“วรรณคดีไทยเรื่องแรกที่มานำเสนอ
เป็นบทประพันธ์ร้อยแก้วที่ดี
ที่เตือนสติผู้อ่านได้อย่างดี และเรื่องนี้
มีคุณค่าทางวรรณศิลป์อย่างแท้จริง”
หนังสือเล่มนี้หายากมาก เราหาเท่าไหร่ก็ไม่มีใครขายแล้ว จะหาคนผลิตอีกก็ไม่มี วันหนึ่ง เราค่อยๆค้นหาจากอินเตอร์เน็ตดู และเราพบไฟล์หนังสือ ที่สามารถดาวน์โหลดอ่านได้เลย
เวลาย้อนกลับไปอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้นึกถึงเพื่อนคนหนึ่งตลอด เพื่อนเคยบอกว่า เธอชอบอ่านหนังสือเล่มนี้มากเลย เพราะถ้าเธออ่านแบบไม่มีอคติ เธอพบว่า หนังสือเล่มนี้เป็นกระจกสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของคนในชาติไทยอย่างมาก และไม่เพียงเท่านั้น เรื่องนี้ไม่เก่าเลย เพราะไม่ว่า ผ่านไปกี่สมัย โคลนเดิมๆยังติดล้อคือชาติไทยอยู่ดี
ก่อนอื่นที่จะเริ่มต้นอ่านเล่าสู่กันฟังสำหรับเรื่องนี้ เราขอให้ทุกคนลบอคติออกจากใจทั้งหมดก่อน แล้วทุกคนอ่านด้วยใจเป็นกลาง ซึ่งเราพยายามหาเหตุการณ์ที่เป็นตัวอย่างในการอธิบายถึงเรื่องราวในเล่มนี้ให้ฟังด้วยใจเป็นกลางเช่นกัน
เรามั่นใจว่า เมื่อไหร่ที่อ่านด้วยใจเป็นกลางแล้ว เมื่อนั้น เราจะพบว่า เรื่องนี้เป็นกระจกสะท้อนความเป็นจริงของตัวตนเราและคนไทยอย่างแน่นอนและคู่ควรแก่การศึกษาเพื่อพัฒนาตัวเองอย่างแท้จริง
ทุกคนพร้อมกันที่จะเปิดใจกว้างๆ
ไร้อคติ แล้วอ่านค่ะ
"อาลัยคำสอนมหาธีรราชเจ้า
ท่านสอนเราให้เป็นคนทุกวันนี้
เราตั้งใจเรียนรู้ปฏิบัติดี
คำสอนนี้จะจีรังและยั่งยืน
หากเมื่อมีผู้รู้นำไปปฏิบัติ
ทำข้อวัตรให้เป็นจริงไม่สงสัย
คำสอนท่านจะไม่จากไปไหน
เพราะใครต่างเป็นตัวอย่างเอง
ระวังความชั่วประจำจิต
คือความคิดขาดสติไม่รู้หาย
ระวังไว้มันเป็นตัวทำลาย
ชีวิตหายนะเพราะการกระทำตน"
เราขอนำเรื่องราวหลักๆมาให้เพื่อนๆอ่านค่ะ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ ยังทันสมัยอยู่ เพราะไม่ว่าผ่านไปนานขนาดไหน เรื่องจริงยังเป็นเรื่องจริงอยู่
สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หรือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ท่านใช้นามแฝงในการเขียนเรื่องโคลนติดล้อ คือ อัศวพาหุ
งานเขียนนี้ผ่านมาถึง ๔ รัชกาล และจุฬาได้นำมาตีพิมพ์อีกครั้ง แต่ตอนนี้ไม่มีหนังสือเล่มนี้แล้ว ซึ่งเพื่อนๆทุกท่านสามารถโหลดเก็บไฟล์อ่านกันได้ค่ะ
“ยาวนานแต่ไม่เก่าเลย”
เราขอแบ่งออกเป็น ๕ หัวข้อหลักๆ
ให้เพื่อนๆทุกคนได้อ่านกันค่ะ
-1-
การทำคนให้ต่ำต้อย
สมัยเด็กคุณครูเคยสอน
ว่าเราย้อนมองดูตนจึงได้รู้
คนไทยเราทุกคนต่างก็ดู
บูชาครูฝรั่งเท่าท่วมหัว
ส่วนครูไทยก็เป็นเพียงกระโถน
ที่โดนคนไทยมองว่าโบราณนี้
ถึงครูไทยตั้งใจทำคุณความดี
ก็เพียงแค่ขี้ข้าฝรั่งเอย
เราทุกคนฝักใฝ่ในฝรั่ง
ว่าเขามั่งมีศรีสุขกว่า
ทุกคนยอมเป็นขี้ข้า
เขาเรียกหาทำดีใจเอย
เรื่องที่คนไทยชอบฝรั่งนั้นเป็นเรื่องจริงมาตั้งแต่เรายังเด็ก คือ ครูบางคนหรือเพื่อนหลายคนบอกเราว่า ถ้าเราทำตามอเมริกา เราจะเจริญ เราต้องดูหนังของอเมริกา แล้วทำตาม ชีวิตเราจะดี พอเราได้ดูหลายเรื่อง แล้วเรากลับคิดว่า
“ถ้าทำตามบางเรื่อง วิบัติแน่ มีแต่เรื่องอย่างว่า
เรื่องไม่ดีหลายอย่าง ที่ถ้าทำตาม ชีวิตก็แย่แน่นอน
แต่หลายอย่างที่ดีจริง เราเอามาทำตามนะ
อย่างเช่น เมตตาต่อกัน
เรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างเข้าใจกัน
และบางเรื่องก็สอนชีวิตเราได้ดีจริง
ถ้าทำตามสิ่งที่ดี ย่อมเจริญจริง
แต่ถ้าหากทำสิ่งที่แย่
ย่อมพบเจอกับทางหายนะอย่างแน่นอน”
ในสมัยตอนที่เรียนการตลาดที่ต่างประเทศ เคยต้องไปทำงานวิจัยเรื่องเกี่ยวกับร้านขายเสื้อผ้าที่ประเทศนั้น และได้คุยแลกเปลี่ยนกับคนหลายชาติที่ช่วยทำงานวิจัย ทำให้เข้าใจโฆษณาและการตลาดมากขึ้น
มีครั้งหนึ่ง คนที่เป็นนักทำโฆษณาให้บริษัทชื่อดังเล่าว่า พวกเขาใช้คนจากประเทศที่ไม่พัฒนามาโฆษณาการท่องเที่ยวให้กับประเทศ โดยคนพวกนี้ต้องมีนิสัยที่ดูถูกประเทศตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะคนพวกนี้จะมีอิทธิพลเหนือความคิดของคนในประเทศนั้น เขาบอกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ต้องเสียเงินด้วยซ้ำ เพียงแค่รู้จักใช้คนให้เป็น เขาเล่าว่า
“คนพวกนี้มันไม่พอใจอะไรที่เป็นประเทศตัวเองอยู่เเล้ว
เพราะมันดูถูกประเทศตัวเอง เท่ากับดูถูกตัวเองด้วยล่ะ
พวกนี้ ต่ำต้อย ไม่มีอะไรดี
มีดีคือทำตัวให้ดูมีดีไปวันๆแค่นั้นเอง”
-2-
การบูชาหนังสือจนเกินเหตุ
หนังสือมีคุณย่อมมีโทษ
ผู้ละโมบนำหนังสือใช้ทางผิด
โดยคนอ่านก็ไม่รู้จักคิด
เชื่อตามติดดุจเข้าไปในชีวิตเขา
ไม่ยอมใช้วิจารณญาณใดๆ
เชื่อกันไปโดยไม่สนใจสิ่งนี้
ว่าหลายอย่างที่คนเขียนดูดี
แต่จริงที่เขากลับทำไม่ได้เลย
ทำเพียงแต่เกิดความแตกแยก
ดุจแมกไม้มีหนามแหลมไฉน
คนอ่านก็ไม่ได้อะไรอยู่ร่ำไป
มีเพียงได้ทะเลาะขัดแย้งกัน
การอ่านหนังสือย่อมนำพาความคิดดีมาให้ แต่หลายต่อหลายครั้ง ที่สำนักพิมพ์ได้ผลิตหนังสือไม่ดีมาสู่สายตาของผู้อ่าน เพราะเพียงความนิยมและไม่มีการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร
อย่างเช่น สมัยก่อนที่ท่านพูดถึงหนังสือพิมพ์ว่า เพียงแค่คนเราจับปากกา สามารถเขียนอะไรที่ไม่จริงให้กับประชาชนอ่านได้ และไม่เพียงเท่านั้นชอบสร้างความขัดแย้งให้กับสังคมวงกว้างอีกด้วย โดยที่คนเหล่านั้นบูชาคนเขียน (คนเขียนที่ถูกคนอื่นไล่ออกและคนนั้นมาเขียนอย่างกล่าวร้ายคนที่ไล่ออกแทนด้วย) เป็นสรณะ ว่า คนเขียนเหล่านั้นทำสิ่งที่ถูกอย่างเต็มประดา โดยที่ไม่สนใจความถูกหรือความผิดแต่ด้วยประการใด
แต่ปัจจุบัน ล้ำหน้าไปกว่านั้น คือ ทุกคนเมื่อมีแป้นพิมพ์ มีมือถือ มีอุปกรณ์อะไรก็ตาม สามารถเขียนทุกความเห็นลงในโซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี และรวดเร็วอย่างมาก ดังนั้น มันมีทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม ปนกันไปหมด จนต้องอ่านหรือเสพสื่อแบบมีสติอย่างมากขึ้นกว่าเดิม หลายต่อหลายครั้ง ยิ่งอ่าน ก็อดจะสับสนไม่ได้ว่า ได้อะไรจากเรื่องที่เราเสพอยู่ ดูทั้งไม่มีสาระและอะไรที่จะนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้เลย
และนี่เองคือ โคลนตมที่ติดอยู่กับประเทศเรามานาน จนไม่สามารถแยกแยะได้ว่า โคลนหรืออะไรกันแน่นอน
“หากแม้นคนเรามีวิจารณญาณในการอ่าน
เราสามารถเรียนรู้ได้ว่า สิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี
และสิ่งไหนควรทำตาม สิ่งไหนไม่ควรทำตาม”
-3-
ความนิยมเป็นเสมียน
ความรู้ไม่ได้อยู่ในตำรา
อยู่ที่ว่าเอาออกมาใช้ได้จริงไหม
หากเมื่อไหร่เอาออกมาใช้ได้
นอกเหนือในตำราแปลว่าดี
เรียนหนังสือก็ย่อมปรับปรุงตน
หากไม่สนสิ่งนี้มากทั้งหลาย
ทิ้งตัวตนของเราไปมากมาย
ไม่สมหมายเป็นคนไม่รู้ตน
สมัยตอนเด็กมัธยมต้น เรื่องนี้ ถูกนำมาให้เรียนหนังสือ และครูให้ทุกคนรวมตัวกันเพื่ออกความเห็นต่อเรื่องนี้ และพบว่า ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ที่คิดต่อเรื่องนี้ คือ
“ไม่ใช่เพราะว่า ประเทศไทยเรากระจายอาชีพ
ไม่เท่ากันหรอก
แต่อยู่ตรงที่ตัวคนไทยด้วยกันมากกว่า
ที่ไม่ให้เกียรติอาชีพตัวเอง
ถ้าหากคนไทยศึกษาความรู้แล้ว
และกลับบ้านเกิดตัวเองไปทำงานสุจริตของตัวเอง
ทำให้จังหวัดตัวเองเจริญจากที่ได้ศึกษามา
ไม่ใช่มากระจุกรวมตัวกันอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
จนทำให้คนแย่งงานกันทำ
เพราะการกระจายอาชีพที่ไม่เท่ากัน”
เรากลับคิดตรงข้าม ว่า เพราะเราหลายคนไม่ใช่คนต่างจังหวัด และหากเป็นเรา เราอยากกลับไปทำงานแบบนี้จริงหรอ อยากกลับไปทำไร่ ทำนา จริงๆหรอ พูดตรงๆ ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย โดนพ่อค้าคนกลางกดขี่อีก และมีแต่คนมองแบบไม่มีค่า ในเมื่อเราสู้งานนั่งสบายๆในห้องแอร์ไม่ได้ ใครๆก็อยากอยู่ในสถานที่แบบนี้อยู่แล้ว สบายกว่าเยอะ แต่เราไม่กล้าแสดงความรู้สึกออกไปนะ
แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นมา ความคิดก็เปลี่ยนไปอย่างละเล็กน้อยโดยเฉพาะตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น และเราพบว่า ทำไม ต่างจังหวัดของญี่ปุ่นดูเจริญนะ เราเคยถามเพื่อนญี่ปุ่น เพื่อนญี่ปุ่นให้คำตอบว่า เพราะว่า คนที่เรียนหนังสือทุกคนต้องนำความรู้มาพัฒนาจังหวัดของตัวเองให้เจริญและเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ได้ เพื่อกระจายอาชีพไปยังจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ ให้ทั่วประเทศเจริญ และคนของเขาพยายามลดการกดขี่ที่ผ่านพ่อค้าคนกลางโดยที่รัฐบาลเป็นคนรับซื้อโดยตรง ทำให้เรานึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ว่า
“อย่างที่ท่านอัศวพาหุได้เขียนไว้
นั้นเป็นจริง ไม่เก่าเลย”
และนี่เอง เป็นโคลนติดล้อที่ทำให้เกวียนหรือประเทศไม่สามารถก้าวหน้าได้สักที เพราะ คนไทยด้วยกันยังไม่ให้เกียรติในอาชีพที่เราทำและไม่มีใครทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อใจที่อยากกลับไปยังจังหวัดของตัวเองอีกด้วย
“หากทุกคนเริ่มต้นที่ตัวเอง
ให้เกียรติในอาชีพของตัวเอง
ในไม่ช้า เราเจริญเทียบเท่าญี่ปุ่นก็ได้”
-4-
ความเห็นผิด
ความเห็นผิดคือสิ่งมนุษย์สร้าง
ได้วางแบบแผนเป็นสังคม
หากมนุษย์คนใดไม่ทำถูกทับถม
ว่าไม่สมเกิดเป็นมนุษย์เอย
มนุษย์มีเกียรติกว่าขวดเหล้า
เพียงแค่เราดื่มฉลองกันหนา
เราเรียกตัวเองว่ามีศักดินา
ว่ากายาเป็นมนุษย์ประเสิรฐ
“อิสระ คือ การเลือกทำอะไรได้ตามอำเภอใจ
ไม่เลือกว่าจะผิดหรือให้โทษเพียงใด
คนประเภทนี้ย่อมเป็นที่น่ารังเกียจแก่คนทั้งหลาย”
- อัศวพาหุ -
เฉกเช่นคนในเรื่องที่ท่านยกตัวอย่างถึงว่า เป็นคนที่ไม่ดื่มสุราเพราะเเพ้แอลกอฮอล์ แต่ก็อ้างว่า ต้องอยู่ในสังคม ดังนั้น ชงวิสกี้โซดามาเลี้ยงคนเพื่อให้ตนดูดีและอยู่ในสังคมได้ คนเหล่านั้นมักอ้างตัวว่า รักษามิตร แต่ความจริงแล้ว หากรักษามิตรด้วยแบบนี้ มันย่อมถูกจริงหรือเปล่า
ความเห็นผิดนี้มีอยู่มาก ที่คิดว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราต้องมีหน้ามีตาในสังคม เราต้องทำทุกอย่างให้เข้ากับเขาให้ได้ หลายต่อหลายครั้ง เราไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่เพราะอยู่กับคนอื่น เลยทำให้เราต้องเป็นตามเขา เพราะเพียงคำว่า สังคม (ที่อาจจะเข้าใจผิด) เท่านั้น แต่ทุกอย่างที่เราทำในสังคม มันควรอยู่ในหลักศีลธรรมและจริยธรรมด้วย
อย่างเช่น เราไปร่วมงานปาร์ตี้หัวหน้าแห่งหนึ่ง เขารินเหล้ามาให้ แต่เราไม่ดื่ม เพราะเเพ้แอลกอฮอล์ เราเลยจะขอเปลี่ยนเป็นน้ำอัดลม แต่น้องบอกว่า ไม่ได้ค่ะ ถือไปก่อน เดี๋ยวหนูดื่มให้ เพราะต้องให้เกียรติเจ้าภาพ เราถือไว้ก่อน คัมไปๆกันเรียบร้อย น้องคนนั้นดื่มให้จริงๆ พอดื่มเสร็จ มีคนมาเติมอีก เราห้ามไม่ทัน น้องช่วยดื่มอีก และเราบอกกับคนเติมว่า ขอเปลี่ยนเป็นน้ำอัดลมแทน เพราะน้องต้องดื่มแก้วของตัวเองด้วย เราอดกังวลว่า ทำให้น้องเขาลำบากไม่ได้
“เราอดสงสัยในเหตุการณ์นี้ไม่ได้ว่า สังคมผิด
หรือความเห็นผิดของคนสร้างสังคมมันผิดกันแน่
เพราะสังคมก็มีก่อนขวดเหล้าอยู่แล้ว
และเหล้าเกิดทีหลัง เลยอดแปลกใจไม่ได้ว่า
ใครหนอใคร เป็นคนกะเกณฑ์เรื่องนี้ขึ้นมา
ถ้าไม่ใช่คนเห็นผิดทั้งหลาย”
และนี่เป็นโคลนตมที่นำพาประเทศเราไม่ก้าวหน้าไปสักที เพราะไม่ว่าจะคนที่ทำงานใหญ่โตในประเทศจนคนทำงานที่ดูเล็กสุดในประเทศก็ติดขวดเหล้านี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะคำว่า สังคม มันค้ำคอกันมากโขทีเดียว
-5-
ความจนไม่จริง
หลายสิ่งอยากได้อยากมี
ทำสิ่งนี้เพื่อเเลกเปลี่ยนเงินตรา
เราต้องมีทุกอย่างมากมายหนา
เทียบกับหน้าตาในสังคม
คนอื่นจะเป็นอะไรก็ช่าง
ขอเพียงข้างหน้ามั่งมีศรีสุข
ฉันไม่สนทำคนอื่นให้พบทุกข์
ขอเหยียบทุกคนเพื่อขึ้นสูง
ความจนไม่จริงพูดถึงคนอยู่สองประเภท ได้แก่
๑. คนที่เป็นมหาเศรษฐีทั้งหลายที่ยังคิดไม่รู้จักพอ คิดว่าตัวเองมีน้อยอยู่ตลอดเวลา ฉันยังจนอยู่ ฉันต้องเอาให้มากกว่านี้ เอาจนเงินจะล้มทับตัวตายกันอยู่แล้ว เรียกว่า รวยไม่รู้จักแบ่งปัน จะรับจะเอาอยู่อย่างเดียว
๒. คนที่คิดว่าตัวเองเป็นมหาเศรษฐี แต่ความเป็นจริงนั้นไม่มีเค้าใกล้เคียงเลย และใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ใช้แบบไม่คิด เงินก็ใช้จนหมดไป แล้วจะไปมีเงินเก็บได้อย่างไร นอกจากต้องหาเช้ากินค่ำอยู่เรื่อยไป
คนสองประเภทนี้ต่างกันมากอยู่ คนประเภทแรกต้องประหยัดเพื่อเก็บหอมแต่คนประเภทหลังใช้หน้าไม่ลืมหลัง ซึ่งคนทั้งสองก็เป็นคนจนไม่จริงทั้งคู่ เพราะคนแรกรวยจริง แต่คนหลังคิดว่าตัวไม่จน
"หากบอกว่า สองคนนี้จนใจล่ะ ย่อมเป็นความจริง
เพราะทั้งสองทำตัวให้ดูยากไร้ยิ่งกว่าอะไร"
แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครยากจนหรอก เพราะประเทศเราอุดมสมบูรณ์ แต่มีเพียงแค่คนที่ไม่รู้จักเก็บเท่านั้นล่ะ ที่คิดว่า ตัวเองจนอยู่ร่ำไป เพราะถ้าหากทุกคนกลับไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง รู้จักเก็บ ความจนจะอยู่ที่ไหน เพราะความจนมันไม่มีอยู่จริงแต่แรกอยู่แล้ว
“สหายเอยจงเงยหน้า
และเบิกตาพินิจดู
เผยผ่านพะพานอยู่
กำบังเนตรบ่เห็นไกล
เปิดม่านและมองเถิด
จะเกิดความปราโมทย์ใจ
เห็นแคว้นและแดนไทย
ประเสิรฐแสนดั่งแดนสรวง
หวังใจจะได้สม
เสวยรมยะเเดดวง
เพ็ญอิสสะโรปวง
ประชาเปรมเกษมสานต์
ซื่อตรงและจงรัก
ผดุงศักดิ์มิภูบาล
เพื่อทรงดำรงนาน
อิศเรศร์ประเทศสยาม”
5 เหตุผลที่เลือกอ่านหนังสือเล่มนี้
1. รู้จักให้เกียรติตัวเอง
ชีวิตของคนเราในปัจจุบันนี้ ถ้าเรารู้รักษาและให้เกียรติตัวเองอย่างแท้จริง เราคงไม่พบปัญหาการกระจายอาชีพไม่เท่ากัน ความยากจนและอีกหลายอย่าง และไม่เพียงเท่านั้น เราต้องสนับสนุนคนไทยด้วยกัน
อย่างเช่น สนับสนุนให้คนไทยผลิตวัคซีนสำเร็จ สนับสนุนให้คนไทยส่วนใหญ่ที่ทำอาชีพชาวนาสามารถขายของผ่านตัวเองได้โดยไม่มีพ่อค้าคนกลาง (เราต้องให้ความรู้หรือนำความรู้กลับไปพัฒนา) เป็นต้น และเลิกความคิดไม่เชื่อในคุณภาพของการผลิตของประเทศตัวเอง เรากล้าพูดอย่างเต็มปากว่า ของประเทศเรา อาหารประเทศเราดีกว่าชาติใดในโลกนี้
“หากเราไม่ให้เกียรติตัวเอง
แล้วใครจะเป็นผู้ให้เกียรติ”
2. ความเคารพคนอื่นด้วยสุภาพคือเสียเกียรติ
มีอยู่ตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เมื่อไรที่เราแสดงความสุภาพ โดยการโค้ง พูดจาดีๆ จะกลายเป็นว่า เราหยาบคายและไม่ให้เกียรติ แต่เราต้องกระทำหยาบคายย่อมหมายถึงการให้เกียรติ
เรื่องนี้มีอยู่จริงและประสบกับเพื่อนของเราคนหนึ่ง เพื่อนเราเข้าไปทำงานที่บริษัทหนึ่ง เพื่อนจบมาจากหญิงล้วน การติดนิสัยที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไปมาลาไหว้ มีอยู่ในกมลสันดาน เพื่อนไปมาลาไหว้กับทุกบริษัทแบบนี้ ไม่มีใครว่าอะไร จนบริษัทนี้ หัวหน้าผู้หญิงบอกกับเพื่อนว่า ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ต้องไหว้ ให้พูดแบบเป็นกันเอง และปฏิบัติต่อกันอย่างหยาบคาย คือ การไม่ให้เกียรติกัน เรื่องนี้ทำให้เพื่อนเล่าว่า รู้สึกอดสมเพชเวทนาคนที่มีความคิดแบบนี้ไม่ได้ ว่า ทำไมนะ คนพวกนี้ถึงคิดผิดได้ขนาดนี้
หากพูดถึงเรื่องเท่าเทียม ถ้าเท่าเทียมกันจริงๆ ต้องแบ่งเงินเดือนของเขามาให้เพื่อนเราเพื่อความเท่าเทียมกัน ให้เพื่อนเราลองไปทำงานตำแหน่งเขา เผื่อออกมาดีกว่าคนที่เอาแต่ประชุมและไม่เคยลองจริงอีกด้วย แต่เพราะคนไม่เท่าเทียมกัน หัวหน้าก็ไม่อยากเเบ่งเงินเดือนให้ แล้วอย่างงี้เรียกว่า เท่าเทียมได้ไง และหัวหน้าไม่ยอมเสียตำแหน่งหัวหน้าให้ใคร ดังนั้น แล้วนี้จะเรียกว่า เท่าเทียมกันได้ไง
และอีกนัยหนึ่ง ถ้าหากร้องหาความเท่าเทียมกัน แล้วทำไมถึงไม่สามารถยอมรับการกระทำของเราได้ เพราะการกระทำของเราไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย แถมทำให้ลูกค้าชื่นชอบ แต่ก็เอาแต่พูดว่า เท่าเทียมกัน ไหว้ลูกค้ามันทำไม มันกับเราเท่าเทียมกัน มันกับเราก็คือคนเหมือนกัน ปฏิบัติกับมันอย่างคนทั่วไปนี่ล่ะ นี่ก็ความคิดเห็นผิดอีกประเภทหนึ่ง ลูกค้ากับเพื่อนเราไม่มีทางเท่าเทียมกันเช่นกัน เพราะลูกค้าไม่คิดว่าเพื่อนเราเท่าเทียมกับเขา ลูกค้าที่เห็นใจก็มีแต่ไม่เห็นใจก็ไม่ต่างกัน
“การไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น คือ
การสร้างความไม่เท่าเทียมกันในสังคม”
3. ความไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง
ในเรื่องนี้จะมีแม่ที่นำลูกสาวไปค้ามนุษย์ บังคับแต่งงานและอีกหลายปัญหาที่ยังพบในสังคม และดูไม่มีที่ท่าจะหมดไป
แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมรวมถึง คนที่มีอำนาจทางสังคมใช้อำนาจในทางที่ผิดด้วยเช่นกัน ไม่ว่า จะใช้อำนาจในการหลอกลวง และทำให้เกิดการเข้าใจผิดในวงกว้างอีก รวมถึงกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังสร้างความแตกแยกในวงกว้างทั้งหลาย เรื่องราวเหล่านี้คือ การไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง เพราะคนพวกนี้มักลอยตัวอยู่ในปัญหาทุกเรื่อง
“สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่รับผิดชอบ
ต่อการกระทำของตัวเองทั้งนั้น”
4. รากฐานไม่มั่นคง
หากบ้านของเรายังมีพื้นฐานที่ไม่มั่นคงในการสร้างรากฐานนี้ สุดท้ายมันจะพังคลืน ไม่ต่างจากชาติ ที่หากคนในชาติไม่ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมพลังกัน สุดท้าย ชาติไทยก็จะพังลงเช่นกัน
“ความสามัคคี คือ พลังอันยิ่งใหญ่”
5. ความมั่นใจในตัวเอง
หากเมื่อเรามีหิริโอตัปปะแล้ว เราต้องมีความมั่นใจในตัวเองว่า เราได้ทำดีที่สุดแล้ว เราได้สร้างคุณงามความดีทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นแล้ว ดังนั้น เราควรภาคภูมิใจในตัวเอง
“ความมั่นใจในสิ่งที่เราทำ ถึงไม่มีคนเห็นและพูดถึง
แต่เราสามารถพูดถึงได้ตลอดเวลา”
เราเรียนรู้การจัดการความไม่เป็นตัวเองหลายอย่างจากหนังสือเล่มนี้ และทำให้เรามั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น จนเป็นการยอมรับและเข้าใจตัวเอง ไม่เพียงเท่านั้น เราไม่นำพาตัวเองไปในทางที่ผิดด้วย
“เมื่อใจมีหิริคือความละอายต่อบาป
และโอตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาป
เมื่อมีสองสิ่งนี้ครบถ้วน ความชั่วไม่หยั่งเข้าสู่จิตใจ”
ความละอายต่อบาปนั้นดีอยู่
ความรู้ว่านี้ชั่วเป็นหนักหนา
ความเกรงกลัวต่อบาปทุกเวลา
ได้นำพาเราเป็นคนดีเอย
คนดีไม่ต้องให้ใครมาชม
เปรียบดั่งลมพัดไม่ต้องบอก
เพราะคนดีส่งกลิ่นหอมตลอด
คนอื่นชอบก็ชื่นชมให้ฟัง
“ขอบคุณสำหรับการอ่านเรื่องเล่านี้จนจบค่ะ เรามาใช้เวลาทบทวนตัวเองกันเถิดค่ะ”
Look a Breathe
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in