“ตะวันลาลับนภาปฐพี
ชีวิตดีไม่ทิ้งความเพียรมั่น
ชีวิตท่านยังเห็นแสงจันทร์
แสงดาวนั้นเป็นเพื่อนให้ว่ายไป
ท่านคิดว่าต้องว่ายให้ถึงฝั่ง
ในทุกครั้งท่านขันติวิริยะไว้
ท่านมั่นใจว่าจะมีชีวิตต่อไป
เมื่อเพียรไหนสำเร็จสู่พากเพียร”
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในรุ่นน้องของเรา และเราดันชอบอ่านหนังสืออ่านนอกเวลา เลยตัดสินใจซื้อมาอ่าน และพบว่า อ่านเสร็จแล้ว เราสามารถนำเรื่องราวของท่านไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะที่เราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เราทำงาน ต้องใช้ความเพียร อดทน อดกลั้น ในการนำพาตัวเองให้หลุดพ้นจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย
พระมหาชนกเป็นบุตรของพระอริฏฐชนกที่ถูกอุบายของอำมาตย์ วางแผนร้ายใส่ร้ายพระโปลชนกว่า อยากจะเอาบัลลังค์ของท่าน ดังนั้น บิดาของท่านตัดสินใจจับพระโปลชนกขุมขัง แต่พระโปลชนกหนีได้ ด้วยอำนาจสัจจบารมีและอำนาจอธิษฐานจิต ทำให้หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ และตั้งกองกำลัง จนกระทั่งมีการปลงพระชนม์พระอริฏฐชนกในการสู้รบ และปราบดาตนเป็นกษัตริย์ครองเมืองมิถิลา
มารดาของพระมหาชนกจึงพาท่านหนีราชภัยไปที่นครกาลจัมปากะ และท้าวสักกเทวราชมาช่วย โดยปลอมตัวเป็นคนขับเกวียนพาไปส่ง เพราะอำนาจของบุญญาธิการของพระมหาชนกที่กำลังจะดำรงพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ และจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไป
เมื่อถึงนครนี้ ท่านได้เจอพราหมณ์ที่เห็นพระมารดาของพระมหาชนกแล้วเกิดเอ็นดู รักใคร่ดั่งน้องสาวที่จากกกันไปนาน ท่านให้คนเลี้ยงดูมารดาของพระมหาชนกอย่างดี จนกระทั่งวันหนึ่ง พระมหาชนกโตขึ้นและได้ยินคนที่ถูกท่านแกล้งว่า ลูกหญิงหม้าย ท่านไปสอบถามจนได้ความว่า พ่อของท่านคือใคร และเมื่อท่านโต ท่านขอทรัพย์กึ่งหนึ่งจะเดินทางไปที่นครมิถิลา เพื่อเอาสมบัติคืน
และในขณะที่เรือกำลังเคลื่อนที่อยู่ในมหาสมุทร วันนั้นมีพายุเข้า เรือล่ม ท่านตัดสินใจหันไปมองดูทิศของเมืองมิถิลา ก่อนจะกระโดดน้ำด้วยพละกำลังของท่าน และว่ายไปด้วยความเพียร ถึง 7 วัน 7 คืน
จนพระนางเมขลานึกขึ้นได้ว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบแม่น้ำมาถึง 7 วันแล้ว ท่านเลยมาตรวจ พอตรวจ พบว่า ผู้มีบุญญาธิการเป็นพระโพธิสัตว์กำลังว่ายอยู่ที่มหาสมุทร เลยเหาะมาสอบถาม
พระนางเมขลา: นี่ใคร เมื่อเเลไม่เห็นฝั่งก็อุตสาหะพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร ท่านรู้อำนาจ
ประโยชน์อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้นักหนา
พระมหาชนก: ดูกรเทวดา เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลกและอานิสงส์แห่งความเพียร เพราะฉะนั้น
ถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร
พระนางเมขลา: ฝั่งมหาสมุทรลึกจนประมาณไม่ได้ ย่อมไม่ปรากฎแก่ท่าน ความพยายามอย่างลูกผู้ชาย
ของท่านจะเปล่าประโยชน์ ท่านไม่ทันถึงฝั่งก็ จักตายเปล่า
พระมหาชนก: ท่านพูดอะไรอย่างนั้น เราทำความพยายาม แม้ตายก็จักพ้นครหา
พระนางเมขลา: การงานอันใด ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม การงานอันนั้นก็ไร้ผล มีความลำบากเกิดขึ้น การทำความพยายามในฐานะอันไม่สมควรใด จนความตายปรากฏขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรนั้น จะมีประโยชน์อะไร
พระมหาชนก: ดูก่อนเทวดา ผู้ใดรู้แจ้งว่า การงานที่ทำจะไม่ลุล่วงไปได้จริง ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นละความเพียรในฐานะเช่นนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้าน ดูก่อนเทวดา คนบางพวกในโลกนี้เห็นผล
แห่งความประสงค์ของตนจึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ดูก่อนเทวดา ท่านก็เห็นผลแห่งกรรมประจักษ์แก่ตนแล้วมิใช่หรือ คนอื่นๆจมในมหาสมุทรหมด เราคนเดียวยังว่ายข้ามอยู่ และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆเรา เรานั้นจักพยายาม
ตามสติกำลัง จักทำความเพียรที่บุรุษควรทำ ไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร
แล้วท่านก็คุยกันหลายคาถา พรรณนาถึงความเพียรว่า เป็นสิ่งสำคัญจริงด้วยประการใด ก่อนที่พระนางเมขลาจะอุ้มพระมหาชนกไปถึงฝั่ง และเทพธิดาได้พูดถึง ท่านจงตั้งสถาบันการศึกษาที่ชื่อ โพธิยาลัยมหาวิชชาลัย
เมื่อมาถึงฝั่ง พระโปลชนกสวรรคต และออกอุบายให้หาคนที่เหมาะสมกับบัลลังก์ ซึ่งพระมหาชนกได้แก้ปัญหาทุกอย่างจนกระจ่าง ดังนั้น พระมหาชนกได้อัญเชิญพระมารดากลับวัง พระมหาชนกและพระธิดาสีวลีในพระโปลชนกได้อภิเษกสมรสกัน และพระมหาชนกได้ปกครองนครมิถิลาโดยทศพิธราชธรรมต่อไป
วันหนึ่ง ท่านได้ไปชิมมะม่วงต้นหนึ่ง และรสชาติอร่อย ท่านบอกกับคนเหล่านั้นถึงรสชาติดี ทำให้คนจำนวนมาก โค่น แย่งกินกันให้ได้ จนต้นมะม่วงนั้นเสียหายหรือถูกโค่นลงมา ทำให้ท่านปรึกษากับพราหมณ์ว่า จะฟื้นฟูต้นมะม่วงนี้ขึ้นมาใหม่ โดยเสนอ ๙ วิธี ที่จะปลูกมะม่วงกลับคืนมาได้ ได้แก่
๑. เพาะเม็ดมะม่วง
๒. ถนอมรากที่ยังมีอยู่ให้งอกใหม่
๓. ปักชำกิ่งที่เหมาะแก่การปักชำ
๔. เอากิ่งดีมาเสียบยอดของกิ่งที่ไม่มีผลให้มีผล
๕. เอาตามาต่อกิ่งของอีกต้น
๖. เอากิ่งมาทาบกิ่ง
๗. ตอนกิ่งให้ออกราก
๘. รมควันต้นที่ไม่มีผลให้ออกผล
๙. ทำชีวาณูสงเคราะห์
และเมื่อท่านออกคำสั่งเสร็จ ก็คุยกับพราหมณ์ถึงการตั้งมหาวิชชาลัยที่คุยกับนางมณีเมขลา เพื่อจะสอนการศึกษาให้กับบุคคลรู้ซึ้งถึงสิ่งที่สมควรทำให้เป็นประโยชน์แลไม่พึงกระทำเพราะสิ่งที่เป็นโทษนั้น
เรื่องราวในเล่มนี้จบลงตรงนี้ ซึ่งถ้าอ่านมาทุกบรรทัดจะพบว่า ไม่มีประโยคใดเลยที่ไม่มีประโยชน์ เพราะทุกอย่างที่ในหลวงทรงสอนคือความเพียรพยายามที่ท่านทำให้เราดูเป็นตัวอย่างตลอด โดยแบ่งหลักๆออกเป็น ๓ อย่าง ได้แก่
๑. เวลาเราทำงาน เราทำการสิ่งใด ทุกอย่าง ถ้ากระทำโดยการขาดความเพียร ย่อมไม่เห็นผลสู่ความสำเร็จนั้น แต่เมื่อไหร่ที่เรายังเพียรพยายามด้วยความถูกต้อง ถึงแม้ยังไม่ส่งผลของความสำเร็จ แต่สักวันหนึ่ง ผลนั้นจะงอกความสำเร็จออกมาอย่างสวยงาม
๒. การเวียนว่ายในมหาสมุทร เปรียบดั่งการเวียนว่ายตายเกิดของคนมามากมายไม่มีที่สิ้นสุด ภพ ชาติ เกิดเวียนไปเวียนมาตลอดหาที่สุดไม่ได้ เหมือนอินฟินิตี้ แต่พระมหาชนก พระโพธิสัตว์ผู้กำลังจะเป็พระพุทธเจ้านั้น กำลังจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายนี้ และยังนำพาชนหลุดพ้นเพราะความเพียรนั้นด้วย
๓. การให้ความรู้การปลูกชีวิตของต้นไม้ที่ตายแล้วให้เกิดใหม่ ย่อมหมายถึงการให้ความรู้ แด่ผู้ที่ไม่รู้ให้เป็นผู้รู้ เปิดทางสว่างให้แด่ผู้พบหนทางแห่งความมืดนั้น เมื่อชนเหล่าใดเหล่านั้นรู้ถึงสิ่งนั้นแล้ว ย่อมไม่กลับไปเกลือกกลั้วกับโคลนตมหรือสิ่งโสมมคือ การทำผิดทุกประการด้วยประการฉะนี้
“ข้าพเจ้าขอกราบแทบพระบาท
เคารพวาดไว้ในทรงจำนี้
ข้าพเจ้าจักตั้งใจทำตามคำสอนดี
เดินทางนี้เพื่อสู่ความเพียร
ไม่มีเพียรใดเท่าความเพียรของคน
ที่นำตนหลุดพ้นว่ายเวียน
ชีวิตควรศึกษาดีไว้เล่าเรียน
แล้วก็เพียรเป็นคนดีทุกยาม”
วันนี้เป็นวันที่ ๕ ธันวาคม เรามั่นใจว่า หลายคนยังระลึกถึงพระองค์ท่าน ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่ท่านได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเราได้ตั้งใจนำมาประพฤติปฏิบัติต่อไปในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องในทุกวันนี้
“ไม่มีเพียรพยายามใดสูญเปล่า
ถ้าเราเพียรพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้อง
สิ่งที่สมควรจะกระทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น”
Look a Breathe
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in