เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
REVIEWกีอัลลาร์
【documentary】whose vote counts, explained
  • whose vote counts, explained


    สารคดีสั้นๆ 3 ตอนว่าด้วยปัญหาของระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ความยาวตอนละไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ถึงบริบทจะเป็นอเมริกาที่ระบบการเลือกตั้งต่างจากไทยพอสมควร แต่ก็มีหลายประเด็นที่เราเรียนรู้ได้จากสารคดีเรื่องนี้


    the right to vote

    ตอนแรกสุดพูดเรื่องเบสิคสุดคือสิทธิในการเลือกตั้ง หลักประชาธิปไตยบอกว่าคนทุกคนเกิดมามีสิทธิเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นก็ควรจะมีสิทธิเลือกผู้แทนเท่าๆ กัน แต่ความจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะระบบการให้สิทธิ/ตัดสิทธิของบางรัฐก็ชวนให้สงสัยว่าให้สิทธิยากขนาดนี้หรือตัดสิทธิง่ายขนาดนี้เพื่อขัดขวางการเลือกตั้งของประชาชนรึเปล่า?

    เช่น บางรัฐก็มีกฎว่าต้องไปลงทะเบียนก่อนการเลือกตั้งถึงจะได้สิทธิ (เพิ่มความยุ่งยากในการไปเลือกตั้งขึ้นมาหนึ่งขั้นตอน) หรือบางรัฐตัดสิทธิอาชญากรไม่ให้เลือกตั้ง การจะคืนสิทธิให้เขาก็เป็นกระบวนการที่ยากเย็นและต้องมีเงิน และปัญหาของอเมริกาคือคนบางกลุ่มอย่างคนผิวสีมีโอกาสถูกจับติดคุกมากกว่าคนผิวขาว (ด้วยสถานะทางสังคมและ bias ต่างๆ) ระบบนี้เลยเหมือนเป็นการ exclude ประชาชนบางกลุ่มออกไปด้วย bias แบบกลายๆ

    สรุปคือถึงแม้หลักการจะมีอยู่ว่าทุกคนมีสิทธิเท่ากัน แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีอะไรบางอย่างมาขัดขวางการใช้สิทธิของคนบางกลุ่ม ทำให้การใช้สิทธิยุ่งยากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันต่อไป


    can you buy an election?

    ตอนต่อมาพูดถึงประเด็นการใช้เงินในแคมเปญหาเสียง เนื่องจากการลงเลือกตั้งเป็นกิจกรรมที่ใช้เงินเยอะ และกฎหมายอเมริกาก็ไม่ได้กำหนดเพดานการใช้เงินหรือการบริจาคเงินมากนัก (มีความพยายามเสนอแก้กฎหมายข้อนี้หลายครั้งแต่ไม่ผ่าน) กลายเป็นคำถามว่าอย่างนี้คนมีเงินเยอะๆ หรือมีแบคอัพที่ดีกว่าก็มีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากกว่าน่ะสิ? ซึ่งในแง่หนึ่งก็อาจจะจริง เพราะสส.ในสภาเกินครึ่งเป็นคนมีเงิน และยังมีนักการเมืองมากมายที่สอบตกเพราะถูกคู่แข่งใส่ร้าย (แน่นอนว่าใช้เงิน)

    กฎหมายอเมริกาไม่ได้ห้ามคนมีเงินบริจาคเงินทางอ้อมให้นักการเมืองเพราะถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ไม่ควรถูกปิดกั้น แต่ถ้านักการเมืองคนนั้นได้รับเลือกจากเงินที่ได้รับมา เวลาจะตัดสินใจทางการเมืองก็หนีไม่พ้นต้องเกรงใจผู้บริจาคอยู่ดี แล้วนักการเมืองแบบนี้จะทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ มั้ยน้า ติ๊กต่อกๆ

    แน่นอนว่าอเมริกาก็มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้ เช่นในการเลือกตั้งท้องถิ่นบางที่ก็มีกำหนดเพดานเงินอุดหนุนการหาเสียงว่าถ้าใช้ไม่เกินเท่านี้ๆ รัฐจะอุดหนุนให้ทั้งหมด ถ้าต้องการใช้มากกว่านั้นต้องออกเงินเอง ระบบนี้ค่อนข้างได้ผลดีในการเลือกตั้งที่ไม่ดุเดือดมากนัก แต่ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ในสารคดีก็บอกว่ายังไงการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิการแสดงออกทางการเมืองด้วยการบริจาคเงินให้นักการเมือง

    สรุปจบที่ว่าบางครั้งคนมีเงินก็แพ้เช่นกรณีของไมเคิล บลูมเบิร์ก และที่สำคัญที่สุดคือถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ไขว้เขวไปกับการชักจูงด้วยแคมเปญต่างๆ เงินก็ซื้อผลการเลือกตั้งไม่ได้


    whose vote counts

    ตอนสุดท้ายว่าด้วย tactics เพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวนสส.ในสภามากกว่าที่ควรเป็น หรือแม้กระทั่งการได้ประธานาธิบดีที่แพ้ popular vote

    ตัวอย่างที่ยกมาก็เช่นการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบจีเนียสๆ สมมุติว่ารัฐหนึ่งมี 9 เขตเลือกตั้ง (สุ่มเลขมา จำเลขในสารคดีไม่ได้ 5555) มีจำนวนประชากร democrats มากกว่า republicans นิดหน่อย ถ้าแบ่งเขตแบบสุ่มก็ควรจะได้จำนวนสส.ที่ประมาณ 5-4 แต่สมมุติคนแบ่งเขตเป็น republicans แล้วไปสืบมาว่าบริเวณไหนมีคนสนับสนุนพรรคไหนเยอะ ก็แค่แบ่งเขตให้ democrats ไปกระจุกๆ กันอยู่สัก 3 เขตให้ democrats ชนะขาดลอย ส่วนอีก 6 เขตที่เหลือ republicans จะชนะแบบฉิวเฉียด จำนวนสส.จะกลายเป็น 3-6 ทันทีทั้งที่จำนวน democrats ในพื้นที่นั้นมีมากกว่า

    นอกจากนี้ยังมีเรื่องระบบการโหวตประธานาธิบดี การได้มาซึ่งสว.ของแต่ละรัฐ ฯลฯ ซึ่งเป็นระบบที่คิดค้นขึ้นในศตวรรษที่ 18 ตอนอเมริกาประกาศเอกราช ทำให้หลายๆ อย่างมันไม่ practical สำหรับยุคนี้ที่สภาพแวดล้อมต่างๆ มันเปลี่ยนไปมาก การคงระบบเดิมทำให้เสียงของประชาชนบางส่วนดูมีอำนาจมากกว่าอีกส่วน และปัญหาที่อเมริกาเผชิญอยู่ทุกวันนี้คือผู้แทนที่ได้มาจาก tactics ในการเลือกตั้งจนอาจไม่ได้ represent เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจริงๆ


    สรุป

    ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสารคดี เพราะเราเองก็จำเนื้อหาได้ไม่หมด แต่ละตอนไม่ยาวมากก็จริงแต่เนื้อหาอัดแน่นและอธิบายเข้าใจง่ายเหมือนซีรี่ส์ explained อื่นๆ อยากแนะนำให้ทุกคนได้ดู

    ส่งท้ายด้วยประโยคที่กินใจมากๆ จากสารคดีเรื่องนี้ที่ใช้กับบ้านเมืองเราได้เหมือนกัน


    "ถ้าคะแนนเสียงของคุณไม่สำคัญ
    แล้วทำไมผู้คนและระบบมากมายถึงดิ้นรนหาทางขัดขวางไม่ให้คุณไปใช้สิทธิ์ล่ะ"


    นั่นสิ ทำไมการเลือกตั้งที่ผ่านมาของเราถึงได้มีการแบ่งเขตแบบไม่เมคเซนส์ ทำไมบางเขตต่อคิวยาวจนจะหมดเวลาเลือกตั้ง ทำไมมีการนับคะแนนเสียงแบบพิลึกพิลั่นที่บางคะแนนเสียงดู matter กว่าบางคะแนนเสียง แถมยังมีบัตรเสียบัตรเขย่งบัตรโดนตัดสิทธิ์มากมาย ทำไมกันน้า ฝากไว้ให้คิดส์
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in