“ใครชอบ ใครชัง ช่างเถิด
ใครชู ใครเชิด ช่างเขา
ใครเบื่อ ใครบ่น ทนเอา
ใจเรา ร่มเย็น เป็นพอ”
- พุทธทาสภิกขุ -
-1-
กลอนนี้สามารถอธิบายหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะทุกวันนี้ เราอยู่ในสังคมนี้ เราต้องเจอคนแบบนี้อย่างหลากหลาย บางคนก็ชมเราชมจนขึ้นสวรรค์เลยทีเดียว แต่บางคนก็บ่นและด่าเราอย่างกับเราเกิดมาหายใจเพื่ออะไร แต่ในไม่ช้าสิ่งเหล่านี้ มันจะผ่านไป ไม่ว่า คนชมหรือคนชัง ทุกอย่างก็จะผ่านไป
-2-
ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ คนอื่น ด่าเราต่อหน้าคนอื่น และเรารู้สึกโกรธ จนถึงวันพรุ่งนี้เรายังโกรธอยู่ แต่วันพรุ่งนี้ คนนั้นกลับชื่นชมเราต่อหน้าคนอื่นว่า ทำดีมาก พอเราได้ยินคำชม เราก็รู้สึกดี
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเห็นว่า ทั้งชม ทั้งด่านั้น มันก็ผ่านไปด้วยกันทั้งคู่ ถ้าเราเอาอารมณ์ทั้งสองมาอยู่กับใจตลอด เราก็ทุกข์ (ทุกอย่างย่อมไม่แน่นอน) เพราะเมื่อวันไหนที่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่พอใจเราก็ทุกข์ วันไหนเปลี่ยนไปในทางที่พอใจ เราก็สุข อยู่แค่นั้นเอง
-3-
สิ่งเหล่านี้คือ โลกธรรม 8 ธรรมข้อนี้คือธรรมคู่ที่ประกอบด้วยกันสี่คู่หลักๆ ได้แก่ ได้ลาภคู่กับเสื่อมลาภ ได้ยศคู่กับเสื่อมยศ สรรเสริญคู่กับนินทา และ สุขคู่กับทุกข์
-4-
โลกธรรมเหล่านี้ ทุกคนต้องเคยประสบกันทุกคนแน่นอน ไม่มีใครสามารถหนีพ้นได้ ดังนั้น การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เราควรเรียนรู้ รู้จักตัวเอง หมั่นฝึกฝนใจให้รู้เท่าทันสิ่งนี้ ให้เรียนรู้ รู้จักปรับปรุงแก้ไขตัวเอง และไม่หลงกลไปยังสิ่งที่มัวเมาเหล่านี้
-5-
เปรียบดั่งคำสอนของหลวงพ่อลี คนที่จิตยังไม่สูงเต็มที่ เมื่อใครเขาด่าว่าอะไรก็มักเก็บไปคิด คนเราโดยมากสำคัญตนว่าเป็นคนฉลาด แต่ชอบกลืนกินอารมณ์ที่ชั่ว อารมณ์ชั่วเปรียบเหมือนกับเศษอาหารที่เขาคายออกแล้ว ถ้าเป็นคนอดอยากยากจนจริงๆ จำเป็นจะต้องขอเขากินก็ควรกลืนกินแต่อารมณ์ที่ดีเปรียบเหมือนอาหารที่ไม่เป็นเศษของใคร
-6-
คำสอนนี้ย่อมหมายความว่า คนเราชอบรับฟังแต่สิ่งที่ไม่ดี นำแต่เรื่องไม่ดีเข้ามาในจิตใจของเรา ที่เราทุกข์ทุกวันนี้ เพราะความคิดไม่ดีของเราทั้งนั้น ไม่ว่า ใครทำอะไรเรา ใครทำร้ายเรา พูดร้ายเรา เราเอามาคิดจนไม่เป็นอันกินอันนอน และสุดท้าย มันก็กัดกร่อนความเป็นคนของเราจนหมดสิ้น
- 7-
ขอจบตรงมองโลกในแง่ดีเถิด การมองโลกในแง่ดีมันลำบากมาก ถ้าพูดกันจริงๆ เพราะทุกคนมีอคติประจำใจอยู่แล้ว ดังนั้น การที่จะเราจะมองในแง่ดีกับคนอื่น มันก็ย่อมลำบากอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ใจฝึกฝนมาดีแล้ว รู้เท่าทันใจตัวเอง เข้าใจตัวเองและผู้อื่น การมองโลกในแง่ดีย่อมไม่ใช่เรื่องยากเลย
“เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเอย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง”
- พุทธทาสภิกขุ -
5 เหตุผลที่เลือกอ่านหนังสือเล่มนี้
1. อย่าเป็นคนดีแต่พูด
"อย่าคบคนดีแต่ปาก
พูดหวานมากโดยใช้วาจานี้
แต่เมื่อถึงคราวขับขันพาที
กลับไม่มีการช่วยเหลือประการใด
หากแม้นร้องขอให้ช่วยกัน
คนเหล่านั้นมองเรานั้นแปลกหน้า
เราร้องขอให้ช่วยในชีวา
อย่าได้หาการช่วยจากคนใจแคบ"
“คนเหล่านี้เปรียบเหมือนคนปากหวาน ก้นเปรี้ยว
พูดเอาดีเข้าตัว เอาชั่วเข้าคนอื่น
เราฟังคำพูดจากคนเหล่านี้
เวลาได้ยินถ้อยคำที่ไพเราะก็อดจะเคลิบเคลิ้มไม่ได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว
คนเหล่านี้เป็นคนใจแคบ
และไม่มีความจริงใจให้กับใคร
หากพบเจอก็ควรหลีกหนีเสีย
เพราะไม่งั้นคงนำพาความวิบัติมาให้
ดังเช่น ข่าวที่ถูกหลอกให้แต่งงาน
และเอาเงินไปจากเขาจนสิ้นเนื้อประดาตัว
ก็มีให้เห็นทุกวันนี้”
2. ความสมปรารถนา
"คิดสิ่งใดให้ได้สมปรารถนา
หาได้มาซึ่งความเพียรนั้นมีไม่
เมื่อใจหมดอดทนแล้วไซร้
สมปรารถนาได้นั้นคงหาไม่มี
หากแม้นขี้เกียจไปวันๆ
จะมาหวังว่าได้สิ่งใดนั้น
คงเป็นไปไม่ได้ในทุกวัน
สิ่งๆนั้นไม่มีวันจะเป็นจริง"
“คนเราทุกคนอยากสมปรารถนากันทั้งนั้น
แต่ถ้าหากเราไม่ทำอะไรเลย
ขี้เกียจไปวันๆ และหวังว่าจะรวย จะมีการงานดี
แต่ไม่ทำอะไร มันก็ย่อมเป็นไปไม่ได้
เพราะการปลูกต้นไม้แบบใด
ย่อมได้รับผลของต้นไม้นั้น”
3. คิดแบบเหตุผล
"ความคิดนั้นนำสุขมาให้
หากคิดไม่ดีนั้นเป็นผล
นำความทุกข์มาให้สู่ตน
จิตใจคณนาทุกข์สาหัสเอย
เมื่อไรคิดดีมีเหตุและผล
เมื่อนั้นตนไม่ทุกข์เสมอศรี
เมื่อใดใจคิดผิดดั่งทวี
ทุกข์ตนมีกายใจเสมอไป"
“ความคิดมีเหตุผล คือ การคิดแบบรู้ผิดชอบชั่วดี
และรู้จักแก้ไข ปรับปรุงข้อผิดพลาดของตัวเอง
เพื่อให้เราเรียนรู้การใช้ชีวิตที่ถูกต้อง
และรู้จักคุณค่าของตัวเองอย่างแท้จริง”
4. การคิด พูด และทำ
โคลงโลกนิติ
โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา
ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น
โทษตนเท่าภูผา หนักยิ่ง
ป้องปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้ายหายสูญ
“อย่าเสียเวลาจับผิดคนอื่น
เพียงเพื่อความสะใจของตนเอง
เพราะไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น
แต่ควรเฝ้าตรวจตราจับผิดตัวเอง
เพื่อจะได้แก้ไขและปรับปรุง พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
แทนที่จะกลบเกลื่อนความชั่วของตน
ด้วยการโพนทนานินทาคนอื่น”
- ระวี ภาวิไล -
5. อยู่กับปัจจุบัน
"อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วไซร้
อนาคตไกลห่างไปไม่ถึงนั้น
ปัจจุบันต่างหากที่เป็นวัน
ของจริงนั้นอยู่ไม่เสื่อมคลาย
ความเป็นจริงอยู่กับปัจจุบัน
ผลนั้นดีไม่ดีเป็นสิ่งสรรค์
สร้างให้เราเป็นคนดั่งทุกวัน
ด้วยว่านั้นตามปัจจุบันทันด่วนเอย"
“อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
เราไม่สามารถย้อนอดีตกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดได้
เราทำได้ เพียงแค่เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น
และไม่ทำให้มันเกิดขึ้นซ้ำอีกในปัจจุบัน
เพราะเมื่อเราทำปัจจุบันให้ดี
ผลในอนาคตนั้นย่อมเป็นผลดี
ที่เกิดจากปัจจุบันนี้ด้วยเช่นกัน”
เราเรียนรู้ความเป็นตัวเราเอง แก้ไขอารมณ์ตัวเอง และพยายามปรับปรุงข้อผิดพลาดในอดีตจากหนังสือเล่มนี้ เพราะหนังสือเล่มนี้สอนถึงคุณค่าของชีวิตอย่างแท้จริง
“เหตุเป็นเช่นใด ผลย่อมเป็นเช่นนั้น”
"อารมณ์ไม่ดีนั้นเป็นทุกข์
อารมณ์สุขนั้นสิ่งดีไหม
อารมณ์ทุกข์สกปรกกับใจ
สุขหาใดสะอาดใจเหมาะกัน
ควรสอนคนมองโลกในแง่ดี
จะได้มีความสุขนั้นสุขสันต์
เเม่น้ำไหลบรรจบมาหากัน
ไม่เว้นวันเรียนรู้สุขกายใจ"
“ขอบคุณสำหรับการอ่านเรื่องเล่าจากหนังสือคุณค่าชีวิตนี้ด้วยกันค่ะ อย่างไรเสีย เรามาพร้อมใจ ช่วยกันปรับปรุงตัวเองไปด้วยกันค่ะ”
Look a Breathe
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in