เทียบกับประเทศอื่นในประเด็น 'Feminist Movement' ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศที่ถูกถึงในแง่ดีสักเท่าไหร่ ข่าวผู้หญิงถูกกีดกันในระดับต่าง ๆ ของสังคม Sexual Harassment, Power Harassment, คนมีชื่อเสียงที่แสดงออกว่านิยมปิตาธิปไตยมีให้เห็นกันอยู่ตลอดเวลา
ทว่าขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีการสร้างสื่อต่างๆ ที่ Empower ผู้หญิงอยู่ไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ มังงะ และอนิเมชั่น รวมไปถึงการเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่มีการผลักดันกันอย่างเป็นรูปธรรม
Feminist Movement รวมไปถึงความเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่มองจากภายนอกอาจเห็นว่าเงียบงันในญี่ปุ่น แท้จริงมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
เรามีโอกาสได้เข้าร่วมฟังเสวนาหนึ่งเกี่ยวกับวงการสิ่งพิมพ์ในญี่ปุ่นกับประเด็น Feminist Movement เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเลยเก็บบางส่วนบางตอนจากการพูดคุยมาเล่าให้ฟังค่ะ
หัวข้องานเสวนาครั้งนี้คือ「フェミニストとして書き、訳し、出版する」-- "Writing, Translating, and Publishing Feminist Books" หรือ "การเขียน การแปล และการตีพิมพ์ในฐานะเฟมินิสต์" จัดขึ้นโดย Center for Gender Studies มหาวิทยาลัย International Christian University โตเกียว (国際基督教大学) โดยมีนักเขียน, นักแปล และเจ้าของสำนักพิมพ์ในญี่ปุ่นเข้าร่วมเสวนา
2
บทบาทของนักเขียน นักแปล และสำนักพิมพ์ ในการผลิตหนังสือที่มีแนวคิดเฟมินิสม์ ในฐานะที่โลดแล่นอยู่ในวงการสิ่งพิมพ์ญี่ปุ่นในสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่มากกว่า 15 ปี ก่อนออกมาเปิดสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ
etc. book ที่ให้พื้นที่กับหนังสือเฟมินิสม์เป็นหลัก
มัตสึโอะ อากิโกะ เล่าว่าระหว่างที่ทำงานกับสำนักพิมพ์ใหญ่ที่เธอบอกว่าเป็น "โลกของผู้ชาย" เธอมีโอกาสได้ร่วมงานกับนักเขียนชายหญิงมากมาย และการได้ร่วมงานกับนักเขียนหญิงนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้แนวคิดเฟมินิสม์ของเธอ ดังนั้นหลังจากออกจากสำนักพิมพ์ใหญ่เธอจึงมุ่งมั่นทำสำนักพิมพ์ที่มุ่งเน้นงานแนวนี้เป็นพิเศษ
"เราอยากให้สำนักพิมพ์ของเราเป็นความเคลื่อนไหวหนึ่งของเฟมินิสม์ เป็นจุดเชื่อมต่อของเฟมินิสต์"*(ผู้เขียนขอใช้คำว่า "เฟมินิสม์" = Feminism(แนวคิดสตรีนิยม), และ "เฟมินิสต์" = Feminist(นักสตรีนิยม))
ขณะที่ มัตสึดะ อาโอโกะ นักเขียนหญิงและนักแปลผู้มีผลงานเขียนทั้ง Fiction และ Non-Fiction แนวสตรีนิยมที่มีผลงานแปลไปหลายภาษาบอกว่า ครั้งแรกที่เธอเขียนผลงานเรื่อง 『スタッキング可能』(Stackable) ตีพิมพ์เมื่อปี 2013 ซึ่งเป็นนิยายที่ว่าด้วยผู้คนที่ทำงานอยู่บนชั้นต่างๆ ในอาคารและการรับมือกับความกดดันของสังคมและเรื่องอื่นๆ เธอไม่ได้คิดมาก่อนว่างานเขียนของเธอจะเป็นเรื่องของเฟมินิสม์
"ตอนนั้นเราเขียนในสิ่งที่เราเห็นว่าผู้หญิงญี่ปุ่นเป็น ตั้งใจเขียนความแปลกประหลาดบางอย่างเกี่ยวกับผู้หญิงที่เรารู้สึกว่ามันมีอยู่ เราเขียนโลกของผู้หญิงที่เราเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น"
ปก スタッキング可能 ฉบับภาษาญี่ปุ่น
ซึ่งหลังจากเธอได้พบกับมัตสึโอะ ได้เรียนรู้แนวคิดเฟมินิสม์และได้รู้ว่าผู้หญิงที่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นของเธอชอบมากเธอจึงตั้งใจจะเขียนหนังสือที่ทำให้ผู้หญิงอ่านแล้วดีใจที่ได้อ่านมัน
และคงเป็นอย่างที่เธอตั้งใจ เมื่อหนังสือรวมเรื่องสั้น 『おばあちゃんたちのいるところ』หรือชื่อภาษาอังกฤษ Where The Wild Ladies Are เรื่องสั้นร้อยเรียงต่อกันโดยแต่ละเรื่องได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าและตำนานพื้นเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในญี่ปุ่นและได้รับการแปลไปหลายภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วย*
"เราเขียนมันจากเรื่องเล่า เรื่องผี และตำนานต่างๆ ที่ตัวเองชอบอ่านมาตั้งแต่เด็ก เรารู้สึกว่าในเรื่องราวเหล่านั้น วิธีที่เรื่องราวปฏิบัติต่อผู้หญิงในนั้นมันแย่มาก แล้วสุดท้ายพวกเธอก็กลายเป็นผีเป็นปีศาจอีก ฉันเลยอยากสร้างสถานที่ที่ถ้าพวกเธอได้อยู่พวกเธอจะอยู่ได้อย่างสบายใจ อยากเขียนอะไรที่เกี่ยวกับชีวิตของพวกเธอในอีกมุมมองหนึ่ง"
ด้าน โอซาวะ มิวาโกะ นักแปลอิสระบอกว่าในฐานะคนรับงานอิสระเธอทำงานแปลทั้งงานหนังสือและงานเอกสารอื่นๆ ที่ทั้งเลือกได้และไม่ได้ แต่หลังจากที่มีโอกาสได้แปลหนังสือแนวสตรีนิยมแล้ว เธอก็อยากหนังสือแนวนี้มากขึ้น
"ในฐานะนักแปลเราก็อยากเสนองานที่มาจากนักเขียนที่เป็น LGBTQIA+ และนักเขียนหญิงให้สำนักพิมพ์นำมาแปลมากขึ้น เพราะในญี่ปุ่น วงการสิ่งพิมพ์ยังคงเป็นที่ของผู้ชายอยู่"
ไม่ใช่แค่ให้มีหนังสือที่นำเสนอแต่เธออยากให้มีการพิจารณาไปถึง "การใช้คำที่มีการแบ่งแยกทางเพศ" ด้วย
"ส่วนตัวแล้วมีการกลับไปทบทวนงานเขียนต้นฉบับของเรื่องที่เคยได้แปลไปแล้วในมุมมองของเฟมินิสต์แล้วมาอัพเดตคำศัพท์ใหม่ๆ เขียนหมายเหตุเพิ่มเติมในฐานะนักแปลและไม่มองข้ามประเด็นเรื่องเพศวิถี"
จูเลียน่า บูริติก้า อัลซาเต้ อาจารย์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและนักวิจัยด้านอุดมคติการเลี้ยงดูบุตรในนวนิยายญี่ปุ่นสมัยใหม่ผ่านทฤษฎีเควียร์และทฤษฎีเฟมินิสม์ รวมถึงเป็นผู้แปล Where The Wild Ladies Are เป็นภาษาสเปน กล่าวว่าการใช้คำถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
"วรรณกรรมและกิจกรรมทุกอย่างมีพลังที่ทำให้สามารถลดทอนภาพลักษณ์ของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในกรอบความเป็นปิตาธิปไตยได้ ความเปลี่ยนแปลงด้านสังคมไม่ใช่แค่ส่วนเดียวแต่ต้องไปด้วยกันทั้งหมด การใช้คำที่บ่งบอกถึงความเป็นสตรีนิยม ไม่ว่าจะเป็นความต่างกันด้านภาษา, ความหมายแฝงนัยยะ, Nuanceของภาษาในการเขียนและการแปล, อคติ (Bias) ของการใช้ภาษา และการใช้ Feminist Pronoun เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เปลี่ยนไป"
3
คนทำงานที่เข้าใจเนื้องานอย่างแท้จริง
มัตสึโอะเล่าว่าสองสามปีมานี้มีสำนักพิมพ์เล็กในญี่ปุ่นเกิดขึ้นเยอะ ไม่ใช่แค่สำนักพิมพ์ที่เน้นเนื้อหาเฟมินิสม์เท่านั้นแต่รวมไปถึงสำนักพิมพ์ที่เน้นเรื่องความหลากหลายทางเพศด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี สำหรับเธอที่ผลิตหนังสือสตรีนิยม สิ่งหนึ่งที่มัตสึโอะรู้สึกว่าสำคัญอย่างยิ่งคือคนทำงาน
"เราพยายามให้คนที่มาทำงานกับเราเป็นคนมีแนวคิดแบบเฟมินิสม์ ไม่ว่าจะเป็นคนดีไซน์ปก ทำกราฟฟิก หรือส่วนต่างๆ ของหนังสือ ทุกอย่างที่อยู่ในหนังสือแนวสตรีนิยมสำคัญมาก และเราก็อยากใช้คำว่า 'เฟมินิสม์' ให้กว้างขึ้นด้วย"
แต่การใช้คำว่า 'เฟมินิสม์' กับหนังสือโดยภาพรวมก็ยังยากอยู่ เมื่อก่อนมีคนเกลียดคำนี้อยู่ไม่น้อยจึงไม่สามารถใช้เขียนคาดปกเพื่อโฆษณาได้ แม้แต่ตอนนี้คำคำนี้ก็ยังถูกใช้น้อยอยู่
มัตสึดะบอกว่าเธอเองในฐานะนักเขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งๆ ต่างๆ ที่อยู่ในหนังสือทั้งเรื่องของใบคาดหนังสือ(โอบิ-ใบคาดหน้าปกหนังสือ มักมีชื่อหนังสือและ catch copy สั้นๆ เพื่อดึงดูดสายตาหรือโฆษณา) แต่แม้นักเขียนจะมีส่วนช่วยคิดพิจารณาแต่สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่พอหนังสือเล่มนั้นเป็นผลงานของนักเขียนหญิงก็มักเลือกใช้สีชมพูหรือแดงและใช้รูปร่างของผู้หญิงเป็นหน้าปก
"ก่อนหน้านี้มีการพูดกันว่าทำไมไม่แสดงออกให้ชัดเจนไปเลยว่าเป็นหนังสือสตรีนิยม แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อมีการคาดปกว่าเป็นหนังสือแบบนั้นมันขายยากกว่า"
นอกจากนี้มัตสึดะยังรู้สึกว่าการเขียน 解説 หรือ บทวิพากย์ ท้ายเล่มของหนังสือญี่ปุ่นเป็นส่วนที่มีปัญหา ส่วนบทวิพากษ์นี้มักให้คนที่มีชื่อเสียงมาเขียนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นๆ แต่หลายครั้งในหนังสือที่มีเนื้อหาชัดเจนว่าสนับสนุนแนวคิดเฟมินิสม์ได้ผู้เขียนบทวิพากษ์เป็นผู้ชายมาเขียนแล้วเขียนเหมือนความเป็นเฟมินิสม์ในหนังสือเล่มนั้นไม่สำคัญ
"เรารู้สึกแปลกๆ ว่าเขาเหมือนจะชี้นำคนอ่านและทำลายความหวังของคนอ่าน พวกเขามักจะเขียนว่าหนังสือเล่มนี้ 'ไม่ใช่เรื่องของชายหญิงเป็นพิเศษ' หรือ 'โดยไม่ต้องนับว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเฟมินิสม์' หรือ 'ไม่ติดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเฟมินิสม์' ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็น เขาไม่ควรตัดสินว่าอะไรดีที่สุดสำหรับคนอ่าน มันไม่ใช่"
มัตสึโอะเสริมว่าส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์ในการคัดเลือกคนมาเขียนบทวิพากษ์ว่าเป็นชายหรือหญิงหรือเป็นใคร และสำคัญอย่างยิ่งคือการคัดเลือกนักแปล มัตสึโอะบอกว่าหนังสือแปลในญี่ปุ่นนั้นงานเขียนของนักเขียนหญิงมีผู้แปลเป็นผู้ชาย ทั้ง ๆ ที่ในญี่ปุ่นมีนักแปลผู้หญิงเก่งๆ อยู่มากมายแต่พวกเธอกลับไม่ได้งานเหล่านี้
"เราไม่ได้บอกว่านักแปลผู้ชายไม่ดีนะ แต่ถ้าคนที่ไม่เข้าใจความเป็นเฟมินิสต์มาแปลผลงานของนักเขียนหญิง ความเป็นผู้หญิงที่อยู่ในงานเขียนนั้นจะออกมาเป็นยังไง ฉันคิดว่างานที่เป็นเฟมินิสม์ก็ควรให้ผู้หญิงได้ทำ วงการหนังสือเรามีงานที่เกี่ยวกับสตรีนิยมเยอะทั้งงานเขียนและงานแปล ใน Feminist Movement ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ถ้าเราไม่สร้างนักแปลที่เป็นเฟมินิสต์ตอนนี้เราจะสร้างตอนไหน ไม่สิ สิ่งที่พวกเราทำคือต้องเปิดโอกาสให้พวกเธอมากขึ้น นักแปลหญิงมีอยู่แล้วแต่เราควรเปิดโอกาสให้พวกเธอได้ออกมามากกว่านี้"
4
Sex Education กับทัศนคติต่อสตรีนิยม
มัตสึโอะกล่าวว่าการให้การศึกษาเรื่องเพศ หรือ Gender/Sex Education ในญี่ปุ่นหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรเปลี่ยนแปลงเพราะเธอมองว่าเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับทัศนคติที่มีต่อ เพศหญิง
"ในโรงเรียนไม่มีการสอนเรื่องเพศอย่างเป็นรูปธรรม มีการพูดถึงและสอนเรื่อง 'การสร้างครอบครัว' แต่ไม่สอนว่าเด็กเกิดมายังไง"
โอซาวะที่เพิ่งมีโอกาสได้แปลหนังสือเรื่อง 『これからのヴァギナの話をしよう』(เรามาคุยเรื่องช่องคลอดกันเถอะ) ที่มีต้นฉบับมาจากหนังสือเรื่อง "Vagina: A Re-Education" ของ Lynn Enright ก็คิดเช่นเดียวกัน เธอรู้สึกว่าถ้าเธอได้อ่านหนังสือแปลแบบนี้ตอนอายุ 10 ขวบเธอจะรู้จักร่างกายของตัวเอง...ร่างกายของผู้หญิงได้ดีกว่านี้ เพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจเรื่องเพศ ร่างกาย การมีบุตร และเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร
"Sex Education ในญี่ปุ่นค่อนข้างช้ามาก ไม่ว่าที่ไหนก็ยังไม่ให้ความสำคัญ แต่การให้การศึกษาที่ถูกต้องในเรื่องนี้จะทำให้ 'ทัศนคติของผู้ชายและทัศนคติของผู้หญิง' เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเข้าใจในร่างกายของผู้หญิงมากขึ้นทัศนคติของผู้ชายก็น่าจะเปลี่ยนไป"
โอซาวะยังเล่าอีกว่าเธอโทรศัพท์ไปถามหาหนังสือเล่มนี้ตามร้านหนังสือสองสามแห่งเพื่อซื้อเพิ่มให้คนรู้จัก แต่เมื่อเธอบอกชื่อหนังสือที่มีคำว่า "ช่องคลอด" อยู่หน้าปกไป พนักงานผู้ชายกลับไม่กล้าทวนชื่อหนังสือเล่มนี้แต่พนักงานผู้หญิงกลับพูดคำคำนี้ออกมาได้อย่างปกติ
"เพราะสุดท้ายมันคือส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น"
จูเลียน่าเห็นด้วย เธอบอกว่า "เราควรพูดถึงมันได้อย่างปกติ เราควรพูดเรื่องร่างกายของแต่ละเพศได้ พูดออกมาอย่างเป็นปกติเพื่อไม่ให้รู้สึกว่ามันเป็นคำที่น่าอาย"
"ภาษาญี่ปุ่นมีคำที่แสดงออกถึงความเป็นผู้หญิงน้อยกว่าและหลายคำในนั้นเป็นคำที่มีความหมายอีโรติกสำหรับผู้ชาย เป็นคำที่แสดงว่าร่างกายไม่ใช่ของเราแต่เป็นของผู้ชาย เหมือนเป็นการจัดตำแหน่งทางสังคมด้วยร่างกาย ซึ่งหลังจากนี้การสร้างคำใหม่ก็ควรคำนึงถึงเรื่องแบบนี้ด้วย" มัตสึโอะปิดท้ายประเด็นนี้
5
มุ่งหน้าต่อไปในโลกที่ควรให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม
การขับเคลื่อน Feminist Movement ในฐานะนักเขียน นักแปล และสำนักพิมพ์อาจไม่ง่ายนัก แต่การมุ่งหน้าต่อไปไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
"ตอนที่ไม่รู้ว่าจะเขียนดีหรือไม่เขียนดี จงเขียนไปเถอะ" มัตสึดะบอก
"นักวิจารณ์ชายอาจไม่ให้ค่างานของฉันก็ได้ แต่ฉันเองก็ไม่ได้อยากให้เขามาให้ค่าตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ที่นี่โลกของวรรณกรรมยังเป็นโลกของผู้ชายอยู่ ผลงานของคุณมันไม่แย่หรอก แต่มันแค่มีบรรทัดฐานเหล่านี้อยู่เท่านั้น หากอยากเขียนก็จงเขียนความเป็นจริงที่เราเห็นนั่นละ"
โอซาวะในฐานะนักแปลบอกว่า "ภาษาสร้างขึ้นจากมุมมองของผู้ชายทำให้มีคำที่แสดงความเป็นหญิงน้อยกว่ามาก ดังนั่นเราผู้เป็นนักแปลควรพิจารณาให้ดี ใช้คำที่ต่างไป ใช้คำที่มีความหมายหลากหลาย หรือแม้แต่การลองสร้างคำขึ้นมาใหม่เพื่อขยับกรอบความเป็นไปได้ของคำเหล่านั้น"
"งานแปลเป็นงานที่โดดเดี่ยวมาก" จูเลียน่าเสริม "และการทำงานของนักแปลเป็นการทำงานแบบนักวิจัย เมื่อคุณต้องแปลอะไร คุณจงกระโจนเข้าไปในโลกนั้นแล้วค้นคว้ามันอย่างเต็มที่ รู้จักมันอย่างถ่องแท้แล้วแปลมันออกมา"
ในส่วนของสำนักพิมพ์ มัตสึโอะบอกว่าสิ่งที่เธอทำได้คือดูแลส่วนประกอบต่างๆ ในหนังสือแนวสตรีนิยมอย่างเต็มที่ ทำงานอย่างมั่นใจว่าคนทำงานด้วยกันมีแนวคิดเฟมินิสม์ที่ไปด้วยกันได้
"มีคนมากมายที่บอกว่าเฟมินิสม์ญี่ปุ่นไม่ไปไหน ซึ่งที่จริงเราก็ต้องยอมรับว่าในญี่ปุ่นกระแสเฟมินิสม์เพิ่งบูมได้ไม่นาน แต่ขณะเดียวกันแต่ละส่วนยิบย่อยในสังคมญี่ปุ่นเรามีการขับเคลื่อนด้านเฟมินิสม์อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีอะไรที่ใหญ่กว่ามาเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน ซึ่งมันเป็นจุดอ่อนของสตรีนิยมในญี่ปุ่น ถ้าเรามีอะไรที่ใหญ่กว่านี้มาเชื่อมโยงพวกเรา ทำสิ่งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินมาก่อนให้ดังขึ้นและเป็นที่ได้ยินอย่างกว้างขวาง"
"เราเชื่อว่าจะทำให้สตรีนิยมในญี่ปุ่นแข็งแกร่งขึ้น"
.
.
.
.
.
.
- เราฟังเสวนานี้มาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เพิ่งจะมีโอกาสได้เรียบเรียงเขียนออกมาค่ะ แต่อย่างน้อยจังหวะเหมาะกับงานแปลเรื่อง "ไม่เชื่องแล้วไปไหน" ฉบับภาษาไทยตีพิมพ์พอดี หากสนใจลองไปสั่งซื้อกันได้นะคะ
***สำหรับหนังสือเรื่อง Where The Wild Ladies Are เขียนโดย มัตสึดะ อาโอโกะ มีแปลเป็นภาษาไทยแล้วนะคะ ในชื่อ "ไม่เชื่องแล้วไปไหน" โดย สำนักพิมพ์อีกา
สามารถสั่งซื้่อได้ที่
ช่วงนี้กำลังเปิดพรีออเดอร์ถึงวันที่ 15 กรกฎาคมค่ะ ได้ราคาพิเศษพร้อมของแถมด้วยค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in