“เวลาเรามองคนไม่ครบห้า
ได้มองหาเลิ่กลั่กและสงสาร
เมื่อได้อ่านชีวิตเขาขับขาน
พบเป็นสารบอกว่าสู้ต่อไป
เขาไม่มองว่าเป็นเรื่องพิการ
เพียงแค่ขานว่าไม่สะดวกไหน
ชีวิตต้องดำเนินต่อไป
และเป็นได้คือเเรงบันดาลใจ”
ถ้าใครได้อ่านเรื่องนี้ จะพบถึงเรื่องราวที่สุดแสนประทับใจในการมองโลกในแง่ดีของทั้งพ่อแม่และตัวของผู้เขียนเอง เพราะพ่อแม่ของญี่ปุ่นก็เหมือนคนไทย ที่อยากให้ลูกออกมาครบ 32 ประการ ไม่มีใคร อยากให้ลูกพิการ แต่มุมมองในการใช้ชีวิต หรือในการเลี้ยงดูมีผลที่ทำให้เด็กคนหนึ่งไม่เคยคิดว่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งขาด แต่กลับคิดว่า มันคือเรื่องปกติ
เราอ่านเล่มนี้เพื่อติดตามชีวิตของคุณโอโตทาเกะ ว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไรตั้งแต่เด็กจนโต เราพบว่า เขาสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนเด็กปกติ เขาไม่เคยด้อยค่าตัวเองด้วยสิ่งที่ขาด เขายอมรับตัวเอง เเละขอบคุณตัวเองที่เป็นแบบนี้
ชีวิตของเขาจะมอบรอยยิ้ม ความอบอุ่นใจให้ผู้อ่านเสมอ และเขาพร้อมที่จะเอาชนะอุปสรรคไม่วาจะยากหรือง่ายด้วยมุมมองที่ดีเสมอ ซึ่งมีเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตที่เขาต้องพึ่งพาตนเอง โดยครูทาคางิให้ทุกคนไปยังล็อคเกอร์และห้ามช่วยเขา เขาก็พยายามจนถึงที่สุด จนไปถึง แต่เขาก็ร้องไห้ ไม่ได้ร้องที่ไม่มีคนช่วย แต่ร้องที่คิดว่า ตัวเองต้องถูกทิ้ง ความรู้สึกมันเป็นแบบนี้นี่เอง แต่เขาก็เข้าใจว่า ครูกำลังสอนบทเรียนชีวิตที่ดีให้กับเขาและเขาก็อดขอบคุณครูคนนี้ตลอดไป
เขาสามารถเล่นกีฬา เรียนหนังสือ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และใช้ชีวิตอยู่กับคนปกติได้ โดยเขาไม่อาย ไม่เครียด ไม่คิดแปลกแยก เขากลับมองว่า เรื่องนี้ไม่เห็นจะแตกต่างจากคนอื่นเท่าไหร่ และสิ่งนี้เองที่เรามั่นใจว่า ทำไมเขาถึงเป็นเเรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกได้
เราไปค้นข้อมูลต่อว่า ในปัจจุบันเขาเป็นครูสอนเด็กประถมเรื่องศีลธรรม ให้เด็กได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ ว่า แม้กระทั่งตัวเขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้และเขาขอบคุณในสิ่งที่เขาขาดมาจนถึงทุกวันนี้
“ความพิการ คือ ความไม่สะดวก
แต่ไม่ใช่ความไม่สบาย”
เราจะพบว่าประโยคนี้อธิบายทุกอย่างของเขาว่า เขาไม่เคยเลี้ยงความไม่สบายใจไว้ในใจ เขาไม่เคยโทษคนรอบข้าง หรือไม่เคยโทษตัวเองที่ไม่ครบห้า แต่เขากลับขอบคุณส่วนที่ขาดนี้ที่เป็นส่วนช่วยเติมเต็มทุกอย่างในชีวิตเขาทั้งหมด
“เรารู้สึกอยากขอบคุณเขาเช่นกัน
ที่เป็นตัวอย่างการมองโลกในแง่ดี”
Look a Breathe
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in