะไม่กล้าที่จะทำตามความคิดและความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากหลายๆ บทสนทนาในเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น มาซาโอะไม่ยอมพูดอะไรเมื่อมีเพื่อนโยนความผิดให้ตัวเอง หรือการที่เมื่อมาซาโอะรวบรวมความกล้าไปหาครูฮาเนเดะ เรื่องที่ครูมักจะโยนความผิดต่างๆให้กับตัวเอง แต่เมื่อครูใช้กำลังบีบบังคับและให้มาซาโอะพูดว่าตัวเองเป็นคนผิด สุดท้ายแล้วเขาก็เลือกที่จะทำตามที่ครูสั่งเพราะความกลัว 


    ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการมีอยู่ของ “Hegemony” หรือการที่กลุ่มหนึ่งมีการใช้อำนาจครอบงำทางความคิดคนอีกกลุ่มอยู่ ในเรื่องนี้คือการที่ครู ใช้ชุดความคิดที่ว่าตัวเองมีหน้าที่สอนหนังสือ และการลงโทษเด็กที่ทำตัวไม่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ถูกต้อง การกระทำเช่นนี้ทำให้เพื่อนในห้องมองมาซาโอะว่าเป็นเด็กไม่ดี ทำอะไรก็ผิด แต่ไม่เกิดการตั้งขอสังเกตขึ้นเมื่อมีการลงโทษเกิดขึ้น และสิ่งนี้เองก็ยังทำให้มาซาโอะยอมที่จะทำตามสิ่งที่ครูบอกแม้ว่าลึกๆภายในใจจะมองว่ามันไม่ถูกต้องก็ตาม หัวโขนของคำว่าครูและนักเรียนทำให้การกระทำของครูที่ไม่ถูกต้องกลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับกับภายในห้องเรียน


    ในสมัยเอโดะชาวนามีความไม่พอใจในชีวิตความเป็นอยู่ จึงมีการสร้างกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘เอตะ’ และ ‘ฮินิน’ ให้มีสถานภาพต่ำกว่าชาวนา เพื่อลดความรู้สึกไม่พอใจของชาวนาลง ทำให้ชาวนารู้สึกว่าตัวเองยังมีค่าสูงกว่าคนพวกนี้ ทำให้ ‘เอตะ’ และ ‘ฮินิน’ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้เป็นบทเรียนหนึ่งในห้องเรียนที่ทำให้มาซาโอะเริ่มเข้าใจถึงการกระทำของครูและเพื่อนๆมากขึ้น การที่ครูนำเอาทุกอย่างมาลงไว้ที่มาซาโอะ ทำให้มาซาโอะเป็นเหมือน ‘เอตะ’ และ ‘ฮินิน’ ของเพื่อนในห้อง ทำให้เพื่อนเลือกที่จะไม่พอใจในมาซาโอะ แทนที่จะไม่พอใจในครูฮาเนดะแทน 


    การถูกกดทับจากชนชั้นทางสังคม คือการที่ตัวตน ความรู้สึกจริงๆของมาซาโอะถูกกดเอาไว้ แล้วแสดงออกมาในรูปแบบของอาโอะ ในหนังสือมีฉากหนึ่งที่มาซาโอะถูกเพื่อนเรียนไปที่หลังโรงเรียนเพื่อทำร้าย ในตอนแรกมาซาโอะเลือกที่จะไม่ทำอะไร แต่เหมือนเมื่อทวีความรุนแรงขึ้น ด้านมืดภายในจิตใจที่ถูกกดทับเอาไว้ก็ปะทุออกมา มาซาโอะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองหลุดออกมาจากวงล้อมของเพื่อนได้อย่างไร รู้ตัวอีกทีคือในปากของตนเองเต็มไปด้วยคาวเลือด และทำให้มารู้ที่หลังว่า คือตัวเองที่กัดเพื่อน ไม่ใช่อาโอะอย่างที่ตัวเองคิด


    สิ่งนี้เองทำให้ อาโอะ เด็กชายผิวสีฟ้าเริ่มเข้ามีบทบาทกับความรู้สึกของมาซาโอะมากขึ้น เนื่องจากเป็นจิตใต้สำนึกของตัวเองที่ไม่สามารถแสดงอารมณ์จริงๆ ออกไปได้ สิ่งเหล่านั้นรวมตัวกันขึ้นเป็นอาโอะ และความคิดที่จะฆ่าครูฮาเนดะของพวกเขาทั้งสองจึงเริ่มต้นขึ้น 

    “เพราะอะไรถึงต้องเป็นผม” เป็นคำถามที่มาซาโอะถามขึ้น เมื่อเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเขาและครูฮาเนดะ หลังจากที่เรื่องราวทุกอย่างเริ่มแย่ลง ครูบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากการทำร้ายของมาซาโอะที่เปลี่ยนแปลงความตั้งใจเดิมจากการฆ่าเป็นการไว้ชีวิต 


    “เป็นใครก็ได้” ประโยคสั้นๆที่หลุดออกมาจากปากของครูฮาเนดะ ทำให้ตะกอนภายในใจของมาซาโอะค่อยๆจมลงไป ครูไม่ได้สนด้วยซ้ำว่าการทำเช่นนี้จะก่อนให้เกิดความรู้สึกอย่างไรกับตัวนักเรียน เขาคิดเพียงแต่ว่าต้องหาใครสักคนที่จะมาเป็นตัวแทนความเกลียดชังที่เขากำลังจะได้รับจากเด็กนักเรียน เพื่อให้เขายังคงความมีอภิสิทธิ์เหนือนักเรียนคนอื่นๆอยู่


    ดูเหมือนว่าหลังจากที่เรื่องทุกอย่างจบลง ครูฮาเนดะต้องรักษาตัวต่อหลายเดือน ทำให้มีครูประจำชั้นคนใหม่เขามาสอนแทน ครูคนใหม่ที่แตกต่างไปจากครูฮาเนดะ ครูที่ไม่ได้มีความพยายามหรือกระตืนรือร้นในการทำให้นักเรียนยอมรับและรักตนเอง จะทำให้ดูเหมือนว่ากำแพงของชนชั้นที่มีอยู่ก่อนหน้าจะถูกทำลายลงไปแล้ว และเพื่อนในห้องก็กลับมาเล่นกับมาซาโอะเหมือนเดิม แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นเพียงปัญหาที่ถูกซุกไว้ภายใต้พรมเช่นเดิมดังก่อนหน้าที่ครูฮาเนดะจะเข้ามา 


    เรื่องราวของเด็กป.ห้าเป็นเหยื่อจากโครงสร้างที่ครูฮาเนดะสร้างขึ้นค่อยๆ ก่อตัวเป็นความไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่เกิดขึ้น จะกระทั่งลุกขึ้นต่อกรกับอำนาจนั้น คล้ายกับสังคมไทยในปัจจุบันที่กำลังตั้งคำถามกับอำนาจที่ควบคุมเราอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เรื่องนี้มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวในแง่ของการตีแผ่ความเลวร้ายของสถาบันการศึกษา และยังทำให้สามารถมองเห็นภาพกว่าไปยังสถาบันอื่นๆได้อีก เนื่องจากแพทเทิร์นของการถูกกดทับด้วยอำนาจบางอย่างเช่นนี้เกิดขึ้นในชีวิตของเราอยู่เสมอ 

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in