ธีสิส...
สารนิพนธ์...
...สองคำนี้วนเวียนในหัวตั้งแต่ช่วงฝึกงานของปีสามเพราะผลงานก่อนจบการศึกษาของพี่ ๆ สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กที่ผ่านมาต่างโดดเด่นและมีเอกลักษณ์กันทั้งนั้น ทั้งสื่อผ้าที่อิงมาจากชีวิตประจำวันทั้งแอนิเมชันที่เหมือนขายวิญญาณแลกงานมา ทั้งหนังสือภาพที่ความหมายลึกซึ้งไหนจะวรรณกรรมเล่มหนาเป็นปึก ๆ
‘แล้วเราจะทำอะไรดีล่ะ‘
ตั้งแต่เรียนมา 3 ปี ผลงานเป็นชิ้นเป็นอันของเราก็ไม่มีอะไรโดดเด่นสักอย่าง ทั้งเขียนวิเคราะห์วรรณกรรม วาดภาพประกอบ หรือเย็บผ้าก็ทำไม่เป็นอีก แถมช่วงนี้ปัญหาด้านการเงินของที่บ้านก็ไม่ค่อยดี งั้นเลือกทำงานที่พอถูไถไปได้กับใช้งบน้อยที่สุดแล้วกัน...
‘วรรณกรรมเยาวชน’
.
ปกติชอบอ่านนิยายรักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วแต่การเขียนอะไรหวานเลี่ยนกุ๊กกิ๊กลงในงานสำหรับเยาวชนก็ดูจะเดิม ๆ ไปหน่อยหรือถ้าไปทางแฟนตาซีก็เท่ากับว่าเราต้องออกแบบโลกในนิยายขึ้นใหม่ ไหนจะวางกฎสภาพภูมิศาสตร์ ลักษณะประชากร บลา ๆๆ ไม่ไหวหรอก
ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดหัวแถมเวลานำเสนอไอเดียธีสิสก็ใกล้เข้ามา แต่ไหน ๆ ก็คิดไม่ออกแล้ว หนีไปดูหนีไปดู YouTube ผ่อนคลายตัวเองสักหน่อยก็แล้วกัน
‘ดูพี่เอกสตรีมเกม Resident Evil ดีกว่า ภาคล่าสุดด้วย’
จากผ่อนคลายกลายเป็นน้ำตาท่วมจอแทนภาคอื่น ๆ ก็มีแต่ยิงผี ทำเควสต์ไม่ใช่เหรอทำไมภาคนี้มันตะเตือนใต(สะเทือนใจ)ขนาดนี้ ฮือ ๆ
‘อยากลองทำดูบ้างจัง‘
จู่ ๆในหัวก็ปิ๊งอะไรสักอย่างขึ้นมา แล้วรีบกุลีกุจอเปิด Canva ทำสไลด์นำเสนอไอเดียธีสิสทันที
เพราะอยากลองเขียนวรรณกรรมแนวลึกลับดูบ้างอยากให้ตัวเอกดื้อ ๆ ได้ไปเผชิญกับความน่ากลัวจนสติแตกสำนึกผิดแล้วจบลงที่ได้ปลอบประโลมหัวใจจากคนในครอบครัว...ยิ่งคิดก็ยิ่งอยากทำ
แต่ครูในเอกอยากให้มันมีความไทยๆ งั้นเอาฉากในประเทศไทยแล้วกัน ถ้าเป็นปีเก่า ๆ หน่อยอุปสรรคต่าง ๆ จะได้ยากขึ้นทั้งการติดต่อสื่อสาร การเดินทาง ความสะดวกสบายที่ยังไม่เท่าปัจจุบันจะได้มีช่องทางให้เราใส่ความหลอนลึกลับโกธิค ๆ ลงไปได้อีก เอาเป็นปี พ.ศ. 2520 แล้วกัน
.
.
ภาพในหัวเราดันไปตรงกับภาพยนตร์เรื่อง‘เป็นชู้กับผี‘ เหรอเนี่ย แถมยังใช้ฉากเดียวกันอีก ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยดูมาก่อนมันจะบังเอิญเกินไปไหม ซ้ำครูยังให้ไปลองดูเพื่อศึกษาอีก ไอ้เรามันพวกชอบอ่านชอบฟังมากกว่าดูซะด้วย ไม่ไหว ๆ ขอข้ามไปแล้วกัน
ถ้าศึกษาจากนิยายของ‘คุณพงศกร‘ แทนน่าจะหยวน ๆ กันได้ เพราะเป็นแนวลึกลับที่อยากทำไหนจะบรรยากาศไทยโกธิคที่เราอยากใส่เข้าไปในเรื่องอีก นี่แหละที่ตามหา!
.
‘ไม่ไหวอะปีพ.ศ. 2520 ยากเกินไป‘
ทั้งภาษาเครื่องแต่งกาย สภาพสังคม หรือกระทั่งกระแสนิยมในช่วงนั้นดูไกลตัวไปหมด จากที่อยากได้ช่องทางใส่ความหลอนกลายเป็นว่ามันเยอะเกินจนหาทางออกไม่ได้ เลยต้องเขยิบปีขึ้นไปเป็นพ.ศ. 2530 แทน เพราะอย่างน้อยพ่อแม่ของเราก็เกิดช่วงปีนี้พอดี ถ้ามีอะไรสงสัยก็ยังพอถามไถ่ได้ พวกแฟชั่นในยุคนั้นก็ยังไม่ไกลตัวมาก แถมข้อมูลยังหาง่ายกว่าตั้งเยอะเพราะสื่อเริ่มพัฒนาขึ้นแล้ว การบันทึกข้อมูลในสมัยนั้นแค่เข้า Google ก็เจอหมด
.
ทุกอย่างเริ่มลงตัวขึ้นแล้วเหลือแค่วัตถุประสงค์ที่ยังลอย ๆ อยู่เลยเพราะไม่รู้ว่านอกจากความบันเทิงจะใส่อะไรเพื่อสังคมเพิ่มไปได้อีก เลยเลือกที่จะไถ Twitter แอปฯ โปรดเพื่อหาแรงบันดาลใจ(เหรอ?)
‘โหเด็กสมัยนี้ทำไมน่ากลัวจัง’
ภาพเหตุการณ์น่าสะเทือนใจไหลขึ้นมาเต็มหน้าฟีด Twitter
เรากดออกจากแอปฯ Twitter เพราะรู้ว่าใจเริ่มไม่ไหวจะรับข่าวอีกต่อไป วางโทรศัพท์แล้วนั่งเหม่อพักใจสักแป๊บ
‘ถ้าวรรณกรรมของเราสะท้อนอะไรออกไปให้ผู้อ่านวัยใกล้ๆ กับเด็กคนนั้นรับรู้ก็คงจะดี‘
.
การนำเสนอธีสิสครั้งต่อไปจึงได้วัตถุประสงค์ที่ลงตัวที่สุดออกมา ‘เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาครอบครัวในสังคมไทย’ สถานีต่อไปจึงเป็นการลงมือทำ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in