“บันทึกเรื่องราวทุกข์ยากลำบาก
ของตนตอนเป็นพระสงฆ์”
หลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย
เสด็จสวรรคต สุนทรภู่ตัดสินใจได้ออกบวช
หลังจากที่ท่านออกบวช ท่านได้มาอยู่ที่วัดเทพธิดารามตามคำนิมนต์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ท่านโปรดสร้างวัดนี้ให้แก่บุตรีอันเป็นที่รักยิ่ง ซึ่งก็คือ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (ท่านงดงามแลเป็นคนดีราวเทพอัปสร)
กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ได้มีการสันนิษฐานว่า ท่านน่าจะแต่งให้ผู้ใดผู้หนึ่งอ่านเป็นนัย เลยสันนิษฐานว่า อาจจะแต่งให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่
ส่วนตัวที่เราอ่าน ก็กลับคิดว่า ไม่ใช่ อาจจะแต่งเพื่อพูดถึงนางฟ้าจริงๆ หรือแต่งเตือนตัวเองว่า ยังไม่สิ้นไปนิพพาน เพราะในขณะนั้นท่านเป็นพระ แล้วท่านต้องนึกถึงบุญคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๓ ที่ไม่ถือโทษกันแถมยังนิมนต์ให้มาจำพรรษาวัดที่ท่านสร้างอีก ดังนั้น เราเลยคิดว่า น่าจะตัดข้อนี้ไปได้เลย
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆทุกท่านลองอ่านดูกันค่ะ ว่า เพื่อนๆมีความคิดเห็นกันอย่างไร ก็มาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังได้
(โปรดคลิกอ่านด้านบนและมาทายกันค่ะ
ว่าท่านพูดถึงใคร)
-1-
รำพันถึงทุกข์ของตน
สุนทรภู่ ได้พูดถึงว่าท่านออกจากราชการและเข้ามาในบวรศาสนาคือ การออกบวช ทำให้เห็นฟ้าแล้วรู้สึกเปลี่ยว ซึ่งฟ้านี้ก็น่าจะหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ ๒ ที่ท่านเสด็จสวรรคตไป เลยทำให้ท่านรู้สึกเปลี่ยวเหงาเพราะขาดที่พึ่งอย่างแท้จริง และท่านก็ซื่อสัตย์ในในหลวงรัชกาลที่ ๒ เป็นอย่างมาก
แต่ปีวอกออกขาดราชกิจการ
บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
เหมือนลอยล่องท้องชะเลอยู่เอกา
เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล
ดูฟากฝั่งหวังจะหยุดก็สุดเนตร
แสนเทวษเวียนว่ายสายกระแส
เหมือนทรวงเปลี่ยวเที่ยวแสวงทุกแขวงแคว
ได้เห็นแต่ศิษย์หาพยาบาล
พระภิกษุภู่ ประสบกับความทุกข์ยากต่าง ๆ นานา เช่น ขาดข้าวของเครื่องใช้ มีแต่เสื่อขาด ๆ และไม่มีมุ้งกันยุงและไม่มีไฟที่ใช้ในเวลาค่ำคืน นอกจากนี้ยังมีศัตรูทั้งในวังและในวัดที่คอยกลั่นแกล้งท่านอีก
หากเปรียบหมือนกับเจ้าคุณนร
(มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ ท่านได้ออกบวชให้ล้นเกล้า)
ที่ท่านเคยพบว่า พระลูกวัดเทพศิรินทร์ไม่พอใจท่าน
ที่ประชาชนอยากตักบาตร ก็รีบเดินตัดหน้าท่านบ้าง
ท่านเลยตัดสินใจไม่ออกบิณฑบาตรอีก
ไม่ว่าวงการไหน ก็มีคนถูกกลั่นแกล้ง ถึงแม้วงการพระพุทธศาสนาก็ยังหนีไม่พ้น เราคิดว่า คนเราร้อยพ่อพันแม่และถูกสอนมาต่างกัน
บางทีศาสนาก็ไม่สามารถอบรมนิสัยของคนเหล่านั้นได้ แต่แค่อาศัยศาสนามาให้ตนอยู่รอดเพื่อจะได้ใช้การถือศีลจำนวนมากมาแกล้งคนได้ ก็ย่อมเป็นไปได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว การที่เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราไม่ควรที่จะมาทำลายกันและกันเพื่อให้ศาสนาเสื่อมเลย
-2-
รำพันถึงความฝัน
พระภิกษุภู่ ได้นอนหลับฝันไปว่า ท่านได้ว่ายน้ำคนเดียวในท้องทะเล แล้วก็มี “นารีรุ่น” ช่วยพาท่านมาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ท่านได้พบนางฟ้าหลายองค์ ซึ่งนางฟ้าที่สวยที่สุดทรงมงกุฎ
นางฟ้าพระองค์นั้นได้นิมนต์ท่านให้ไปอยู่ยังสวรรค์ หลังจากนั้นนางฟ้าเหล่านั้นก็เหาะลอยหายลับไป ทำให้ท่านรู้สึกเศร้าใจที่ไม่อาจติดตามนางฟ้าเหล่านั้นไปได้
ในขณะนั้นเอง นางเมขลาถือดวงแก้วมาหาท่านและนางเมขลารับปากกับท่านว่าจะช่วยให้ท่านสมหวังในสิ่งที่ท่านปรารถนา
ตรงนี้จะจบในเล่มนี้
เราหาอ่านต่อและพบว่า พระภิกษุภู่ตื่นจากฝันและสงสัยว่านางฟ้าที่มาเข้าฝันคือใคร และจากนั้นก็เป็นการรำพันถึงวัตถุและสถานที่ในวัดเทพธิดารามด้วยความอาลัย
5 เหตุผลที่เลือกอ่านหนังสือเล่มนี้
1. ชีวิตไม่แน่นอน
เรื่องราวนี้อยากเอามาให้เพื่อนๆทุกคนอ่านเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงของชีวิตที่ไม่แน่นอน ชีวิตของคนเรามีขึ้นสูงย่อมมีลงต่ำได้ เมื่อเราลงต่ำ ก็ย่อมมีขึ้นสูงได้เช่นกัน วนเวียนไปอย่างนี้ คนหลายคนที่รู้จักกันก็ย่อมเปลี่ยนไป เหลือเพียงกี่คนที่ยังมาช่วยเหลือเรา เฉกเช่นเดียวกับกวีเอกที่ได้ยกย่องเป็นบุคคลระดับโลกผู้นี้
“ชีวิตคนเราไม่มีอะไรที่แน่นอน
ทุกข์หรือสุขย่อมไม่จีรัง”
2. การสำนึกบุญคุณ
พระภิกษุภู่ยังรำลึกถึงบุญคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย และยังรำลึกถึงคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ท่านถวายผ้าให้ เพราะผ้าที่ใช้นั้นก็เก่าและขาดแล้ว ซึ่งทำให้รู้ว่า ท่านเป็นคนกตัญญูอย่างแท้จริง
“ความกตัญญู ระลึงถึงบุญคุณ
เป็นเครื่องหมายของคนดี”
3. สิ่งใดสมปรารถนา
ท่านได้ฝันโดยรำพัน รำพึง จะสมปรารถนาจริงหรือไม่ ท่านก็ไม่ได้บอกแต่ด้วยประการใด แต่เมื่อผ่านไปจนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้สิ่งสมปรารถนาตามความฝันของท่าน คือ ท่านได้ดำรงเป็นพระสุนทรโวหารภู่ ซึงเราคิดว่า เป็นความฝันบอกเหตุจริงๆ
“สิ่งใดสมปรารถอยู่ที่ทั้งสภาพแวดล้อมและมานะตน”
4. เวียนว่ายตามกระแส
จากที่เห็นว่า คำกลอนในครั้งนี้เป็นการรำพันถึงความทุกข์โศกที่เกิดขึ้น ความฝัน และหลายสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ท่านยังเป็นปุถุชนธรรมดาที่ยังทุกข์จากสิ่งเหล่านี้ ท่านทำให้เราเห็นว่า แม้กระทั่ง ตอนเป็นพระ ท่านยังกล้าที่จะยอมรับว่า ตัวเองยังมีกิเลส ตัวเองยังเวียนว่ายตามกระแสแห่งทุกข์ที่ไม่สามารถพาตัวหลุดพ้นจากกระแสนี้ได้
“กรรมคือการกระทำ
และนำพาเราเวียนว่ายกระแสเกิดดับ”
5. การพรรณนา
ท่านได้มีพรรณนาถึงกุฏิที่ท่านอยู่ว่า มีสภาพอย่างไร สถานที่แต่ละที่มีไว้ทำอะไรบ้าง ท่านทำอะไรในที่ไหนบ้าง ดั่งเช่น
เคยอยู่กินถิ่นที่กระฎีก่อ
เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา
เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา
ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน
เป็นสี่แถวแนวทางเดินหว่างกุฏิ
มีสระขุดเขื่อนลงพระสงฆ์ฉัน
ข้างทิศใต้ในจงกรมพรหมจรรย์
มีพระคันธกุฎีที่บำเพ็ง
ศาลากลางทางเดินแลเพลินจิต
ประดับประดิษฐ์ดูดีเป็นที่เก๋ง
จะเริดร้างห่างแหสุดแลเล็ง
ยิ่งพิศเพ่งพาสลดกำสรดทรวงฯ
หอระฆังดังทำนองหอกลองใหญ่
ทั้งหอไตรแกลทองเป็นของหลวง
ปลูกไม้รอบขอบนอกเป็นดอกดวง
บ้างโรยร่วงรสรื่นทุกคืนวัน”
“การพรรณนาถึงเรื่องราว
ที่เราอยู่คงความทรงจำทั้งทุกข์และสุขไว้”
เราเรียนรู้เรื่องราวของชีวิตสุนทรภู่ที่มีทั้งขึ้นและลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ทำให้สลดสังเวช อย่าประมาทกับชีวิตที่ไม่แน่นอนนี้เลย
“จงตั้งใจเก็บหอมรอมริบสำหรับชีวิตที่ไม่แน่นอน
และทำใจกับชีวิตที่มีขึ้นและลงนี้”
เมื่อเรียนรู้ชีวิตจึงพบว่า
ไม่มีครหาใดจะยั่งยืนและคงทน
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ที่ตน
ว่าจะอดทนกับความไม่แน่นอน
ชีวิตมีทั้งขึ้นและลงเวียนบรรจบ
และคงพบว่ามันหนีไม่พ้นทุกข์สุข
ชีวิตสอนให้เรียนรู้ระคนทุกข์
ไม่ผาสุกจนใจก็เวทนาเหล่านี้
“ขอบคุณสำหรับการอ่านเรื่องเล่านี้จนจบค่ะ เรามาใช้เวลาในการอย่าประมาทกับชีวิตที่ไม่แน่นอน”
Look a Breathe
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in